ทางรอดที่ต้องเลือกของนักดนตรียุค 4.0

ทางรอดที่ต้องเลือกของนักดนตรียุค 4.0

อีกมุมมองของผู้คนในอุตสาหกรรมดนตรีไทย ที่กำลังปรับตัวครั้งใหญ่ในวันที่อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม

เทคโนโลยีและความแรงของอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่ทำให้ YouTube กับมิวสิค สตรีมมิ่ง กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของการฟังเพลงเท่านั้น แต่อีกด้านมันกำลังทำให้ผู้คนในอุตสาหกรรมดนตรีต้องปรับตัวไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใหญ่สุดเก๋า หรือแรกรุ่นที่กำลังรอการแจ้งเกิด

นั่นเพราะเทคโนโลยีทำให้ศิลปินเข้าถึงผู้ฟังโดยตรงได้กว้างขึ้น ลดการพึ่งพาค่ายเพลงลง ไม่ต้องง้อคลื่นวิทยุ ขณะที่อีกด้านมันก็ทำให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ ในนามแอพพลิเคชั่นฟังเพลง อย่าง JOOX, LINE Music, Apple Music, KKBox, Fungjai และอีกฯลฯ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับศิลปินใหม่ๆ ที่พร้อมจะฉายแสงผ่านยอด Like ในโลกโซเชียล

คงไม่มีใครเถียงว่านี่คืออีกวงจรอุตสาหกรรมธรรมดาๆ ที่กำลังเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถ้าไม่นับว่าอุตสาหกรรมเพลงคืออีก Content ที่จะพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่ามันเข้ากับต้นทุนวัฒนธรรม เช่นนี้มันก็น่ารู้ไม่ใช่หรือว่า ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ผู้คนที่ข้องเกี่ยวกับวงจรอุตสาหกรรมดนตรีกำลังคิดอะไรอยู่

อุตสาหกรรมดนตรียังดีอยู่

เวทีเสวนา “ดนตรีอภิวัฒน์กับประเทศไทย4.0” ที่จัดโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง อ้างอิงข้อมูลการวิจัยของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบว่า อุตสาหกรรมดนตรีคือกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยข้อมูลสำรวจเมื่อปี 2557 พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้สร้างเม็ดเงินสะพัดราว 35,000 ล้านบาทต่อปี

ในจำนวนที่ว่านี้เมื่อจำแนกประเภทธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น ธุรกิจค่ายเพลงจำนวน 20,000 ล้านบาท ธุรกิจวิทยุที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและบันเทิงจำนวน 6,500 ล้านบาท ธุรกิจเครื่องเสียงและเครื่องดนตรีจำนวน 5,000 ล้านบาท ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแสงและเสียงจำนวน 2,000 ล้านบาท และธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีอีกราวๆ 300 ล้านบาท

“ขณะที่ในภาพรวมมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 10% ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงยังไปได้ดี ดังนั้นหากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักร้อง นักดนตรี บุคลากรในแวดวง รวมถึงสถาบันการศึกษา ร่วมกันพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างเป็นระบบ จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศได้ เพราะประเทศไทยมีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานที่ดีอยู่แล้ว” ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน ประธานหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อผสม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าว

ในมุมของศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง ยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” ก็มองว่า แม้วงการเพลงจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ความต้องการของตลาดยังมีอยู่ เห็นได้จากศิลปินใหม่ๆ ที่เข้าสู่วงการเพลงมากมาย และส่วนตัวก็ได้ใช้ความเป็นนักดนตรีเป็นแบรนด์ซึ่งต่อยอดไปในเรื่องธุรกิจอย่างที่รู้จักกันดี

อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า นอกจากการทำงานให้หนักเพื่อยืนระยะท่ามกลางการเกิดขึ้นของศิลปินเบอร์ใหม่ๆ แล้ว คนในอุตสาหกรรมเพลงต้องมีกลยุทธ์ในการผลิตผลงาน การโปรโมท ที่ละเอียดกว่าเดิม อาทิ การเพิ่มมูลค่าผลงานเพลงที่มีอยู่ด้วยการรวบรวมใหม่ในวาระสำคัญ การปล่อยซิงเกิ้ลในโอกาสพิเศษ การหล่อเลี้ยงกระแสไม่ให้ขาดช่วง ขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวร่วมทางธุรกิจ เพื่ออาศัยทักษะเฉพาะของแต่ละแนวร่วมเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ

“วงการเพลงทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก ผมจำได้ว่าสมัยที่รู้จักอาชีพ Sound Engineer ใหม่ๆ พวกเราส่งคุณเขียว คาราบาวไปอเมริกา ไปศึกษาเพื่อกลับมาพัฒนางานให้ดีกว่าเดิม และเราก็น่าจะเป็นวงแรกๆ ในประเทศที่มีห้องอัดเป็นของตัวเอง ส่วนวันนี้แม้เราอาจไม่ใช่วงที่ทันสมัย แต่เราก็ต้องรู้จักหาพาร์ทเนอร์มาเติมเต็มส่วนที่เราไม่รู้ เช่น มาจัดการผลประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องการดาวน์โหลด การรวบรวมผลงานพิเศษ หรือการออกแบบปก ออกแบบแพ็คเกจซึ่งทั้งหมดล้วนมีผลต่อยอดไปถึงรายได้ อย่างคาราบาวเราตั้งใจว่าจะเดินสายทัวร์ต่อไป เพราะกล้าพูดว่าที่ยังมีกระแสและยังอยู่ได้วันนี้คือทัวร์คอนเสิร์ต ผมตั้งใจว่าจะเดินสายเล่นในที่ต่างๆ จนกว่าจะไม่ไหว”

Show Biz ช่วยอยู่รอด

เมื่อจำนวนกายภาพอย่างยอดขายซีดีลด มันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละวงดนตรีไทยก็ต้องหาทางรอดต่างๆ ทั้งการใช้โซเชียลมีเดียพัฒนากลุ่มแฟนเพลง ซึ่งช่วยให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น การสร้างกิจกรรมเพื่อหล่อเลี้ยงกระแสความนิยม การพัฒนา Live Show (การแสดงสด) เพื่อเพิ่มปริมาณงานจ้าง พร้อมๆ กับที่ต้องสร้างเครือข่ายเพื่อรวมกลุ่มกันจัดงานอีเวนต์ดนตรี หรือเทศกาลดนตรีโดยไม่ต้องรอให้มีเจ้าใหญ่ๆ เป็นเจ้าภาพในการจัด

สมพล รุ่งพาณิชย์ หรือ “แหลม” นักร้องนำวง 25 Hours กล่าวว่า ขณะนี้รายได้หลักของวงดนตรีไม่ใช่ยอดการจำหน่ายซีดีหรือจำนวนการดาวน์โหลดเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์ ทว่า มันคือการทำ Show Biz (การโชว์ตัว, จัดคอนเสิร์ต แสดงสด) ที่มีจำนวนถี่ขึ้น

จึงเป็นการบ้านของนักดนตรีที่ต้องยกระดับตัวเองนอกจากการเล่นดนตรี มาพัฒนาในเรื่องเทคนิคแสง สี เสียงที่เกี่ยวกับโชว์ ทั้งยังต้องลงทุนเรื่องโปรดักชั่นเป็นของตัวเองเพื่อเป็นการคุมคุณภาพเวลาออกงาน ลดความเสี่ยง และลดระยะเวลาการติดตั้งอุปกรณ์หน้างาน ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อขยายขอบเขตไปยังการทำงานในระดับที่ใหญ่กว่า

“ถ้าเราวางเป้าไว้ที่การทำโชว์ เราก็ต้องทำให้คุณภาพทั้งแสงและสีมันสมบูรณ์ที่สุด ทำให้ดีที่สุด แบบที่เราเคยประทับใจกับการแสดงของวงจากต่างประเทศ ทุกวันนี้นักร้อง มือกีตาร์ มือเบส คงไม่ใช่เล่นแล้วจบ แต่เราเองก็ต้องหาความรู้ จบงานก็ต้องมานั่งวิเคราะห์กันว่าเรายังขาดเหลืออะไรอีก อะไรที่คิดว่าเป็นปัญหาตอนหน้างานก็จะพยายามลดข้อจำกัดของมัน” แหลม 25Hours บอกและว่า เวลาเดียวกันนี้วงยังต้องสร้างแบรนด์ของตัวเองให้ชัดขึ้น เพื่อให้สามารถต่อยอดไปถึงการสร้างฐานสมาชิก การขายสินค้า อย่าง เสื้อ หมวก ของที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับวงไปด้วย

ขณะที่ในมุมของคนในวงการลูกทุ่ง ศิลาแลง อาจสาลี อดีตผู้อำนวยการฝ่ายผลิตบริษัทแกรมมี่โกลด์ ที่คร่ำหวอดในวงการลูกทุ่งนับสิบๆ ปี บอกว่า ไม่ใช่แค่ควงป็อบเท่านั้นที่เจอกับปัญหายอดขายและดาวน์โหลดที่ลดลง กับวงการลูกทุ่งก็เช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ใช่ศิลปินเบอร์ใหญ่ หรือมีเพลงฮิตมากๆ หากจะคาดหวังยอดขายในระดับกลางๆ ที่พอจะหล่อเลี้ยงทีมงานได้ นั่นก็เป็นเรื่องที่ลืมไปได้เลย

แต่ละค่ายเพลงจึงต้องวางกลยุทธ์ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเนื้อร้อง สไตล์เพลง ที่ต้องเป็นลูกทุ่งยุคใหม่ ฟังสนุก เลือกนักร้องที่มีหน้าตาดูดีขึ้น ดูทันสมัยมากขึ้น ขณะที่งานจ้างหรืองานโชว์ตัวซึ่งเป็นรายได้หลักของศิลปินลูกทุ่งอยู่แล้ว เพราะวงการนี้มีขนาดของ Show Biz ที่ใหญ่มากๆ หน้าที่ของทีมงานจึงคือต้องสร้างทางเลือกให้กับผู้ว่าจ้าง โดยการเตรียมรูปแบบ และสเกลงานเพื่อความเหมาะสม ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เช่น การแสดงสำหรับคอนเสิร์ต หรือการแสดงสำหรับงานบวช งานแต่ง เพื่อให้ครอบคลุมการว่าจ้างในทุกรูปแบบ

โอกาสนักดนตรี 4.0

แม้การแข่งขันจะสูงขึ้นก็จริง แต่ใครๆ ต่างก็มองว่ายุคนี้ยังคือโอกาสของคนทำเพลงอยู่ดี นั่นเพราะถ้า Content ซึ่งหมายถึงเพลง มัน “โดน” จริงๆ ก็เป็นไปได้มากว่าเส้นทางที่จะเดินในอุตสาหกรรมดนตรีมันจะไปไกลขึ้น ไม่เชื่อลองนึกไปถึงเพลงประกอบละครของคนลูกทุ่ง ที่มีส่วนช่วยให้ละครฮิตไปไกลถึงต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ลูกทุ่งคนนั้นมีงานไม่เว้นแต่ละวัน

“สำหรับผม ผมถือว่าเป็นทั้งปัญหาและโอกาสที่เรากำลังเผชิญ แต่ผมเชื่อว่าโอกาสของเพลงลูกทุ่งยังไปได้ดี ศิลปินเบอร์ใหญ่ อย่างคุณไผ่ (พงศธร) คุณต่าย (อรทัย) อย่างน้อยๆ ยอดขายหลักแสนต่อผลงานหนึ่งชุดผมว่าต้องมี ยิ่งมีอินเทอร์เน็ตมันยิ่งทำให้เพลงของเขาดังไปไกลขึ้น เป็นการกระจายวัฒนธรรมของประเทศอีกทางหนึ่ง”

อย่างไรก็ตามในยุคของนวัตกรรม ที่หวังจะยกระดับประเทศให้เป็น 4.0 ทักษะของคนทำงานในสายงานดนตรีต้องเปลี่ยนไปด้วย นั่นเพราะเทคโนโลยีปัจจุบันกับสมัยก่อนต่างกันมาก สตูดิโอพัฒนาไปไกลเป็นระบบคอมพิวเตอร์ บุคลากรที่ทำงานจึงต้องมีทักษะเฉพาะ

อุตสาหกรรมดนตรีและสถาบันศึกษาจึงต้องผลิตบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเติบโต โดยต้องผสานองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน พัฒนาหลักสูตรเชื่อมต่อความรู้ด้านวิศวกรรม อาทิ วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สื่อสาร-โทรคมนาคม และไอที รวมกับความเป็นศิลป์ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี เสียง รวมไปถึงงานด้านกราฟิกและแอนิเมชั่น

อุตสาหกรรมดนตรีจากนี้จึงคาดการณ์กันว่า วิศวกรที่ทำงานทางด้าน Sound Engineer, Light and Sound Control ทั้งในภาคสนามและใน studio รวมทั้งการออกแบบงานด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Live Show จะเป็นทักษะอาชีพที่มีความต้องการสูง เพราะมีส่วนสำคัญของช่องทางหลักในการสร้างรายได้แก่ศิลปินและภาคธุรกิจ

“คนในอุตสาหกรรมดนตรีในแต่ละยุคประสบปัญหาแตกต่างกัน และในยุคปัจจุบันเราเน้นความสำคัญของนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลงาน คนในอุตสาหกรรมจึงต้องมีทักษะเพื่อสนองความต้องการของตลาดให้ได้ เพื่อให้เพลงเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องอื่นๆ อย่าง อุตสาหกรรมบันเทิง การท่องเที่ยว ที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้ ” วงเสวนาฯ ให้ความเห็นทิ้งท้าย

ทั้งหมดสะท้อนถึงบทสรุปสถานการณ์และทางรอดของผู้คนในอุตสาหกรรมดนตรีในห้วงยามนี้ได้เป็นอย่างดี