ขุนพลหนุ่มเรือใบทีมชาติไทย

ขุนพลหนุ่มเรือใบทีมชาติไทย

เด็กหนุ่มคนหนึ่งขอเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้เหล่านักกีฬาเรือใบทีมชาติไทยไปผงาดในระดับโลก

จากเด็กน้อยคนหนึ่ง สู่ 1 ในขุนพลเยาวชนเรือใบทีมชาติไทย “ตั้ม” นาวี ธรรมสุนทร นักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย ประเภท 470

ย้อนกลับไป 25 ปีที่แล้ว ครอบครัวของพันจ่าเอกสุธน ธรรมสุนทร ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งขึ้นมา และเมื่อเวลาผ่านไป เด็กชายเริ่มโตขึ้นจนรู้ความ เขาจึงติดตามพ่อไปที่ทำงานอยู่เสมอๆ

สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

“เริ่มจากพี่สาวแล่นเรือใบก่อนครับ ตอนนั้นเรายังเด็กก็ตามเขาไปเรื่อย พอดูไปดูมาก็เริ่มอยากเล่น เลยลองขอทางผู้ใหญ่เล่นดู เราก็เล่นสนุกๆ แบบเด็กทั่วไปแหละครับ เพราะตอนนั้นยังเล็กอยู่เลยไม่ได้จริงจังอะไรมาก แต่พอมาคิดย้อนกลับไปถึงตอนนั้นมันมีความสุขมากนะครับ เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง จากนั้นพออายุเราเริ่มมากขึ้น ความจริงจังในการแล่นเรือใบก็มากขึ้นตามเลยไปเข้าอบรมแล่นใบเบื้องต้น หลักสูตรเยาวชน (Optimist) รุ่นที่ 26 ครับ ซึ่งช่วงแรกก็จะเรียนทฤษฎีก่อน จากนั้นก็เริ่มฝึกแล่นใบไปกลับระหว่างทุ่นสองทุ่นครับ แต่ก่อนอื่นเราต้องว่ายน้ำเป็นด้วยนะครับ เผื่อเรือคว่ำจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้”

เมื่อรู้แล้วว่าความฝันของตัวเองคืออะไร ตั้มจึงไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ เขาเข้าอบรมการแล่นเรือใบในระดับที่สูงขึ้น ฝึกหนักขึ้น หาความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น รวมถึงเริ่มลงแข่งในประเทศมากขึ้นจนติดเป็น 1 ในขุนพลเยาวชนเรือใบทีมชาติไทย !

อกซ้ายของผมคือธงชาติไทย

รายการ Asean Optimist Championship 2005  ที่ประเทศมาเลเซียคือรายการแรกที่ตั้มลงแข่งในนามของนักกีฬาทีมชาติไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เด็กวัยเพียง 13 ปีจะปักธงชาติไทยไว้บนหน้าอกพร้อมกับแบกความหวังของคนไทยทั้งประเทศไว้ แต่เขาก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังพร้อมกับคว้ารางวัลที่ 5 ของอาเซียนมาครองได้สำเร็จ และเมื่อดีใจเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาเชื่อลึกๆ ว่าตัวเองในตอนนั้นต้องเก่งได้มากกว่านี้อีกเยอะ แล้วจะทำอย่างไรล่ะ...

“ซ้อมครับ เราต้องซ้อมมากขึ้นๆ เพื่อให้เห็นข้อผิดพลาดของตัวเองและนำมาพัฒนาแก้ไขต่อไป เพราะเรือใบเป็นกีฬาทางน้ำที่ท้าทายธรรมชาติ ประสบการณ์จึงจำเป็นอย่างมาก เราต้องคิดอยู่ตลอดเวลาและต้องรู้ว่าคลื่นแบบนี้ต้องทำยังไง เจอลมแบบนี้ต้องแล่นใบแบบไหน จะแล่นขวางลม ตามลม หรือกลับใบทวนลม สถานการณ์ไหนไปได้ ไปไม่ได้ ต้องรู้ทุกอย่างครับ โดยเฉพาะสติและสมาธิสำคัญมาก ถ้าตัดสินใจช้าไปเพียงเสี้ยววินาทีอาจจะต้องปรับแผนที่วางไว้แต่แรกใหม่ทั้งหมดเลย ยิ่งถ้าเป็นเรือที่เล่นหลายคนเราต้องมีสมาธิมาขึ้นไปอีก เพราะต้องรู้ตลอดเวลาว่าตอนนี้แต่ละคนกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งผมว่านี่แหละคือเสน่ห์ของเรือใบ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น เราถึงต้องคาดการณ์ธรรมชาติล่วงหน้าให้ได้มากที่สุดครับ” 

สำหรับการฝึกซ้อมของตั้ม เขากล่าวว่าในแต่ละวันนั้นจะต้องฝึกหลัก 3 เรื่องคือ 1.ด้านร่างกาย อย่างการวิ่งหรือเล่นฟิตเนส 2.ความคล่องตัวบนเรือ อาทิ การเคลื่อนไหวและการกลับตัวในเรือ เพราะภายในเรือไม่ได้เป็นทางเรียบ เราจึงต้องรู้ว่าควรจะก้าวไปทางไหน กระโดดไปทางไหนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก สุดท้ายคือฝึกจำลองการแข่งขันจริงทั้งเทคนิค วิธีการเล่น และเมื่อเจอคู่ต่อสู้แบบไหนต้องทำอย่างไร

สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร

แล้วผลการทำงานหนักของตั้มก็ตอบแทนเขาจนได้ ในปี พ.ศ. 2550 ตั้มได้ 2 เหรียญทอง ประเภท Optimist จากกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยเขาเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์กีฬาเรือใบที่ได้ถึง 2 เหรียญทอง และอีกสนามหนึ่งที่เขาภูมิใจเป็นอย่างมากคือรายการ International 420 World Championship 2010 ที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งถือเป็นการแข่งขันเรือใบระดับโลกที่เขาได้รับรางวัลเหรียญทอง ประเภท Junior World Championship 2010

“คติที่ผมใช้เป็นประจำในการแข่งขันคือ สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหารครับ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายังมีแรงเราจะสู้จนกว่าเกมการแข่งขันจะจบหรือเราไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว ไม่มีการยอมแพ้เด็ดขาด อีกอย่างคือทุกการแข่งขันไม่ว่าจะเจอกับใครเราต้องไม่ประมาทครับ เราต้องสู้ให้เต็มที่จนกว่าจะถึงเส้นชัย”

ใช้ความฝันเป็นแรงผลักดัน

ถึงแม้การแล่นเรือใบจะให้อะไรกับตั้มมากมายไม่ว่าจะเป็นความมีระเบียบวินัยที่เป็นนิสัยติดตัวมาตลอด รวมถึงประสบการณ์ชีวิตที่ต้องพบเจอผู้คนมากมายแตกต่างกันไป ทำให้มีมิตรภาพดีๆ เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แต่การที่เขาประสบความสำเร็จมากพอสมควรตั้งแต่ยังเด็กก็ทำให้ตั้มตั้งความหวังไว้สูงเช่นกันในแต่ละการแข่งขัน

“มันท้อครับ เพราะมันพลาด 2 ครั้งติดต่อกันเราเลยกลับมาทบทวนตัวเองว่า หรือเราควรจะเลิกเล่นดี เพราะในแต่การแข่ง นักกีฬาที่มาคือตัวแทนแต่ละประเทศทั้งนั้น พวกเขาคือสุดยอดของประเทศตัวเองแล้ว แต่เราล่ะเหมาะสมที่จะไปจริงๆ เหรอ”

ความผิดหวังกัดกินเขาได้เพียงไม่นาน ตั้มก็กลับมาเป็นคนเดิมอีกครั้ง เพราะเมื่อเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ยังไม่ถูกทำลาย เขาจะจมอยู่กับความทุกข์ตลอดไปได้อย่างไร เมื่อโอลิมปิก 2020 ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว เขาจึงใช้มันเป็นแรงผลักดันตัวเองให้กลับมาสู้อีกครั้ง เพื่อจะเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย ประเภท 470 คนแรกที่ได้ไปแล่นในโอลิมปิก...