ตลาดถก ‘กลต.’เกณฑ์แจงข้อมูล

ตลาดถก ‘กลต.’เกณฑ์แจงข้อมูล

ตลาดหลักทรัพย์ หารือ ก.ล.ต. "เกณฑ์แจงข้อมูล" หวังยกระดับการรายงานผ่านระบบให้เข้มข้นขึ้น ระบุตลาดมีอำนาจแค่สอบถามเพิ่ม-ขึ้นเครื่องหมาย

ตลาดหลักทรัพย์ระบุการเรียกข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนหลายรอบ เพราะต้องการทราบรายละเอียดเพิ่ม รับตลาดมีอำนาจจำกัด ทำได้เพียงการสอบถามเพิ่มและขึ้นเครื่องหมาย ไม่มีอำนาจตรวจสอบโดยตรง  แจงการออกวอร์แรนท์เพิ่มเติม สามารถทำได้ หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้การอนุมัติ 

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อยกระดับการให้ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์มีความชัดเจนมากขึ้น ยอมรับว่าปัจจุบันมีข้อจำกัด ทำได้เพียงการเรียกข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น

“ตลาดหลักทรัพย์ได้หารือกับทางสำนักงานก.ล.ต.เป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องการให้ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนกับนักลงทุนได้รับทราบผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์  ซึ่งการจะปรับกฎเกณฑ์ให้มีความเข้มข้นขึ้นก็เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

ทั้งนี้ ในการใช้กฎเกณฑ์ในเรื่องการให้ชี้แจงข้อมูล ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์จะเป็นผู้สอบถามไปยังบริษัทจดทะเบียนหากพบข้อสงสัยเพื่อให้บริษัทชี้แจง ซึ่งหากมีข้อมูลใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีก ก็ต้องสอบถามบริษัทเพื่อให้ส่งรายละเอียดมาเพิ่มเติมได้ โดยที่ผ่านมา การดูแลเรื่องการให้ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการได้เพียงขอให้ชี้แจงและดำเนินการขึ้นเครื่องหมายตามความเหมาะสม และเพื่อประโยชน์ของนักลงทุนเท่านั้น 

ส่วนในเรื่องการพิจารณาว่าข้อมูลที่ชี้แจงมีความถูกต้องหรือมีปัญหาหรือไม่ อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานก.ล.ต.  เพราะก.ล.ต.จะมีอำนาจมากกว่า โดยสามารถเรียกข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาได้ ซึ่งสำนักงานก.ล.ต.มีอำนาจที่จะลงโทษหากบริษัทมีการแจ้งข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง 

สำหรับกรณีบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) GL ที่มีการชี้แจงข้อมูลหลายรอบนั้น เข้าใจว่าทางทีมของตลาดหลักทรัพย์ต้องการข้อมูลในบางเรื่องต้องการรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนั้นต้องติดตามในเรื่องดังกล่าว  ส่วนประเด็นข้อสงสัยการออกหน่วยลงทุนวอร์แรนท์ ที่บริษัทออกเพิ่มอย่างต่อเนื่องนั้น สามารถทำได้หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้การอนุมัติ