'หมอล็อต'ชี้คลิปยั่วโมโหช้างไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชม

'หมอล็อต'ชี้คลิปยั่วโมโหช้างไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชม

"น.สพ.ภัทรพล" วอนอย่าตะโกนหรือทำพฤติกรรมยั่วโมโหทำช้างหงุดหงิด ชี้ไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชม ลั่นเกิดอันตรายก็โทษช้างก้าวร้าวทั้งที่คนเป็นตัวกระตุ้น

จากกรณีโลกโซเชียลแชร์คลิปนักท่องเที่ยวขับรถเก๋งสีขาว พยายามแกล้งช้างป่าอุทยานฯ เขาใหญ่ ด้วยการตะโกนยั่วยุให้ช้างโกรธจนวิ่งไล่ ก่อนจะขับรถหนีแล้วนำมาโชว์ในโลกโซเชียล

น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อคลิปดังกล่าวปรากฏในโลกโซเชียล เราจะเห็นได้ว่าคนเข้ามาตำหนิติเตือนเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก ไม่มีใครชื่นชมเลย เป็นตัวชี้วัดการทำงานเชิงรุกของกรมอุทยานฯ ซึ่งนายธัญญา ได้สั่งการให้ประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวและประชาชนในเรื่องการดูแลสัตว์ป่ามาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากคนส่วนน้อยมากที่มีพฤติกรรมเหมือนที่ปรากฏในคลิป ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้หรือคึกคะนอง โดยมีพฤติกรรมตะโกนส่งเสียงดังท้าทายช้าง ซึ่งปกติช้างรับเสียงได้ความถี่ต่ำ ในระดับ 12-24 เฮิร์ต ดังนั้นเสียงตะโกนโหวกเหวกท้ายทายจึงเป็นเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง เป็นการรบกวนช้าง และทำให้พฤติกรรมของช้างเปลี่ยนเป็นหงุดหงิดได้

"ช้างตัวนี้เจ้าหน้าที่เรียกกันว่าพี่โยโย่ ถือเป็นนัมเบอร์วันในเวลานี้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากที่ผ่านมามีอาการบาดเจ็บจากการต่อสู้กับช้างตัวอื่น และตอบสนองต่อการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ซึ่งจะแสดงอาการหงุดหงิดง่าย ถึงแม้ว่าเคสนี้คนในรถจะไม่ได้รับอันตราย แต่ผลกระทบจะเกิดกับคนที่สัญจรไปมาทีหลัง ไม่ใช่ครั้งนี้คนในรถไม่เป็นอันตรายแล้วจบ แต่ผลกระทบได้เกิดกับสังคมและธรรมชาติแล้ว เพราะพฤติกรรมช้างเปลี่ยน และสิ่งที่ผมกังวลมากกว่านั้น คือในรถมีเด็กอยู่ด้วย เราไม่รู้ว่าตอนนั้นเด็กในรถรู้สึกอย่างไร จะรู้สึกสนุกไปด้วยหรือเกลียดกลัวช้างไปเลย พฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเท่ หรือควรนำมาโอ้อวด ขอให้ออกมารับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจสนุกในสายตาผู้ใหญ่ แต่เป็นการทำร้ายเด็กในรถ" น.สพ.ภัทรพลกล่าว

น.สพ.ภัทรพล กล่าวอีกว่า ที่สำคัญการไปกระตุ้นช้างในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากลำบากขึ้น เพราะทำให้พฤติกรรมช้างเปลี่ยนแปลง การถ่ายรูปเซลฟี่กับช้างหรือใกล้ชิดสัตว์ป่าบางคนอาจคิดว่าเท่หรือโก้เก๋ แต่ถ้าเกิดอันตรายใครจะรับผิดชอบ การอารักขา ดูแลช้างเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่หากเกิดอันตรายก็คืออยู่ในหน้าที่ แต่หากเกิดกับประชาชนหรือนักท่องเที่ยวช้างจะกลายเป็นจำเลยสิ่งแวดล้อม ทุกคนจะโทษว่าช้างทำร้ายคนหรือก้าวร้าว แต่จริงๆแล้วมีมูลเหตุในการกระตุ้น ขอร้องและวิงวอนว่าอย่าทำเหตุการณ์แบบนี้เด็ดขาด เพราะอุทยานฯ มีกฎระเบียบให้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และขอฝากเรื่องการใช้ถ้อยคำกับช้างป่าด้วย การไปเรียก "ไอ้" หรือ ใช้คำสนุกปากเป็นเรื่องไม่เหมาะสม อยากให้ใช้คำสุภาพเพราะช้างเป็นสัตว์ชั้นสูงคู่บ้านคู่เมือง อยากให้ทุกคนเคารพช้างเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามการที่ช้างมีภาวะหงุดหงิดเป็นเรื่องตามปกติตามธรรมชาติ เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ไม่ควรไปกระตุ้น สิ่งที่คอนโทรลและควบคุมได้คือพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว