‘ไอเอสเอสพี’ ลุยชิงตลาด ‘คลาวด์’

‘ไอเอสเอสพี’ ลุยชิงตลาด ‘คลาวด์’

ปรับทัพธุรกิจเสริมบริการใหม่รับเทรนด์ 4.0 หวังรายได้ 250 ล้านปีนี้

“ไอเอสเอสพี” มองเทรนด์กระแส 4.0 เชื่อเอกชน ‘เอสเอ็มอี-คอร์ปอเรท’ หันให้ความสำคัญคลาวด์เพิ่ม เน้นความปลอดภัยบนเน็ตเวิร์ค แอพ สบช่องปล่อยบริการใหม่เจาะตลาดเชื่อยังเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่มีครบวงจร พร้อมวางตัวเลขรายได้ปีนี้ทะลุ 250 ล้านบาท

นายบัณฑิต ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด หรือ ไอเอสเอสพี กล่าวว่า คลาวด์ บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (ไอโอที) จะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานพาองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นเหตุผลให้องค์กรธุรกิจปัจจุบันต้องการบริการมากกว่าการใช้บริการฟีเจอร์ หรือโซลูชั่นใหม่ๆ ผ่านผู้ให้บริการ แต่ต้องการคู่ค้าทางธุรกิจที่คอยให้คำปรึกษาในการเลือกใช้เทคโนโลยี หรือโซลูชั่นที่เหมาะสมกับธุรกิจ

ดังนั้น กลยุทธ์ของไอเอสเอสพีจะช่วยตอบสนองความต้องการในฐานะที่ปรึกษาว่า ธุรกิจประเภทใด เหมาะที่จะนำโซลูชั่นหรือเทคโนโลยีใดมาใช้เพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่ของธุรกิจถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยบริการ ทั้งบริการคลาวด์ แบบไพรเวท และพับบลิค ทั้งยังมีโปรแกรมเสริมสร้างความปลอดภัย เพื่อเพิ่มความมั่นใจด้านความปลอดภัยของข้อมูล (Data Protection)

โดยเทรนด์ของอุตสาหกรรมนั้นสอดคล้องกับแผนนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาลพยายามผลักดัน และภาคเอกชนก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะสามารถมองเห็นภาพประเทศไทย 4.0 ได้อย่างชัดเจน ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่จะมีแผนและสามารถกำหนดแนวทางการปรับตัวในอนาคตได้แล้ว แต่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่อาจขาดความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยีและเงินทุน ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์การแข่งขันในตลาดได้รวดเร็วเท่าที่ควร

“ในปี 2563 ไอโอที หรือแม้แต่คลาวด์ จะไม่ใช่สิ่งที่คนพูดถึง เพราะธุรกิจทุกประเภทจะกลายเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการเตรียมพร้อมพื้นฐานทางด้านไอทีขององค์กรเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ เพราะเมื่อผลิตภัณฑ์ของธุรกิจได้รับการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ และตลอด 365 วัน ทำให้สินค้ามีความพร้อมที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่เปลี่ยนจากรูปแบบธุรกิจที่เน้นผลิตภัณฑ์เป็นศูนย์กลางมาเป็นการให้บริการเป็นศูนย์กลาง”

นายบัณฑิต กล่าวว่า ปัจจุบันไอเอสเอสพี มีโซลูชั่นและบริการที่พร้อมสนับสนุนองค์กรธุรกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 5 ประเภท ได้แก่ 1.คลาวด์ เซอร์วิส 2.สแตนดาร์ด เซอร์วิส อาทิ บริการอินเทอร์เน็ต และโค-โลเคชั่น 3.อี-มาร์เก็ต เพลส 4.โปรเฟสชั่นแนล เซอร์วิส และ 5.เพย์เมนต์ โซลูชั่น ซึ่งเดิมธุรกิจก่อนที่เทไปที่ 2 บริการแรกปีที่ผ่านมา รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 135 ล้านบาท มาจากบริการคลาวด์ และสแตนดาร์ด เซอร์วิสอย่างละ 50%

แต่หลังจากที่เทรนด์อุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไอเอสเอสพีเองเปิดบริการใหม่ 3 บริการสุดท้ายดังกล่าว เพราะจะเป็นการต่อยอดจากบริการเดิม ส่งผลให้ไอเอสเอสพีเป็นบริษัทเดียวที่มีบริการให้ลูกค้าครบวงจร นอกจากนี้ มองว่ารายได้ในแง่สัดส่วนจากบริการจะเปลี่ยนไปเป็น 1.คลาวด์ เซอร์วิส 30% 2.สแตนดาร์ด เซอร์วิส 35% 3.อี-มาร์เก็ต เพลส 5-10% 4.โปรเฟสชั่นแนล เซอร์วิส 15-20% และ 5.เพย์เมนท์ โซลูชั่น 15%

ปัจจุบันลูกค้าไอเอสเอสพีจะแบ่งลูกค้า เป็นองค์กรขนาดใหญ่ (เอ็นเตอร์ไพรส์) ราว 60% ลูกค้าเอสเอ็มอี 40% โดยฐานลูกค้ารวมมีทั้งสิ้น 800 ราย แต่ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าให้ได้เป็น 1,000 ราย ปัจจัยหลักมาจากการที่บริษัทมี 3 บริการใหม่เข้ามาทำตลาด และสอดคล้องกับเทรนด์อุตสาหกรรมด้วย

เป้าหมายรายได้ปีนี้อยู่ที่ 250 ล้านบาท ขยายตัวจากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 135 ล้านบาท โดยมาจากบริการ แบ็คอัพ โซลูชั่น (Backup & Recovery) เพื่อรองรับข้อมูลที่เป็นดิจิทัลคอนเทนท์จำนวนมหาศาล (Big Data), ให้บริการปรึกษาการทำไพรเวท คลาวด์สำหรับองค์กรที่ต้องการมีระบบเซิร์ฟเวอร์เป็นของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนแบนด์วิธ ซึ่งมีจุดแข็งประสิทธิภาพการเชื่อมต่อด้วยระบบคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในไทย มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษา 24 ชั่วโมง มีระบบอีอาร์พีสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงบริการเว็บอีคอมเมิร์ซ และโมบายคอมเมิร์ซ