คน เงิน ผี และรอยร่างแห่งการอพยพ

คน เงิน ผี และรอยร่างแห่งการอพยพ

หลากมิติของเรื่องราวที่พัดเพมาตามการอพยพของผู้คนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขับเคลื่อนของเงิน งาน อุตสาหกรรม และบางครั้งก็เป็นเพราะ “ผี”

เคยสงสัยไหมว่าทำไมผีกระสือจึงต้องถอดหัวพาเครื่องในเดินทางไปกลางอากาศ ทิ้งร่างแน่นิ่งไว้รอคอยการกลับมาของหัว ทำไมผีกระสือจึงมีลักษณะประหลาดเช่นนั้น? ที่จริงเราไม่ได้อยากจะมาชวนถกเถียงถึงความลึกลับของเรื่องผีไทยที่แสนคลาสสิค แต่ ณ ที่นี้ ผีกระสือ และ “ผี” กลายมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการอธิบายแนวคิดของงานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง ว่าด้วยมุมมองที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้อย่างน่าสนใจ

นิทรรศการศิลปะสื่อผสม People, Money, Ghost (Movement as Metaphor) ที่กำลังแสดงอยู่ที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน เป็นนิทรรศการกลุ่มของศิลปินในพำนัก (Artist in Residency) กลุ่มหนึ่งที่เดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนไปเคี่ยวกรำประสบการณ์ในต่างแดน และเคยสร้างผลงานที่ได้รับเสียงชื่นชมในระดับนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยมาแสดงในเมืองไทย นิทรรศการนี้พูดถึงการเดินทางอพยพของประชากรโดยเฉพาะชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเสนอความคิดและกระบวนการที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยการมองในมิติเดียว เช่น ผู้คนออกเดินทางด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐกิจแต่แฝงไว้ด้วยความเชื่อทางจิตวิญญาณ การเดินทางแสวงหาความหวังใหม่แต่ปลายทางกลับกลายเป็นความสิ้นหวัง หรือการมองโลกในมุมมองสมัยใหม่ของเด็กหนุ่มสาวจากประเทศตะวันออกที่มาเติบโตในประเทศตะวันตก การอพยพสร้างร่องรอยทับซ้อนกันไว้ตลอดทาง ให้พูดถึง ให้สืบค้น ให้เล่าต่อไม่รู้จบ

ตัวตนของชุมชนไร้รัฐ

เดินเข้ามาในส่วนแสดงนิทรรศการหลักจะพบกับกระท่อมทางมะพร้าวทั้งหลัง หนึ่งในงานชุด Day by Day (2014-7) ของ ไม หรือ เหงียน ธี ธันห์ ไม (Nguyen Thi Thanh Mai) ศิลปินชาวเวียดนาม ซึ่งยกมาสร้างไว้ทั้งหลังให้ได้สัมผัสประสบการณ์ของผู้อพยพชุมชนชาวเวียดนามไร้รัฐ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านลอยน้ำในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ชุมชนนี้ประสบความยากแค้นมาหลายทศวรรษ ทั้งถูกกวาดล้างช่วงสงครามอเมริกา – เวียดนาม และภายใต้การปกครองของเขมรแดงในกัมพูชา เป็นมนุษย์ที่ไร้สิทธิมนุษยชน การเข้าถึงคุณภาพชีวิตพื้นฐาน และการศึกษา เพราะไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ไมไปคลุกคลีเก็บข้อมูลอยู่ในชุมชนแห่งนี้เป็นปีๆ นอกจากเก็บเป็นวิดีโอยาว 1 ชั่วโมงแล้ว เธอยังถ่ายภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนลอยน้ำไร้รัฐนี้ไว้มากมาย ส่วนหนึ่งเราไม่อาจเห็นรูปร่างหน้าตาของพวกเขาได้ เพราะเธอระบายสีดำทับเอาไว้ทั้งตัว เพื่อแสดงถึงการถูกมองข้ามจากสังคม มีชีวิตแต่ไร้ตัวตน ภาพถ่ายเล็กๆ เหล่านี้ เคยจัดแสดงประกอบเป็นภาพใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ที่โฮจิมินท์ เมื่อนำมาแสดงที่นี่ ภาพถูกกระจายออกและส่องไฟเฉพาะเป็นรูปๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ทำให้ต้องเดินเข้าไปชิดเพื่อพิจารณา แม้จะเป็นด้วยเหตุผลทางกายภาพของสถานที่ แต่การจัดแสดงนี้กลับสามารถเปรียบเปรยได้ถึงปัญหาที่ถูกมองข้าม ต้องอาศัยการตระหนักรู้และใส่ใจจึงจะเข้ามาดูใกล้ๆ ในขณะที่ภาพอื่นมีขนาดเล็ก แต่ภาพเดียวที่มีขนาดใหญ่กลับถูกซ่อนไว้หลังหลังกระท่อม ไมบอกว่าชายในภาพนี้ คือลูกชายของบ้านหนึ่งซึ่งมีอาการออทิสซึ่ม เขาถูกเก็บตัวอยู่ในบ้าน และมุมที่เห็นในภาพถ่ายคือมุมเขาพักอยู่ประจำ ก็ตำแหน่งที่ถูกหลบอยู่หลังบ้านนี่แหละ ไมตั้งใจวางตำแหน่งภาพตามความเป็นจริงสิ่งที่อยากนำเสนอ

แต่เมื่อเข้าไปในกระท่อม เราจะได้พบกับ “รูปครอบครัว” ซึ่งเป็นการตัดปะภาพสมาชิกครอบครัวกับฉากหลังสถานที่ในฝันต่างๆ ไมทำงานร่วมกับห้องภาพในเวียดนามที่มักมีฉากภาพสถานที่แสนสวยต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกที่จะถ่ายและนำไปประดับบ้าน ภาพเหล่านี้ให้ความรู้สึกย้อนแย้งเข้าขั้นอึดอัดด้วยเรารู้อยู่แก่ใจว่าสถานที่เหล่านั้นอาจเป็นได้แค่ “ฝัน” จริงๆ ในเมื่อแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานพวกเขายังไม่อาจไขว่คว้ามาได้

เพราะไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ศิลปินจึงทำ “บัตรประชาชนปลอม” ขึ้นจากเศษผ้าของเสื้อผ้าที่พวกเขาใช้จริง เอกสารปลอมที่มีข้อมูลและใบหน้าจริงของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกันกับทุกคน

กระสือมหานคร สัตว์ประหลาดโอเพ่นซอร์ส

เงยหน้าขึ้นไป บนเพดานมีประติมากรรมวิดีโอ (Video Sculpture) รูปหัวผีกระสือลอยอยู่ สิ่งที่ฉายแสงลงมาแทนเครื่องในก็คือภาพเรื่องราวชีวิตสั้นๆ ชั่วขณะหนึ่งของวัยรุ่นชายที่ชอบพอกับชายหนุ่มอีกคนตั้งแต่แรกเห็น และไปออกเดทกัน กล้องติดตามภาพเคลื่อนไหววูบวาบเป็นชอตสั้นๆ เกือบไม่ประติดประต่อ แต่เรียงรวมกับแล้วเห็นชีวิตที่เคลื่อนผ่านรวดเร็วฉาบฉวยเหมือนวิดีโอแฟชั่น แล้วผีกระสือเล่า? งานนี้นำเสนอด้วยมุมมองสมัยใหม่และมีเนื้อหาทับซ้อนกันหลายชั้น เอมี่ เลียน และเอ็นโซ คามาโช (Emy Lien & Enzo Camacho) ศิลปินคู่ผู้ถ่ายทอดรูปลักษณ์ของผีที่คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกเล่าออกมาในลักษณะต่างๆ แต่มีจุดร่วมกันคือ ความเป็นสิ่งมีชีวิตในตำนานที่แยกร่างได้ ในเมืองไทยคือกระสือ ในกัมพูชาใช้ชื่อ “เอิบ” (Arb) ในฟิลิปปินส์ จะมีผีที่ชื่อว่า “มานานังเกล” (Mananangal) ซึ่งแยกร่างส่วนบนออกไปหลอกหลอนคน และทิ้งท่อนล่างไว้ในป่า ศิลปินสนใจผี หรือสิ่งมีชีวิตประหลาดนี้ทั้งความหมายแบบตรงตัว และความหมายโดยนัย พวกเขาเห็นว่าผีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชนิดนี้สะท้อนตัวตนที่ผันแปรไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนย้ายไปมามากกว่าติดตายอยู่กับ “บ้าน” และยากต่อการจำแนกด้วยตรรกะ เอมี่และเอ็นโซเห็นว่าผีประเภทนี้เปรียบเหมือน “สัตว์ประหลาดโอเพ่นซอร์ส” (Open-Source Monster) โดยยืมคำของโลกไอทีที่หมายถึงซอฟต์แวร์ที่เกิดจากการร่วมกันพัฒนาระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้งานช่วยกันพัฒนาต่อไป หัวนั้นคืออวัยวะสำคัญเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเคลื่อนย้ายและเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆ ไปไม่รู้จบ ในขณะที่ร่างกายท่อนล่างยังคงติดตรึงอยู่กับที่ เหมือนรากเหง้าที่ไม่อาจตัดขาด

เอมี่ เลียนมาจากครอบครัวเชื้อสายไต้หวันในอเมริกา เธอเป็นชาวอเมริกันที่เกิดและเติบโตในอเมริกา ในขณะที่เอ็นโซ เป็นชาวฟิลิปปินส์ที่ไปเรียนต่อที่อเมริกา เอมี่สนใจเรื่องผี แต่เธอไม่ได้เติบโตมาท่ามกลางความเชื่อเรื่องผี หรือมีเรื่องเล่าพื้นบ้านสยองขวัญหล่อหลอมมา เมื่อมาทำความรู้จักกับผีกระสือ เธอจึงมองเห็นลักษณะแสนประหลาดของผีชนิดนี้ในเชิงอุปมาอุปไมย เอ็นโซก็เช่นกัน สิ่งที่ดึงดูดพวกเขาคือ “ความหลอกหลอน” ของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แล้วสื่อผ่านหัวลอยฟ้าและลำไส้ส่องแสง

โยงใยความเชื่อและผีในความฝัน

เสื้อเกราะในพิพิธภัณฑ์ที่เบอร์ลินเชื่อมโยงอย่างไรกับชาวกัมพูชา? เมื่อครั้งที่ ไขว สัมนาง (Khvay Samnang) ศิลปินกัมพูชา หนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดของกัมพูชา ได้เข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนักที่คุนสท์เลอร์เฮาส์ เบทาเนียน (Kunstlerhaus Bethanien) ณ เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี กิจกรรมที่เขาชื่นชอบคือการชมพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายในเบอร์ลิน และเขาก็ประทับใจเสื้อเกราะจากศตวรรษที่ 15 มาก การค้นคว้าหาทางที่จะทำงานอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับเสื้อเกราะ ทำให้เขาได้ไปเจอประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่เชื่อมกัมพูชากับเยอรมนีเข้าไว้ด้วยกัน เป็นหน้าที่คนวงกว้างลืมเลือนกันไปแล้ว

Yantra Man (2015) ถ่ายทอดเรื่องราวในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทหารกัมพูชาที่ถูกส่งไปร่วมรบกับกองทัพฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผลงานชิ้นนี้เป็นประติมากรรมเหล็ก โดยมีพระเครื่อง ผ้ายันต์ และสายสิญจน์ เครื่องรางของชาวเขมรติดตัวไป ไขว สัมนาง เล่าว่าเขาได้ไอเดียมาจากการตอนที่ครอบครัวและญาติเขามาส่งเขาเดินทางไปยุโรป ครอบครัวได้มอบผ้ายันต์ติดตัวเพื่อคุ้มครองให้รอดปลอดภัย ราวกับว่าการเดินทางไกลไปทำงานศิลปะนั้นเต็มไปด้วยภยันตราย ไม่ต่างจากการไปรบของทหารกัมพูชาในยุคนั้น เป็นการสะท้อนประสบการณ์ของคนในประวัติศาสตร์และคนร่วมสมัยที่ต้องไปทำงานไกลบ้านเกิดเมืองนอน

งานอีกชิ้นของไขว สัมนางมีความหลอนของผีและอุตสาหกรรมมาบรรจบกัน Rubber Man (2014) งานวิดีโอประกอบสื่อจัดวางที่เป็นแทรกเตอร์ไม้แกะสลักวางบนดินแดง พูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของการบุกรุกพื้นที่ป่า และสวนยางเก่าในพื้นที่จังหวัดรัตนคีรี ภาพชายเปลือยคนหนึ่ง (ซึ่งแสดงโดยตัวศิลปินเอง) ราดน้ำยางสีขาวรดตัวเคลือบไปทั้งร่างวิ่งผ่านป่ายางทิ้งร้างและป่าปลูกซึ่งกำลังถูกทำลาย ไขว สัมมนางบอกว่า มีอยู่คืนหนึ่งเขาฝันถึงผู้ชายตัวสีขาว นำทางเขาเข้าป่า ผู้ชายคนนั้นเป็นใคร ต้องการอะไร ฝันประหลาดครั้งนั้นนำเข้าขึ้นเหนือไปยังเมืองรัตนคีรี เมื่อได้เห็นป่าที่นั่น เขาก็รู้สึกคุ้นเคยเหมือนป่าที่เห็นในฝัน ไขว สัมนาง เข้าใจว่าผู้ชายตัวสีขาวนั้น อาจจะเป็นจิตวิญญาณแห่งป่ายางซึ่งมาดึงคนเมืองอย่างเขาเข้าไปรับรู้เรื่องการบุกรุกป่า เพื่อประท้วงหรือเรียกร้องขอป่ากลับมา เขาจึงนำเสนอออกมาเป็นงานศิลปะ เพื่อกระตุ้นเตือน และเป็นอีกเสียงหนึ่งที่ร้องออกไปแทนชายตัวสีขาวผู้นั้น “เมื่อป่าสูญสิ้นไป ดวงวิญญาณพื้นเมืองแห่งที่ราบสูงจะไปสิงสถิตอยู่ที่ใด”

นิทรรศการ People, Money, Ghost (Movement as Metaphor) นี้มี โรเจอร์ เนลสัน (Roger Nelson) เป็นภัณฑารักษ์ ในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ผู้พำนักอยู่ในกรุงพนมเปญ เขาสนใจความเป็นไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และงานวิจัยปริญญาเอกของเขาคือการศึกษาคำถามที่มีต่อความเป็นสมัยใหม่และสภาวะร่วมสมัยในงานศิลปะ โดยมีประเทศกัมพูชาและภูมิภาคโดยรอบเป็นกรณีศึกษา นิทรรศการนี้จึงถ่ายทอดเรื่องของการเคลื่อนผ่านของอุตสาหกรรม การอพยพของผู้คนทั้งเชิงกายภาพและความคิดที่มีผลต่อพื้นที่และการใช้ชีวิต เรื่องราวจำนวนมากทับถมกันจนหลายครั้งถูกลืมเลือน แต่การตั้งคำถามของศิลปินที่ไม่มีผู้ใดสร้างงานเหล่านี้ขณะอยู่ใน “บ้านเกิดเมืองนอน” ประสบการณ์ “ไกลบ้าน” ส่วนตัวของศิลปินเองทำให้เมื่อมองย้อนกลับไปในความเคลื่อนไหวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยิ่งเป็นการสร้างงานในมุมที่เฉพาะมากขึ้นไปอีก

สำหรับผู้ที่แสวงหาใจความร่วมสมัยในงานศิลปะไปชมกันได้ที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน วันนี้ถึง 18 มิถุนายน 2560