'หุ้นใหญ่' คึกรับฟันด์โฟลว์

'หุ้นใหญ่' คึกรับฟันด์โฟลว์

หุ้นใหญ่ "คึก" รับฟันด์โฟลว์ แนะเฟ้นหุ้น "ชนะอุตสาหกรรม"

หุ้นไทยในไตรมาส 1 ปี2560 มีความคึกคักอย่างมาก หลังจากที่ทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐเริ่มไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งเป้าหมายหนึ่งที่เข้าลงทุนคือประเทศไทย ที่ยังมีพื้นฐานค่อนข้างดี โดยหุ้นทีได้รับอานิสงส์จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในหุ้นที่เป็นหุ้นเด่นในอุตสาหกรรม 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานความเคลื่อนไหวของหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด สูงสุด 50 อันดับแรก จากต้นปีถึงวันที่ 4 เม.ย.2560 พบว่า บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) MTLS ปิดการซื้อขายที่ 31.00 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 25.51% บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ADVANC ปิดการซื้อขายที่ 174.00 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 18.37% ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB ราคาหุ้นปิดที่20.60 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 16.38% ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB ปิดการซื้อขายที่ 2.44 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 16.19% บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC ราคาปิดการซื้อขายที่ 72.00 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 14.29%

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL ปิดการซื้อขายที่ 182.00 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 14.11% บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) SPRC ราคาหุ้นปิดที่ 13.90 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 12.10% บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) DTAC ราคาหุ้นปิดที่ 42.25 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 11.92% บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)SCCC ปิดการซื้อขายที่ 300.00 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 10.29% บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) BANPU ปิดการซื้อขายที่ 20.80 บาทต่อหุ้น ปรับเพิ่มขึ้น 8.33%

วรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา หุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวได้ค่อนข้างดี เนื่องจากการเทขายในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว ทำให้เม็ดเงินไหลเข้ามาตลาดหุ้นเอเชีย หลังจากนโยบายของสหรัฐเริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยหากพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งการเข้ามาซื้อหุ้นไทยนอกจากจะได้หุ้นที่ถูกแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทิศทางหลังจากนี้มองว่าเงินทุนต่างชาติจะยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำให้นักลงทุนเลือกหุ้นในกลุ่มธนาคาร ที่ถือว่าได้ประโยชน์จากเงินต่างชาติที่จะไหลเข้า เนื่องจากเป็นหุ้นยังมีราคาต่ำ รวมถึงยังได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทำให้ภาครับเหมาก่อสร้างต้องการใช้เงินทุน และต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นส่วนกลุ่มสื่อสารนั้นยังน่าสนใจลงทุน เนื่องจากการเติบโตในระยะยาวยังมีทิศทางที่ดี ซึ่งในปีนี้มองว่ากลุ่มสื่อสารจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ค่าใช้จ่ายด้านใบอนุญาตเริ่มทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2559 ส่วนการเติบโตที่จะเป็นรอบใหญ่เชื่อว่าจะได้เห็นในปี 2561 เป็นต้นไป

มงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การปรับตัวขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่นั้นจะเห็นได้ว่าไม่ได้ปรับขึ้นเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ หุ้นที่ปรับขึ้นโดดเด่นจะเป็นหุ้นที่ถือว่าเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมนั้น เป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์การลงทุน ในช่วงที่ตลาดหุ้นแกว่งตัวในกรอบแคบ

“การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในระยะนี้ เราจะเห็นได้ว่าหุ้นที่โดดเด่นจะเป็นหุ้นที่เป็นผู้ชนะของอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งจะเป็นลักษณะนักลงทุนจะเปลี่ยนกลุ่มเล่นไปเรื่อยๆ”

ทั้งนี้บริษัทได้ปรับคำแนะนำให้ผู้ลงทุนเพิ่มพอร์ตการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่เป็นมากกว่า 50 % โดยมองว่าหุ้นขนาดใหญ่ยังจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ดี

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาสที่ 2 นั้นมองว่า หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่ให้น้ำหนักมากกว่าตลาด เนื่องจากโครงการภาครัฐจะมีการเปิดประมูลในปีนี้อีกเกือบ 8 แสนล้านบาท นำโดยงานด้านระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่เฟสแรกและเฟสที่ 2 รวมกัน 12 เส้นทาง มูลค่า 3.6 แสนล้านบาท รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเส้นทางต่างๆ อีก 3.7 แสนล้านบาท ถือเป็นแหล่งงานให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งการเปิดประมูลโครงการน่าจะเป็นไปตามกำหนด

ทั้งนี้ ทิศทางงานในมือที่รอรับรู้รายได้ของบริษัทรับเหมาขนาดใหญ่ 13 แห่ง ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนก.พ. 2560 มูลค่างานในมือรวมกัน อยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท หลังจากที่บริษัทรับเหมาขนาดใหญ่ 4 ราย ได้เซ็นสัญญางานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก วงเงินรวม 7.94 หมื่นล้านบาท บวกกับงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และ สีชมพู ที่มูลค่ารวม 3.55 หมื่นล้านบาท ซึ่งฝ่ายวิจัยเชื่อว่า งานประมูลภาครัฐจะออกมาในปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้งานในมือที่รอรับรู้รายได้ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะทำสถิติใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นตัวรองรับการเติบโตของรายได้ธุรกิจในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นวัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่ของหุ้นรับเหมาก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ฐานะการเงินโดยรวมของกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ถือว่ายังแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่มี net gearing ต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งจะกระทบกับกลุ่มรับเหมาบางส่วนที่มีnet gearing เกิน 2 เท่า เพราะมีการใช้เงินกู้สำหรับลงทุนระยะยาวในธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหากดอกเบี้ยมีทิศทางขาขึ้น ดังนั้นควรเลือกลงทุนในหุ้นรับเหมาที่มีสัดส่วนหนี้สินไม่สูง เพราะจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด