นายหญิง “กันกุลฯ” พลิกธุรกิจ “โตนอกบ้าน” 

นายหญิง “กันกุลฯ” พลิกธุรกิจ “โตนอกบ้าน” 

เมื่อแหล่งทำเงินในประเทศหดหาย หลังทางการเปิดประมูลพลังงานทดแทนล่าช้า นายหญิงแห่ง “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” จำต้องหาทางเติบโตใหม่ ด้วยการปักหมุดลงทุนในญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้าน หวังผลักดันสัดส่วนรายได้นอกบ้านขึ้นแทน 80%

แม้กลางปีก่อนทางจะเปิดประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรกำลังการผลิต 281.32 เมกะวัตต์ แต่ดูเหมือนว่า จะไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เล่นในประเทศที่มีอยู่มหาศาล

ด้วยเหตุนี้ทำให้เหล่าผู้ประกอบการพลังงานทดแทนทั้งหน้าใหม่และเก่าจำเป็นต้องแตกตัวออกไปหาแหล่งผลิตเงินใหม่ในต่างแดน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการเมืองไทย

เช่นเดียวกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL  ที่ โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง บอกว่า เริ่มมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเมื่อ2ปีก่อน ด้วยการออกไปลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศญี่ปุ่น หลังทางการของญี่ปุ่นมีนโยบายผลิตพลังงานทดแทนประมาณ 20% ภายในระยะเวลา 10ปีข้างหน้า แม้ค่าการสร้างและพื้นที่ก่อสร้างโครงการจะมีราคาแพง แต่อัตราการรับซื้อไฟฟ้า และดอกเบี้ยเงินกู้ ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับเมืองไทย ที่สำคัญกฎระเบียบค่อนข้างชัดเจน

หญิงแกร่งยังเล่าว่า เมื่อสถานการณ์พลังงานทดแทนภายในประเทศเป็นเช่นนี้จะหวังหาการเติบโตในประเทศคงทำได้ยากมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นการออกไปชอปปิงในต่างแดนน่าจะช่วยผลักดันฐานะการเงินได้ดีกว่านั่งรองานในประเทศที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ หรือต่อให้มีก็คงน้อยมากไม่เพียงพอต่อผู้เล่น

ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ น่าจะเป็นแหล่งเป้าหมายสำคัญของผู้ประกอบการไทย

สำหรับแหล่งที่เหมาะแก่การลงทุนมากที่สุด คงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น เธอ เชื่อเช่นนั้นความน่าสนใจสะท้อนผ่านอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สูงถึง 27 เยนต่อวัตต์ หรือประมาณ 7-8 บาทต่อหน่วย ขณะที่2ปีก่อนทางการเคยรับซื้อสูงถึง 40 เยนต่อวัตต์ หรือประมาณ 10 กว่าบาทต่อหน่วย 

หากพิจารณาราคารับซื้อไฟฟ้าและต้นทุนต่างๆ ผู้ประกอบการอาจต้องก่อสร้างโครงการขนาด 5-10 เมกะวัตต์ จึงจะเข้าข่ายคุ้มค่า

ปัจจุบันกำลังศึกษาการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมในประเทศมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงพลังงานลม ประเทศออสเตรเลีย ในส่วนของมาเลเซียได้มีโอกาสเจรจากับพันธมิตรที่ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าของบริษัท แต่เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าตอนนี้ยังไม่สูงมาก ทำให้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะได้ข้อสรุปเรื่องนี้เมื่อไหร่ แต่การเข้าไปลงทุนในมาเลเซียน่าจะดีกว่ารอช้อปของในประเทศที่ไม่ค่อยมี

หากไม่มีอะไรผิดพลาดคงเห็นความคืบหน้าการลงทุนร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ภายใน 6 เดือนหลัง

 “โศภชา” เล่าต่อว่า ปัจจุบันกันกุลมีโครงการในประเทศ 60% ที่เหลืออีก 40% เป็นโครงการต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นโครงการในประเทศญี่ปุ่น 200 เมกะวัตต์ สำหรับความคืบหน้าโครงการในญี่ปุ่น ตอนนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ แบ่งเป็นโครงการละ 35 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปีหน้า

ส่วนโครงการที่ 3 กำลังการผลิต 67 เมกะวัตต์ และโครงการที่ 4 กำลังการผลิต 75 เมกะวัตต์ ซึ่งมีราคารับซื้อไฟฟ้า 36 เยนต่อวัตต์ และ 32 เยนต่อวัตต์ ตามลำดับ คงจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 2561 ตอนนี้อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและทำประชาพิจารณ์

สองโครงการแรกในญี่ปุ่นจะสร้างรายได้ในปี 2561 ประมาณ 700 ล้านบาท (เมกะคิดเป็น 10 ล้านบาท) ตอนนี้โครงการญี่ปุ่นยังต้องใช้เงินลงทุนอีก 30,000 กว่าล้านบาท โดยจะใช้ทุนตัวเอง 6,000 ล้านบาท ที่เหลือกู้แบงก์ทั้งในไทยและญี่ปุ่น ที่ผ่านมาใส่เงินทุนไปแล้ว 4,000 ล้านบาท 

รุกงานนอกบ้านจะจริงจังแค่ไหน?  คำตอบที่ได้รับคือ หากมีโอกาสเข้ามาจะไม่ปล่อยให้ผ่านมือไปง่ายๆแน่นอน 

เธอยังเล่าถึงภาพรวมรายได้ธุรกิจพลังงานทดแทนว่า ที่ผ่านมาจ่ายพลังงานแสงอาทิตย์และลมเข้าระบบแล้ว 171 เมกะวัตต์ เท่ากับว่า จะรับรู้รายได้ส่วนนี้เต็มปี และปลายปีนี้จะจ่ายพลังงานลมเข้าระบบอีก 60 เมกะวัตต์

ส่วนปีถัดไปจะจ่ายพลังงานลมอีก 50 เมกะวัตต์ บวกกับพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นอีก 70 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 120 เมกะวัตต์ หากไม่มีอะไรผิดพลาดในปี 2562 คงเห็นสัดส่วนรายได้จากพลังงานทดแทนประมาณ 70% ที่เหลือเป็นสัดส่วนรายได้จากงานเทรดดิ้ง (การค้า) ซึ่งเป็นกิจการดั้งเดิมของบริษัท และต้องการเห็นรายได้พลังงานต่างประเทศมากกว่าในประเทศ

เป้าหมายสำคัญขององค์กรแห่งนี้ คือ สร้างรายได้พลังงานทดแทนขึ้นสู่ระดับ 4,000 ล้านบาท ในปี 2562 จากปีนี้ที่อาจทำได้เกือบ 2,000 ล้านบาท

เธอ ยังทิ้งท้าย ด้วยการย้ำแผนงานในช่วง 4 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2564 ว่า แม้สถานการณ์พลังงานทดแทนในประเทศจะมีหน้าตาเช่นนี้ แต่ทีมบริหารต้องการเห็นพลังงานทดแทนเข้ามาเติมปีละ 100 เมกะวัตต์ ทั้งในและนอกประเทศ ที่สำคัญงานต่างประเทศต้องขึ้นแท่น 80% ขณะที่พลังงานแดดและลมต้องมีสัดส่วน 80% และ 20% ตามลำดับ 

งานในประเทศน้อยมากแถมคนแย่งเยอะ ทำให้เราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลย"