“ปัก กึน เฮ”:นักโทษหมายเลข 503

“ปัก กึน เฮ”:นักโทษหมายเลข 503

สื่อเกาหลีเผยชีวิตหลังกรงเหล็กอดีตผู้นำหญิงเกาหลีใต้จาก"เจ้าหญิง"แห่งแวดวงการเมือง สู่บทบาท"นักโทษหญิง"

สำนักข่าวยอนฮับ รายงานว่า อดีตผู้นำเกาหลีใต้“ปัก กึน เฮ” ถึงกับปล่อยโฮ ในนาทีที่ถูกนำตัวเข้าห้องขังเดี่ยว ในศูนย์คุมประพฤติกรุงโซล เมื่อวันศุกร์ (31มี.ค.)โดยเธอได้รับการปฏิบัติเหมือนนักโทษทั่วไป ถูกถ่ายรูป และได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกประจำตัว ซึ่งรวมถึงถาดอาหาร และผ้าห่ม หลังจากอาบน้ำ เธอได้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดนักโทษที่ระบุหมายเลข 503 และจากนี้ไป เธอจะถูกเรียกว่า “นักโทษหมายเลข 503”

“ปัก กึน-เฮ” ธิดาผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ ที่ภายหลังได้ขึ้นเป็นประมุขของประเทศ จากการเลือกตั้ง ใช้ชีวิตในทำเนียบประธานาธิบดีเกือบ 20 ปี แต่วันนี้ ชะตาพลิกผันต้องอยู่ในห้องขัง รับประทานอาหารเพียงมื้อละไม่ถึง 50 บาท และต้องซักเสื้อผ้าเอง

นางสาวปัก กึน-เฮ อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกศาลออกหมายจับ ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีอาญาคดีทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบ เธอต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์คุมประพฤติโซลในเมืองอึยวัง ร่วมกับผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีฉาวสะเทือนประเทศ ทั้งนายลี แย จอง ผู้บริหารอาณาจักรธุรกิจซัมซุง และนางชอย ซุน ชิล เพื่อนสนิทของเธอ

ศูนย์คุมประพฤติแห่งนี้ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงโซล ประกอบด้วยห้องขังแยกหญิงชาย และอาคารอื่น ๆ ล้อมรอบด้วยรั้วลวดหนาม กำแพงสูง และหอสังเกตการณ์ นักการเมืองและนักธุรกิจเกาหลีใต้หลายคนเคยผ่านสถานที่แห่งนี้มาแล้ว เช่น อดีตประธานาธิบดีที่มีกองทัพหนุนหลัง เคยถูกจำคุกคดีสินบนในช่วงทศวรรษ 90 รวมถึงอดีตหัวหน้าสายลับ และนายเช แท วอน ประธานเอสเคกรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ

ผู้ถูกคุมขังส่วนใหญ่ต้องอยู่ในห้องขังขนาด 12 ตารางเมตรร่วมกันราว 6คน แต่ผู้ต้องหาคนดังได้อยู่ห้องขังคนเดียวเพื่อความปลอดภัย

รายงานข่าวระบุว่า จากสถานะของนางสาวปัก เธอได้อยู่ในห้องขังเล็ก ๆ ขนาด 6.5 ตารางเมตร มีที่นอนพับหนึ่งผืนวางไว้บนพื้นได้อาศัยนอน นอกนั้นมีโทรทัศน์ ตู้ใบเล็ก ห้องน้ำ อ่างน้ำเย็น นักโทษสามารถใช้ห้องอาบน้ำร้อนรวมได้สัปดาห์ละสองครั้ง แต่เธอก็อาจได้ย้ายไปอยู่ในห้องที่ใหญ่กว่านี้

อาหารสามมื้อที่นักโทษได้รับ ราคามืื้อละ 1,440 วอน (44.85 บาท) พวกเขาต้องรับประทานในห้องขัง แล้วล้างถาดก่อนส่งกลับคืนเจ้าหน้าที่ เรือนจำไม่อนุญาตให้นำอาหารจากภายนอกเข้ามา

นักโทษจะต้องสวมเครื่องแบบ ผู้หญิงสวมเครื่องแบบสีเขียว เจ้าหน้าที่จะเรียกชื่อในตอนเช้า 6.00 น. และตอนค่ำ 21.00 น. ได้รับอนุญาตให้ออกกำลังกายกลางแจ้งได้วันละ 1 ชั่วโมง ระหว่างถูกคุมขังอัยการสามารถเข้ามาสอบปากคำ และพวกเขาพบกับทนายความได้ โดยกรมราชทัณฑ์ไม่ได้จำกัดเวลาการหารือข้อกฎหมาย นักโทษร่ำรวยบางคนจึงใช้ประโยชน์จากระเบียบนี้ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหารือทนายที่ห้องเยี่ยม

ตัวอย่างเช่น นางโช ยุน ซุน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของนางสาวปัก ที่กำลังถูกพิจารณาคดีฐานขึ้นบัญชีดำศิลปินผู้วิจารณ์นางสาวปักไม่ให้ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ สามีของเธอเป็นทนายจำเลยคนหนึ่งด้วย นิตยสารรายเดือนจุงอังรายงานว่า นางโชใช้เวลากับสามีที่ห้องเยี่ยมตั้งแต่ 9.00 น-17.00 น. ทุกวัน

เป็นที่รู้กันดีว่า อดีตทนายความและนักการธนาคารอย่างนางโช นิยมใช้ชีวิตอย่างหรูหรา มีรายงานว่าเธอปรับตัวเข้ากับชีวิตในเรือนจำได้ยากมาก เธอไม่ยอมรับประทานอาหารจากโรงครัวเลย ส่วนใหญ่รับประทานแต่ผลไม้

ส่วนนางสาวปัก ถูกดำเนินคดีหลายกระทง ตั้งแต่รับสินบนไปจนถึงใช้อำนาจโดยมิชอบ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า เธอจะได้รับการปฏิบัติพิเศษขณะอยู่ในศูนย์คุมประพฤติหรือไม่ แต่การถูกควบคุมตัวถือเป็นการเสื่อมเกียรติยศ และเป็นความตกต่ำของหญิงคนหนึ่ง ที่เคยใช้ชีวิตในฐานะเจ้าหญิง ทางการเมืองของประเทศมานานหลายสิบปี

ธิดาวัย 65 ปี ของอดีตผู้นำเผด็จการปัก จุง ฮี ยังคงรักษาทรงผมสุดเฉียบเช่นเดียวกับมารดาผู้ล่วงลับ เธอได้รับความนิยมมากจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งสูงวัยสายอนุรักษ์นิยม แต่ละวันนางสาวปักจะไม่ยอมให้ใครเห็นเลยหากช่างผมประจำตัวไม่จัดแต่งทรงผมให้สวยงามเสียก่อน

วิถีปฏิบัติเช่นนี้ ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เมื่อกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมเธอถึงไม่ปรากฏตัวในชั่วโมงแรกๆ หลังเกิดอุบัติเหตุเรือเซวอลล่มเมื่อปี 2557 ที่เจ้าหน้าที่กำลังสับสนและต้องการการตัดสินใจจากผู้นำ

นางสาวปัก เชิญช่างผมหญิงสองพี่น้อง ที่คนในแวดวงความงามเผยว่า อาจมีค่าตัวถึง 500,000 วอนต่อครั้ง ไปทำผมที่บ้านพักส่วนตัวทุกวันนับตั้งแต่ออกจากทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อไม่กี่วันก่อน รวมถึงในช่วงกู้ซากเรือเซวอล ก่อให้เกิดเสียงเย้ยหยันว่อนโลกออนไลน์

“เวลาที่นางสาวปักไม่ได้ทำผม หรือตื่นขึ้นมาในเรือนจำ และรู้ว่าเธอไม่ได้ทำผมทรงที่ชอบอีกต่อไป เธอจะรู้เองว่าต้องเจอกับความจริงบทใหม่ที่ไร้สีสัน”นายลี ยอง จู ทนายความและอดีตอัยการ กล่าวกับสถานีวิทยุถึงชะตากรรมของอดีตผู้นำ