เขตนวัตกรรม แฟลกชิพใหม่นักวิทย์

เขตนวัตกรรม แฟลกชิพใหม่นักวิทย์

ค่อนข้างชัดเจนว่า “เขตนวัตกรรม” ตามโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอจะปักหมุนอยู่ภายในวังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ทำหน้าที่สร้างนวัตกรรม โดยจะมี “หน่วยวิจัยหรือหน่วยนวัตกรรม” เพื่อทำงานร่วมกับภาคเอกชน

ค่อนข้างชัดเจนว่า “เขตนวัตกรรม” ตามโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอจะปักหมุนอยู่ภายในวังจันทร์วัลเลย์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ทำหน้าที่สร้างนวัตกรรม โดยจะมี “หน่วยวิจัยหรือหน่วยนวัตกรรม” เพื่อทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยมุ่งเน้นงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดได้ (Translational Research)

อีอีซีไอจะเป็นแหล่งรวมศูนย์ห้องปฏิบัติการและสนามทดสอบนวัตกรรม ศูนย์รับรองมาตรฐานนวัตกรรมทางด้านระบบและอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยจัดตั้งเป็นเขตทดสอบนวัตกรรมอัจฉริยะของประเทศ ตลอดจนการเป็นชุมชนการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีระดับสูงของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

กิจกรรมในอีอีซีไอจะเน้น 3 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ aripolis ประกอบด้วยระบบออโตเมชั่น หุ่นยนต์และสมองกล, ไบโอโพลิสที่มุ่งอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน พลังงานทดแทน อาหาร อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง ยา ฯลฯ, space krenovapolis เป็นส่วนงานเกี่ยวกับภูมิสารสนเทศ ดาวเทียม เทคโนโลยีการบินบางประเภท โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ปูทางสร้างบุคลากร

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า อีอีซีไอจึงเป็นการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่เรียนวิทยาศาสตร์โดยไม่ต้องกังวลว่าจะว่างงาน อีกทั้งการจ้างงานไม่ได้มีเฉพาะในหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่ยังมีสถาบันวิจัยของเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ

“เรายังต้องการบุคลากรอีกมาก จึงพยายามผลักดันนักเรียนทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้มาที่อีอีซีไอแต่ก็ต้องใช้เวลาเพราะมีขั้นตอนที่เป็นระบบ แต่แนวทางเตรียมบุคลากรรองรับในระยะเร่งด่วนคือ สร้างนักเรียนทุนปริญญาโทจากปริญญาตรีใช้เวลา 1-2 ปี ขั้นถัดไปคือ คนที่จบปริญญาโทไปเรียนต่อปริญญาเอก 4 ปี ทำให้ใน 2 ปีก็จะได้บุคลากรระดับปริญญาโทป้อนอีอีซีไอ ถัดไปอีก 4 ปีก็จะได้ระดับปริญญาเอก บวกกับบุคลากรที่มีในปัจจุบันจากที่ส่งไปเรียนในมหาวิทยาลัยเครือข่ายของ สวทช. หรือทุน คปก.ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยก็จะเป็นแหล่งบุคลากรสำคัญ”

แม้ปัจจุบันจะยังมองภาพของจำนวนบุคลากรวิจัยที่ต้องการในอีอีซีไอไม่ชัดเจน แต่ นายณรงค์ กล่าวว่า สัดส่วนนักวิจัย 3 คนต่อประชากร 1 หมื่นคนก็ยังไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเป็นนักวิจัย 20-25 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน และเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ไม่มีอีอีซีไอก็ยังขาดแคลน ด้วยเหตุนี้ การลงทุนพัฒนากำลังคนจึงไม่เสียเปล่าอย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกันก็ต้องการดึงนักวิจัยต่างประเทศ หรือนักวิจัยไทยในต่างประเทศให้กลับมาอยู่ในอีอีซีไอด้วย เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของวิธีคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่าง จะนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมจากความคิดที่หลากหลาย

ต้นแบบระบบนิเวศนวัตกรรม

นายณรงค์ อธิบายถึงขั้นตอนงานวิจัยที่จะเข้าร่วมโครงการอีอีซีไอว่า ขั้นตอนจากแล็บสู่ภาคอุตสาหกรรมนั้น ผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมนั้นจะต้องผ่านการทดสอบคุณภาพและคุณสมบัติ จึงต้องมีห้องปฏิบัติการทดสอบ (Testing Lab) เพื่อยืนยันผล


ต่อมาคือ การที่จะขยายสเกลการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการไปยังระดับอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีโรงงานต้นแบบ (Pilot plant) ที่ได้มาตรฐานสากลและสามารถปรับแต่งได้ จนได้กระบวนการผลิตที่พร้อมนำไปสู่การสร้างโรงงานผลิตจริง

โรงงานต้นแบบยังรองรับการผลิตสินค้าจำนวนไม่มากเพื่อส่งใช้ทดลองตลาดก่อนที่จะสร้างโรงงานจริง ถ้าตลาดตอบรับก็เดินหน้าสู่เชิงพาณิชย์ แต่หากไม่ดี ก็กลับไปวิจัย พัฒนาใหม่ ทดสอบ เข้าโรงงานต้นแบบและผลิตทดลองตลาดใหม่ ตอบโจทย์ทั้งสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีหรือแม้แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่

“เมื่อทุกอย่างลงตัว นวัตกรรมพร้อมสู่ธุรกิจจริงก็สามารถเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ในอีอีซีไอ เพื่อสร้างธุรกิจ ทำโรงงาน สร้างบริษัทได้เลย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำในขณะนั้น” นายณรงค์กล่าว

อีกส่วนหนึ่งที่อีอีซีไอจะต้องมีคือ พื้นที่ทดสอบหรือ Sandbox เพราะการวิจัยพัฒนาหลายอย่างจำเป็นต้องผ่านการทดสอบ เช่น อากาศยานไร้คนขับ ยานยนต์ไร้คนขับ จึงจัดเตรียม Test-based สนามทดสอบที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษสำหรับการทดลองอย่างสมบูรณ์ โดยจะยกเว้นกฎระเบียบหรือกฎหมายบางอย่างที่จะเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยพัฒนาในพื้นที่นี้