อสังหาฯ สู้ตลาดซบ รุก "สนามรบใหม่"

อสังหาฯ สู้ตลาดซบ รุก "สนามรบใหม่"

ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ แห่ปรับยุทธศาสตร์ดันฐานะอีกระลอก หลังอัตราขยายตัวธุรกิจอสังหาฯ ส่อแววไม่เห็นตัวเลข“สองหลัก”เหมือนเคย ดาหน้าพลิกเกม สู่ “สนามรบใหม่”กระจายเสี่ยง

เมื่อความหวังของผู้ประกอบการเอกชนที่จะกลับมาเห็นตัวเลขการเติบโตของ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่อแววล่าช้ากว่าที่คิดไว้ เห็นจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ชัดเจน สะท้อนผ่านตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ" (จีดีพี) ที่ยังมีอัตราขยายตัวใน ระดับต่ำ จากในอดีต โดยปี 2559 อยู่ที่ 3.2% และคาดตัวเลขจีดีพีจะอยู่ในระดับ 3.2% ต่อเนื่องอีก 2 ปี (2560-2561)

สอดคล้องกับ จิราภรณ์ ลิมมณีโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด คาดว่า คงยังไม่เห็นภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ในประเทศไทยขยายตัวเป็น ตัวเลขสองหลัก ในระยะอันใกล้ แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นสัญญาณความชัดเจนจากการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐ มูลค่าหลายแสนล้านบาท ขณะที่ภาคการส่งออกไทย ซึ่งเป็นรายได้หลักเกือบ 70% ของจีดีพี ทำท่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องรอเวลาฟื้นตัว 

ดังนั้นจีดีพีไทยจึงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของหลากธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าตลาดรวมในกรุงเทพฯและปริมณฑล มากถึง 3-4 แสนล้านบาท เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย 

สะท้อนผ่านตัวเลขของผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ในช่วงปี 2558 กำไรสุทธิลดลง แม้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2559 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH มีกำไรสุทธิ 7,920 ล้านบาท และ 8,617 ล้านบาท , บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GOLD มีกำไรสุทธิ 661 ล้านบาท และ 1,046 ล้านบาท

บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN มีกำไรสุทธิ 1,206 ล้านบาท และ 1,501 ล้านบาท , บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP มีกำไรสุทธิ 2,623 ล้านบาท และ 2,702 ล้านบาท และ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค หรือ PF มีกำไรสุทธิ 360 ล้านบาท และ 399 ล้านบาท 

เมื่อสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ไม่เป็นอย่างที่คิด ประกอบกับนักพัฒนาอสังหาฯเผชิญกับภาวะการแข่งขันสูง ราคาที่ดินปรับตัวขึ้น หนำซ้ำยังหาที่ดินแปลงงามยากขึ้นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และนโยบายในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงมีความเข้มงวด ส่งผลให้สัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัย (Rejection Rate) อยู่ในอัตราสูง ราคาสินค้าทางการเกษตรยังอ่อนไหว 

ขณะเดียวกันยังมีผู้เล่นทุนหนา โดดสู่สังเวียนอสังหาฯ นำที่ดินต้นทุนเดิมมาพัฒนา ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว อาทิ กลุ่มไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น (ทีซีซีกรุ๊ป)ของเจ้าสัวเบียร์ช้าง “เจริญ สิริวัฒนภักดี” , ตระกูลภิรมย์ภักดี เจ้าของเบียร์สิงห์ ที่รุกหนักธุรกิจอสังหาฯผ่านบมจ.สิงห์ เอสเตท,ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผ่านบมจ.ซีพี แลนด์ และแมกโนเลียควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น 

ฉะนั้น ในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นผู้ประกอบการอสังหาฯรายใหญ่ที่ครองสังเวียนอยู่เดิมหลายรายเริ่มหนาวๆร้อนๆ โดยการปรับพอร์ตรายได้ธุรกิจ (Diversify) โดยการหา ธุรกิจใหม่” (New Business) เข้ามาเสริมเพื่อสร้างพอร์ต รายได้ประจำ หรือ Recurring Income กระจายความเสี่ยงของธุรกิจอสังหาฯที่เผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง 

การปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ของผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มเห็นสัญญาณ 2-3 ปีมาแล้ว แต่ในปี 2560 มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น บมจ.แลนด์ แอนด์เฮ้าส์  ของเสี่ยตึ๋ง อนันต์ อัศวโภคิน รุกสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาให้เช่า อย่าง อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี อพาร์ตเมนต์ให้เช่า ห้างแฟชั่น ไอส์แลนด์ จนกระทั่งพัฒนาศูนย์การค้าและโรงแรมอย่างจริงจัง ผ่านแบรนด์เทอร์มินัล 21

บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ธุรกิจของตระกูลหญิงแกร่ง ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาค รุกสู่ธุรกิจพัฒนาออฟฟิศสำนักงานให้เช่า ก่อนหน้านี้ บริษัทเคยทำธุรกิจ Recurring Income ไม่ว่าจะเป็นสนามกอล์ฟที่พัทยา คอมมูนิตี้มอลล์ “SENA FEST” ธุรกิจอพาร์ตเมนต์ รวมถึงโกดังให้เช่า และยังต่อยอดไปสู่ ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยจับมือพันธมิตรทางธุรกิจ Solar Farm และ Solar Rooftop

กลุ่มบมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง ของเศรษฐีหุ้น ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทแตกไลน์ลงทุน ธุรกิจโรงพยาบาล เพิ่มเติมรายได้ประจำเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าพอร์ตอสังหาฯ ให้เช่ามีสัดส่วนตั้งแต่ 5-15% ของเป้าหมายรายได้ 1 แสนล้านบาท ที่ขยับเป้าทำให้ได้ภายในปี 2563

บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค  ของนักพัฒนาอสังหาฯรุ่นลายคราม ชายนิด อรรถญาณสกุล ที่ควบรวมกิจการกับกลุ่มแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ในปีที่แล้ว ไม่นานนักได้ลงทุนธุรกิจโรงแรมมากขึ้น รวมกับธุรกิจรีเทลและบริการอื่นๆ ตั้งเป้าให้มีสัดส่วนรายได้ประจำต่อเนื่องเพิ่มจาก 10% หรือ 2,000 ล้านบาท เป็น 30%

ด้าน บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ของซีอีโอหนุ่ม โก้ ชานนท์ เรืองกฤตยา ตั้งเป้ารายได้ประจำจากค่าเช่าและอื่น ๆ ของบริษัทภายในปี 2563 มีสัดส่วน 5-10% ของรายได้รวม หลังโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่บริษัทเช่าที่ดินบนถนนรัชดาภิเษก จำนวน 450 ห้องพัก มูลค่าลงทุน 1.35 พันล้านบาท เเปิดให้บริการ

สอดคล้องกับ ศรัณย์ คุณะกูล ผู้จัดการอาวุธโส Research & Consultancy บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปี ตลาดคอนโดมิเนียมในเมืองไทย บูมมาก โดยเฉพาะในตลาดระดับกลาง-ล่าง ซึ่งช่วงนั้นได้รับอานิสงส์จากการลงทุนส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะเห็นผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-เล็ก เร่งเปิดตัวโครงการและขายหมดภายในไม่กี่วัน ทำให้ ซัพพลาย ในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่งผลให้เกิดซัพพลายและดีมานด์เกิดความไม่สมดุลกัน ประกอบกับเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ความสามารถในการซื้ออสังหาฯ ของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะในตลาดระดับล่าง ประกอบกับภาพรวมตลาดอสังหาฯ มีการแข่งขันกันรุนแรง

ฉะนั้น หากสังเกตเห็น 2-3 ปีก่อน ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดเริ่มปรับกลยุทธ์ธุรกิจด้วยการไปลงทุนในตลาดอสังหาฯระดับบน (Hi-End) ซึ่งเป็นตลาดที่มีซัพพลายค่อนข้างน้อย และเริ่ม Diversify เงินลงทุนออกไปในธุรกิจใหม่ เช่น โรงพยาบาล ,อพาร์ตเมนต์ ,พลังงานทดแทน ,สำนักงานให่เช่า เป็นต้น

ปัจจุบันเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น ว่าจะนำเงินที่มีในระบบทั้งหมดมาซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาอสังหาฯ ยิ่งเฉพาะคอนโดมิเนียมคงจะลำบาก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บล.ภัทร บอกว่า แม้ภาพรวมอสังหาฯ ในปี 2560 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัว โดยมี ปัจจัยบวก มาจาก การส่งออก-การท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ ที่ยังคงเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย

แต่อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมี ปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนในประเทศของภาคเอกชน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการค้าของสหรัฐ

อสังหาฯ ถือเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ฉะนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยในระยะสั้นปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สภาพเศรษฐกิจโดยรวม หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และนโยบายในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ยังคงมีความเข้มงวดอยู่ ส่วนรายได้ภาคเกษตรเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ปรับตัวขึ้น เช่น ยางพารา แต่ราคาสินค้าเกษตรบางประเภทยังคงอ่อนไหวตามราคาตลาดโลก

สำหรับ ธุรกิจอสังหาฯ ใน ระยะกลาง-ยาว นั้น ยังมีปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลต่ออสังหาฯ นั่นคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายต่างๆ รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในต่างจังหวัด

การเกิดขึ้นของสังคมเมืองที่ใหญ่ขึ้น” (Urbanization) ส่งผลให้ประชากรมีรายได้สูงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้จ่ายของประชากร ซึ่งที่อยู่อาศัยอาจจะได้รับปัจจัยหนุนดังกล่าว

การเชื่อมโยงของหัวเมืองต่างๆ ในการเป็นจุดเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค และ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” จำนวนเด็กและคนวัยทำงานกำลังจะลดลง ในขณะที่ผู้สูงอายุกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้ลักษณะ การใช้จ่ายเปลี่ยนไป เช่น มีความต้องการที่อยู่อาศัยที่สนับสนุนให้สามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการเริ่มหันมาทำตลาดที่มีรูปแบบโครงการเฉพาะด้านมากขึ้น

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2555-2556 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เรียกว่า บูมมาก โดยมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีขึ้นไป โดยเฉพาะในตลาด คอนโดมิเนียม เพราะเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-กลาง-เล็ก เปิดตัวโครงการคอนโดขายไม่กี่วันเกลี้ยง เป็นช่วงที่รับอานิสงส์ตามความต้องการที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้า

ทว่า ในปี 2557 ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์เริ่มส่งสัญญาณหดตัว จากตัวเลขที่อยู่อาศัยที่โอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปรับลดลงเรื่อยมา เห็นจากตัวเลขการเติบโตต่ำกว่า 10% เป็นต้นมา และในปี 2558 ตลาด ติดลบ ปี 2559 ตลาดบวกขึ้นมา 1-2% จากอานิสงส์นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯ ของภาครัฐ ส่วนในปี 2560 ต้องรอดูสถานการณ์ตัวเลขจีดีพีของประเทศก่อน หากจีดีพีประเทศไทยขยายตัวไม่มาก ตลาดอสังหาฯก็ยังไม่เติบโต

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KK บอกว่า ในปี 2560 ภาคอสังหาฯ ไทยยังเผชิญความท้าทาย 4 ประการ นั่นคือ 1. ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น 2. ต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างที่เริ่มมีทิศทางเพิ่มขึ้น 3. ราคาที่ดินยังคงอยู่สูงต่อเนื่อง และ 4. ราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มเพิ่มขึ้นอาจทำให้แรงงานภาคก่อสร้างย้ายกลับไปภาคเกษตรมากขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้าง

ฉะนั้น ก่อนเปิดโครงการผู้ประกอบการควรพิจารณาก่อน คือ 1.ผู้ประกอบการควรทำการวิเคราะห์วิจัยดีมานด์และซัพพลายในพื้นที่ที่จะทำโครงการเพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม 2. ผู้ประกอบการควรทำการวางแผนบริหารจัดการเงินสด (Cashflow Management) เพื่อรักษาสภาพคล่อง 3.จับกระแสโครงการภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟรางคู่ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 4.จับกระแสเทคโนโลยี 4.0 เช่น การใช้เทคโนโลยี Smart Phone ในการสั่งงานต่าง ๆ ภายในบ้านและใช้บริการในโครงการ และสุดท้าย จับกระแสสังคมสูงวัย กระแสรักสุขภาพ รวมถึงสังคมเมือง เช่น การจัดทำ Co-Living Space การสร้างความร่วมมือกับสถานพยาบาล เพื่อสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้รวดเร็ว เป็นต้น

-----------------------

รายใหญ่เหนื่อย-รายเล็กหนัก

จิราภรณ์ ลินมณีโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร บอกว่า แนวโน้มยอดขายอสังหาฯ จะเติบโต 6-8% มาจากการเปิดตัวโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด 2 ราย คือ “แลนด์แอนด์เฮ้าส์” และ “แสนสิริ” ที่วางแผนการเปิดตัวโครงการน้อยลงในปีนี้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กอาจพบอุปสรรคในการหาเงินทุน เนื่องจากสภาวะความไม่มั่นใจในสภาพเครดิตของแบงก์

ขณะที่สต็อกคอนโดมิเนียมในช่วงต้นปีนี้มีอยู่ 4.3 หมื่นหน่วย คาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ 3.9 หมื่นหน่วย แม้ว่าจะยังไม่ล้นตลาด แต่ต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการระบาย ขณะที่คอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ยังน่าห่วงเพราะว่าการปฏิเสธสินเชื่อยังอยู่ในระดับสูง

โดยตลาดรวมจะโตที่ 5% แต่ขึ้นอยู่กับการเติบโตของจีดีพีและปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดในอัตราที่สูงอยู่เช่นเดิม จากตัวเลขการขายและการเปิดตัวโครงการ

ปัจจุบันสต็อกสินค้าเหลือขาย ระดับราคา 1-2 ล้านบาท 33% ,ระดับราคา 2-3 ล้านบาท 22%, ระดับราคา 3-5 ล้านบาท 16%, ระดับราคา 5-10 ล้านบาท 8% และระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป 5%

ทั้งนี้ยังไม่เห็นสภาพการล้นตลาดอย่างชัดเจน และโครงการส่วนใหญ่ยังมีอายุโครงการไม่เกิน 4 ปี ซึ่งถือเป็นอายุโครงการตามปกติ แต่อย่างไรก็ตามสินค้าคงเหลือของคอนโดมิเนียมมีอัตราเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะตลาดคอนโดที่มีมูลค่าต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทางผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ในการขายมาช่วยระบายสินค้า ซึ่งมองว่า ทำเล และความสามารถในการกู้เงินของผู้ซื้อเป็นตัวแปรที่สำคัญในการลดสินค้าคงเหลือของคอนโดมิเนียม

แม้ตลาดระดับล่างจะยังมีความต้องการของตลาด แต่ก็เผชิญปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อของธนาคารยังเพิ่มสูง 40-50% ทั้งนี้เพราะขีดความสามารถในการชำระเงินของลูกค้าลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และอีกปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการก็คือ การมีสต๊อกสินค้าในมือจำนวนมาก

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KK กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพและปริมณฑลในปีนี้ยังคงปรับฐานต่อเนื่องจากปี 2559 หลังมาตรการกระตุ้นของภาครัฐหมดอายุลง แม้ว่าในปีนี้ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์จะยังคงชะลอตัว แต่ยังมีบางตลาดที่สามารถเติบโตได้ เช่น ตลาดบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดโดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ ผู้ประกอบการจึงควรหันไปเน้นตลาดบ้านเดี่ยวกลุ่มลูกค้าระดับกลางและบนเนื่องจากยังมีกำลังซื้อ

-------------------------

วิเคราะห์บิ๊กดาต้า รับไทยแลนด์ 4.0

กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.สัมมากร หรือ SAMCO และอดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บอกว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีค่อนข้างรวดเร็ว ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุค ไทยแลนด์ 4.0” 

ในด้านของผู้ประกอบการเอกชนก็มีผลกระทบค่อนข้างมาก โดยในแง่ของผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ นั้น บริษัทปรับตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในด้านของการทำการตลาด ในส่วนของการทำโปรดักท์บริษัทต้องมีการทำเก็บข้อมูลของลูกค้าและลักษณะของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้การทำการตลาดตรงกลุ่มเป้าหมายลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่าภายในไม่ช้า ผู้ประกอบการอสังหาฯ คงจะไม่ใช้ป้ายโฆษณาแล้ว เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ,สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งในประเทศเหล่านั้นมองไปทางไหนเห็นป้ายโฆษณาน้อยมาก ไม่เหมือนในเมืองไทยที่ป้ายโฆษณาเยอะมาก

แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอนาคตจำนวนป้ายโฆษณาจะลดจำนวนลง ซึ่งพิสูจน์เห็นจากผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายรายเปิดตัวโครงการใหม่ผ่านช่องทาง “ดิจิทัล” และยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเดิมรวมทั้งตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วย

เราเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง การทำการตลาดแต่ละครั้งต้องเก็บข้อมูล การทำโปรดักท์ให้ตรงกลุ่ม เลือกช่องทางสื่อสารของโปรดักท์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน  

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน บอกว่า ในปัจจุบันนั้นภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศไทยผันผวนมาก ซึ่งการดำเนินธุรกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องปรับตัวโดยอาศัยเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารเป็นตัวนำ ซึ่งองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและมีความยืดหยุ่นจะมีจะมีทางรอดมากกว่า