‘ศรีสวัสดิ์’เผยกองทุนแห่ฟังข้อมูล

‘ศรีสวัสดิ์’เผยกองทุนแห่ฟังข้อมูล

"ศรีสวัสดิ์" เผยกองทุนแห่ฟังข้อมูล ระบุความเชื่อมั่นเพิ่มหลังซื้อกิจการ "บีฟิท" ขณะที่หลาย บจ.เดินหน้าโรดโชว์ หวังต่างชาติถือหุ้นเพิ่ม

“ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์” เผยผลโรดโชว์กว่า 20 กองทุนต่างประเทศมีการตอบรับเยี่ยม ส่วนใหญ่มั่นใจในพื้นฐานบริษัทเพิ่มหลังรวมกิจการกับบีฟิท และขึ้นแท่นเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท.ขณะที่ผลสำรวจพบบริษัทจดทะเบียนวางแผนโรดโชว์ หวังดึงกองทุนนอกถือหุ้นเพิ่ม

นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์1979 จำกัด(มหาชน) SAWAD เปิดเผยว่า บริษัทเพิ่งเสร็จสิ้นการให้ข้อมูลผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ กว่า 20 กองทุน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยม โดยข้อมูลที่ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจคือเรื่องปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ภายหลังการรวมกิจการกับบริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน) BFIT 

ทั้งนี้ ได้ชี้แจงข้อมูลอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการขึ้นเป็นสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศ ซึ่งบริษัทพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบของธปท.อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน การรวมกิจการกับบีฟิท จะทำให้บริษัทสามารถขยายบริการทางการเงินให้กับลูกค้าได้หลากหลายขึ้น อีกทั้งยังทำให้มีฐานการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น สืบเนื่องจากบีฟิทเป็นบริษัทเงินทุนที่สามารถให้บริการด้านเงินฝากได้ 

“ส่วนใหญ่ที่สอบถามจะเป็นเรื่องของศรีสวัสดิ์ ที่จะเป็นสถาบันการเงินภายหลังจากที่รวมกิจการการกับบีฟิท ซึ่งเมื่อชี้แจงไป ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องการซื้อกิจการบีฟิท ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำเทนเดอร์” 

เธอกล่าวว่า บริษัทมีแผนจะโรดโชว์นักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นความสำคัญของการให้ข้อมูลที่อัพเดท เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติ ทั้งที่ถือหุ้นของบริษัทและไม่ได้ถือหุ้น ได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน และบริษัทคาดหวังว่ากองทุนต่างประเทศจะเข้าลงทุนในบริษัทเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน มีผู้ถือหุ้นต่างประเทศอยู่ประมาณ 20% 

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมี.ค. 2560 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับบล.เคทีบี (ประเทศไทย) นำ 8 บริษัทจดทะเบียนเดินไปทางไปให้ข้อมูลแก่กองทุนในประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 29 กองทุน โดย 8 บจ. ประกบอด้วย บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY), เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL), ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (กองทุน DIF) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นจุดขายและแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

จากการสำรวจข้อมูลบริษัทจดทะเบียน พบว่ามีหลายบริษัทวางแผนไปโรดโชว์กับกองทุนต่างประเทศในไตรมาส 2 รวมถึงในครึ่งปีหลัง เพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้าถือหุ้น 

บริษัท ไพลอน จำกัด(มหาชน) PYLON ให้ข้อมูลว่า ในเดือน พ.ย.2560 บริษัทมีแผนจะเดินทางไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนต่างชาติในประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับธนาคารซิตี้แบงก์ ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันเริ่มเข้าถือหุ้นของ PYLON มากขึ้น เพราะเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย จึงได้รับความสนใจค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกัน มีแผนเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นให้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ หลังจากที่ผ่านมามีนักลงทุนแสดงความเห็นว่าสภาพคล่องของ PYLON อยู่ในระดับต่ำ แม้ข้อมูล ณ 20 มี.ค.2559 สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยจะสูงถึง 38.55% แต่ยังมีนักลงทุนที่เป็นกลุ่มบุคคลถือครองระยะยาวค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ขายบิ๊กล็อต 8 ล้านหุ้น แต่กลุ่มผู้ซื้อเป็นนักลงทุนสถาบันที่เป็นการถือครองระยะยาว ซึ่งเป็นแง่ดีในเรื่องการรักษาเสถียรภาพของหุ้น แต่ยังไม่ตอบโจทย์ด้านการเพิ่มสภาพคล่องเท่าที่ควร

บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) APCO ให้ข้อมูลว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถย้ายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ในเดือนเม.ย.2560  จากเดิมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ โดยได้ส่งมอบเอกสารให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาเรียบร้อยแล้ว 

วัตถุประสงค์การย้ายในครั้งนี้ต้องการเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นของบริษัทมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 2% ซึ่งบริษัทมีความสนใจจะออกไปเดินทางนำเสนอข้อมูลในต่างประเทศระยะต่อไป

ขณะที่บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) JWD ให้ข้อมูลว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนจะเดินทางไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนสถาบันต่างชาติประมาณ 6 ครั้ง ซึ่งใกล้เคียงปีก่อน โดยจะร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจะเน้นในฮ่องกง และสิงคโปร์เป็นหลัก ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้เดินทางไปแล้ว 2 ครั้ง โดยนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน เพราะมีโอกาสการเติบโตสูง

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันต่างชาติถือหุ้นอยู่ประมาณ 10% และหากนับนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศอยู่ที่ถืออยู่ 15% ซึ่งถือเป็นระดับที่เหมาะสม รวมถึงบริษัทจะพยายามจัด Company Visit ให้กับผู้ถือหุ้นในประเทศ ช่วงไตรมาส 3 นี้