เปิดใจวันจาก "ทานาดะ" โตโยต้า จะไม่เปลี่ยน นโยบาย ในไทย

เปิดใจวันจาก "ทานาดะ" โตโยต้า จะไม่เปลี่ยน นโยบาย ในไทย

เดินหน้าลงทุน สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี

       วันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา เคียวอิจิ ทานาดะ หมดวาระการดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยทานาดะ เดินทางกลับไปทำงานที่ญี่ปุ่นวันที่ 5 เม.ย. ทันทีหลังจากร่วมงานเลี้ยงอำลา และต้อนรับผู้ที่จะมารับงานต่อในค่ำคืนวันที่ 4 เม.ย. ที่มีแขกรับเชิญพิเศษรวมถึง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้บริหารจากหน่วยงานรัฐ และเอกชน กว่า 1,000 คน

 

       สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่น

       ทานาดะ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการต่อจาก เรียวอิจิ ซาซากิ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2552 หรือเมื่อ 7 ปีกับ 9 เดือนที่แล้ว แต่จริงๆ แล้ว เขาทำงานในไทยรวม 13 ปี โดยเคยเป็นผู้ประสานงานมาก่อน

       ทานาดะ กล่าวบนเวทีเลี้ยงอำลาด้วยภาษาไทยที่ใช้ได้คล่องแคล่ว รวมถึงการใช้งานอย่างเป็นทางการเช่น การแถลงข่าว หรือ สัมภาษณ์เป็นภาษาไทยว่า เมื่อครั้งที่ขึ้นเวทีงานเลี้ยงต้อนรับ เมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า การทำงานในไทย จะขอไม่เป็นแค่กรรมการผู้จัดการเท่านั้น แต่ต้องการมีบทบาทในการเป็นสะพานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และคนไทยกับคนญี่ปุ่น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพ ในปี 2554 ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในด้านต่างๆ รวมถึงบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยอีกด้วย

       อย่างเช่น ปี 2554 ที่่เกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัดในไทย นักธุรกิจญี่ปุ่น นักธุรกิจต่างชาติมาสอบถามว่า ไทยจะแก้ปัญหาได้ไหม การลงทุนในไทยจะมีผลประโยชน์ มีอนาคตหรือไม่ หรือว่าควรไปลงทุนที่อื่นดีกว่า

       ทานาดะกล่าวว่า ท่ามกลางความกังวลต่างๆ ได้แจ้งให้กับนักธุรกิจเหล่านั้นว่า ควรจะมีความมั่นใจในไทยว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่ดี และในส่วนของโตโยต้าเอง ก็ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันว่า บริษัทจะไม่หนีประเทศไทยไปไหน ไม่มีการถอนการลงทุน ไม่ย้ายโรงงาน แต่ในทางกลับกัน โตโยต้า จะเพิ่มการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหลังจากนี้ด้วยเช่นกัน

 

       ยันเดินหน้าลงทุน-พัฒนาบุคลากร เทคโนฯ

       “โตโยต้าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศไทย และแม้ผมจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งและกลับไปยังญี่ปุ่น แต่นโยบายของโตโยต้าภายในต้การบริหารงานของกรรมการผู้จัดการคนใหม่ก็จะไม่เปลี่ยนแปลง เรายยังคงจะเดินหน้าเพิ่มการลงทุน แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาไทย พัฒนาบุคลากร รวมถึงการพัฒนาสังคมมากขึ้น”

       นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นว่า มิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการคนใหม่ ซึ่งเคยมีประสบการณ์การทำงานในไทย 3 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้มีความเข้าใจในตลาด วัฒนธรรม และนิสัยคนไทยเป็นอย่างดี จะสามารถสานต่อแผนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตและความยั่งยืนในไทยต่อไป

       "เดือน ก.พ.2553 ผมได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านรับสั่งว่า ทานาดะพูดได้ ก็ขอให้ช่วยพัฒนาคนไทย ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งเหตุการณ์วันนั้น ทำให้ผมทุ่มเทเต็มที่ในเรื่องนี้"

       สำหรับทานาดะ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 11 ของโตโยต้า ประเทศไทย และสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากผู้บริหารคนก่อนๆ ก็คือ การนั่งในตำแหน่งนี้นานที่สุดคือ 7 ปี 9 เดือน ขณะที่คนอื่นจะดำรงตำแหน่งเฉลี่ยวาระละ 5 ปี

       ซึ่งนอกตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แล้ว ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่โตโยต้า ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจครบรอบ 50 ปี ยังได้รับตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มีหน้าที่ดูแลตลาดในภูมิภาคเอเชียเพิ่มเติม และในปีนั้นโตโยต้ายังมีผลงานที่โดดเด่นหลายเรื่อง เช่น การสร้างสถิติการผลิตและการขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยโรงงานทั้ง 3 แห่ง ที่พระประแดง สมุทรปราการ เกตย์และบ้านโพธิ์ ซึ่งเป็น 2 โรงงานในฉะเชิิงเทรา มีการผลิตรวมกัน 8.8 แสนคัน และยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดทั้ง 3 ตลาด คือ ตลาดรวม ตลาดรถยนต์นั่ง และตลาดรถเพื่อการพาณิชย์

 

       แนวทางทำงาน 3 ส.

       ทานาดะกล่าวว่า นอกจากการบริหารทั่วไปแล้ว ในด้านการบริหารงานบุคลากร ยังได้กำหนดแนวทางทำงาน 3 ส.ขึ้นมาอีกด้วย ก็คือ สวัสดี สบายดี และสนุกดี

       สวัสดี เพราะเห็นว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีของคนไทยที่มีการทักทายกันอย่างสุภาพ เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร สบายดี คือ สุขภาพและสวัสดิภาพของพนักงานจะต้องดี และสนุกดี เพราะเห็นว่าคนที่จะทำงานได้ผลงานออกมาดี จะต้องมีความสนุกในการทำงาน