Made by Microwave ความเบ็ดเสร็จของชีวิตสำเร็จรูป

Made by Microwave ความเบ็ดเสร็จของชีวิตสำเร็จรูป

ในแววตาเฉยชาของสาวผมบ๊อบซ่อนคำถามและคำวิพากษ์อยู่ เมื่อสบตาแล้วก็จำได้ไม่ลืม

Kanith กนิษ หรือ กนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง บอกว่าการวาดภาพในช่วงแรกของเธอยังไม่ได้เล่าเรื่องอะไรมาก เป็นเพียงแต่การวาดภาพประกอบเพื่อค้นหาเทคนิคและสไตล์เท่านั้น แต่เราว่าคำถามในใจก็ปรากฏขึ้นในลายเส้นอยู่ดี การมองโลกของกนิษอาจจะเกิดจากความชอบสังเกตสิ่งแปลกๆ เธอยอมรับว่าตัวเองเป็นเด็กแปลกๆ ชอบไปเล่นในที่แปลกๆ ไม่ค่อยชอบเรียน แต่ชอบวาดรูป แม้ไม่เคยคิดว่าโตขึ้นจะต้องมาทำงานด้านศิลปะ แต่ก็เลือกเรียนสาขาโมชั่นกราฟฟิค คณะดิจิทัลอาร์ต ของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกเพราะความหลากหลายของการเรียนการสอนซึ่งดีกับตัวของกนิษเอง ไม่นานมานี้เธอก็เพิ่งจบปริญญาโท เอกทัศนศิลป์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระเจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่นี่ช่วยทำให้ความคิดของเธอมีมิติและเป็นระบบมากขึ้น

Made by Microwave คือนิทรรศการรวมผลงานชุดที่กนิษถ่ายทอดความคิดลงไปในตัวงานมากกว่าที่เคย กนิษอาจเหมือนลูกหลานเชื้อสายจีนในไทยอีกมากมาย ที่พอถึงเจนเนอเรชั่น 3 แล้ว ก็ยังคงเติบโตมาโดยเห็นขนบจีนที่สืบทอดมา แต่อาจไม่ได้รับคำอธิบายมากกว่าการทำตามบรรพบุรุษ ท่ามกลางควันธูปเป็นกำๆ การกินข้าวล้อมวงเป็นโต๊ะจีน การพูดคุยอัพเดทเส้นทางชีวิตกับเหล่าญาติผู้ใหญ่ ที่หวังให้ลูกหลานอยู่ในเส้นทางของความสำเร็จ...ที่แสนสำเร็จรูป วิถีโบราณในเมืองใหญ่ที่หมุนเร็ว เพื่อจะให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ก็ต้องอาศัยความสำเร็จรูปหลายสิ่งเพื่อลัดขั้นตอน ลดเวลา ลดความยุ่งยากลง ไมโครเวฟเป็นสัญลักษณ์นั้น และอาหารก็เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่เช่นกัน

“ความสำเร็จรูปมันเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายเราเลย  เราคิดว่าร่างกายของเราครึ่งหนึ่งเป็นของสำเร็จรูป คือแบบถูกผลิตมาตรงตามมาตรฐานโรงงาน  มี ISO อะไรแบบนั้น เพราะเราเข้าเรียนในระบบ จบตามเกณฑ์ หาทางลัดไปเพื่อสร้างอนาคต  เพื่อที่จะได้เอาเวลาที่เหลือในชีวิตไปทำอย่างอื่น เหมือนที่เรากินข้าวเวฟเพื่อจะได้มีเวลานอนมากขึ้นน่ะ”

ศิลปินไม่เคยต้องการขยายทุกอย่างออกมาให้จะแจ้ง “เราไม่ได้ตั้งใจจะส่งข้อความที่ตายตัวออกไปอยู่แล้ว แต่อยากให้ดูชวนหัว จับบางอย่างมาชนกันให้เกิดส่วนผสมใหม่ที่คนดูจะได้ชงมันขึ้นเอง บางอย่างพูดมากไปคนก็ไม่ฟัง ตั้งทิ้งไว้กลับจะดูน่าสนใจกว่า”

ความขมุกขมัวชวนหัวที่แฝงอยู่ในภาพวาดสีสด วางองค์ประกอบน้อยนิ่ง กับสีหน้าเรียบแววตาว่างเปล่าของสมาชิกในครอบครัวที่ล้อมวงโต๊ะจีนอยู่ จานหมี่ผัดที่โปะลงบนหน้าลูกสาว กับหม่าม้าที่นั่งอยู่ข้างๆ อย่างไม่แยแส หรือจะเป็นคนลงมือจัดวางจานหมี่ด้วยตัวเอง? ศีรษะที่วางอุ่นอยู่ในเตาไมโครเวฟพร้อมกระถางธูปตั้งบูชาอยู่ตรงหน้า ผู้หญิงที่หั่นแขนของตนพร้อมปรุงอาหารในชามเขียนลายคราม ท่ามกลางองค์ประกอบที่คุ้นเคยเหมือนการใช้ชีวิตในครอบครัวธรรมดา แต่เมื่อทุกอย่างดูผิดที่ผิดทาง และผู้คนเลือกจะนิ่งงันกับความผิดแผกนั้น ความขันแบบร้ายก็เกิดขึ้น และทำให้ใคร่รู้ว่าศิลปินมองสังคมรอบตัวด้วยมุมแบบไหนกันจึงสร้างงานอารมณ์นี้ออกมา

“เรามองว่าบ้านเรามันเป็นสังคมที่มีชนชั้นนะ ชนชั้นที่ละมุนละม่อม เมตตากรุณาปราณีเบอร์ไหนสำหรับเรามันก็คือชนชั้นอะ วิถีชีวิตเรามันเลยซ้อนไปด้วยความจริงปนไม่จริง ด้วยความที่เงื่อนไขบางอย่างมันไม่ได้อ้างอิงเหตุผลแบบทั่วไป มันเลยไม่ตรงไปตรงมา จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน อย่างเช่นเด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ ที่ไม่เคยเคารพพวกเขาเลย เขาจะรู้เหรอว่าอะไรคือความเคารพ คนเราควรเคารพกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ แล้วการเคารพกันระหว่างเจเนอเรชั่นทำไมมันต้องมีเงื่อนไขพิเศษ เราแยกแยะคำว่าเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนตัวกันไปคนละทิศคนละทาง คือมันย้อนแย้งกันไปหมด มันประหลาดดี แต่มันก็หล่อหลอมตัวเราขึ้นมาเป็นแบบนี้นะ”

เพราะไม่อาจปฏิเสธตัวตนที่เติบโตมา แต่ยังครุ่นคิดสงสัยอยู่ ผู้หญิงผมบ๊อบแววตาเฉยชาจึงปรากฏอยู่ในงานของกนิษเสมอ “ก็เป็นการเอาตัวเองไปใส่ในสถานการณ์ต่างๆ แล้ววิพากษ์วิจารณ์ด้วยการอยู่เฉยๆ” แบบนี้นี่เองที่เขาว่ามวลชนพลังเฉยนั้นมีจำนวนมากกว่าที่คิด ไม่ต่างจากคนอีกจำนวนมากที่ “รู้สึก” กับสถานการณ์รอบข้าง แต่ด้วยความที่สังคมไทยมีเงื่อนไขเฉพาะที่ทำให้เราไม่อาจแสดงออกหรือวิพากษ์ตามใจคิดได้ จึงเลือกที่จะเฉย

และบางครั้งความเฉยก็ถูกระบายออกมาเป็นภาพวาดที่ไม่ต้องการคำอธิบาย แต่ทุกคนรู้สึกได้ ภาพที่เหมือนจะเป็นชีวิตปกติแต่กลับไม่ธรรมดา เหมือนกับภาพวาดของศิลปินชื่อดัง Edward Hopper ที่นำเสนอภาพวาดออกมาในกลุ่มสัจนิยม (Realism) ที่เลือกวาดภาพชีวิตปกติ กิจกรรมธรรมดา และสิ่งง่ายๆ รอบตัว แต่ด้วยจังหวะขององค์ประกอบ สี และแสงเงาที่ใช้ในงาน ทำให้งานมีแรงดึงดูดบางอย่างให้ไม่อาจละสายตา และจมดิ่งไปกับบรรยากาศของภาพนั้น

กนิษได้แรงบันดาลใจการเขียนภาพอย่างจริงจังมาจาก Edward Hopper นี่แหละ งานของเขาทำให้เธอเปลี่ยนจากการวาดภาพเล่นในอินเตอร์เน็ท มาค้นหาแนวทางของตัวเอง

“เราชอบ Attitude ของเขามากที่ว่าช่างมันไปเถอะว่าอะไรมันจะเป็นศิลปะหรือไม่เป็น สนใจอะไรก็ทำไป มันซื่อสัตย์ดี เหมือนกับวิธีการเขียนรูปขอองเขา แล้วมันก็เหมาะกับคนแบบเรา ศิลปินหลายคนมี passion ในงานศิลปะเป็นอย่างมาก บางคนมีความสนใจในหลายด้าน แต่ก็มาทำงานศิลปะ เราว่าเราเป็นอย่างหลัง”

ความสนใจของกนิษเพิ่งเริ่มต้น น่าติดตามว่าเธอจะเลือกไป “วิพากษ์เฉยๆ” ในสิ่งใดอีก แวะไปชมผลงานชุดนี้ของเธอได้ที่ The Gallery ชั้น 36 โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี (สีลม) ได้ถึงวันที่ 21 พฤษภาคมนี้