ชัยภูมิ ป่าแส...สะท้อนปมสัญชาติและอคติชาติพันธุ์

ชัยภูมิ ป่าแส...สะท้อนปมสัญชาติและอคติชาติพันธุ์

ชัยภูมิ ป่าแส...สะท้อนปมสัญชาติและอคติชาติพันธุ์

กำลังจะเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ค่อยๆ เงียบหายไป สำหรับการเสียชีวิตเพราะถูกวิสามัญฆาตกรรมของ นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา บริเวณด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยเขาถูกกล่าวหาว่ามียาบ้าจำนวน 2,800 เม็ดในรถที่นั่งมา และพยายามขัดขืนการจับกุมด้วยการจะปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหาร

ชัยภูมิเป็นเพียงหนึ่งใน “คนชายขอบ” จำนวนมากซึ่งต้องสังเวยชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตัวอย่างเช่นหนุ่มชาวลีซอที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมคล้ายๆ กัน บริเวณด่านตรวจแห่งเดียวกันเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หรือราวๆ 1 เดือนก่อนหน้า ด้วยข้ออ้างพยายามปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่เหมือนๆ กัน จนถึงขณะนี้คดียังไปไม่ถึงไหน

ย้อนกลับไปช่วงรัฐบาลในอดีตที่เคยประกาศสงครามกับยาเสพติด และมีการ “ฆ่าตัดตอน” ไปมากกว่า 2,500 ศพ คนกลุ่มหนึ่งที่ถูกสังหารเยอะมากก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีบัตรประชาชน เพราะไม่ได้รับสัญชาติไทย

คดีของ "ชัยภูมิ ป่าแส" และการวิสามัญฆาตกรรมคนชายขอบที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่คนทั่วไปก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก สะท้อนปัญหา “อคติทางชาติพันธุ์” ที่ซ่อนซุกอยู่ในสังคมไทย ท่ามกลางการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติที่ตกหล่นทั้งๆ ที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยเหมือนคนอื่นๆ 

เป็นข่าวมานานกว่าครึ่งเดือน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าชาติพันธุ์ลาหู่เป็นใครกันแน่ จริงๆ แล้วชาวลาหู่ ก็คือชาวมูเซอ เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งในประเทศไทย แบ่งได้ถึง 23 กลุ่ม อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก

ชาวลาหู่ หรือมูเซอ มีภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่มีความสามารถด้านการร้องเพลงและการละเล่นต่างๆ เหมือนกับ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมวัยรุ่นชาวลาหู่ ก็มีความสามารถในการร้องเพลงและเล่นดนตรี มีผลงานเพลงเชิงสร้างสรรค์หลายเพลง โดยเนื้อเพลงเป็นภาษาไทย เพราะพูดและฟังภาษาไทยได้อย่างชัดเจน เพียงแต่เขาไม่มีสัญชาติไทย และกิจกรรมที่ชัยภูมิ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “จะอุ๊” เคลื่อนไหวรณรงค์มาตลอด ก็คือการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ

ข่าวดีสำหรับชัยภูมิ แต่เขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่เพื่อรับผลของมัน ก็คือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยตามมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ก่อนชัยภูมิจะถูกยิงเสียชีวิตเพียง 3 วัน สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ก็เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้สัญชาติไทยแก่บุตรของชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในประเทศไทย ตลอดจนเด็กนักเรียน นักศึกษา และผู้สำเร็จการศึกษาแล้วที่เกิดในประเทศไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวอื่นที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา บอกว่า ชัยภูมิ ป่าแส ได้รับการสำรวจจากหน่วยงานภาครัฐเมื่อปี 2550 และได้บัตรเลขศูนย์ เรียกว่าเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งเป็นแค่บัตรชั่วคราว รอการพิสูจน์ แต่กรณีของชัยภูมิ ซึ่งเป็นชาวลาหู่ ชาวเขาเผ่าดั้งเดิมของประเทศไทย ย่อมถือว่าเป็นชนพื้นเมืองติดแผ่นดินไทย จึงมีสิทธิ์์ได้สัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559

"ทำไมดูเหมือนกับว่าน้องเข้าข่ายกับกฎหมายเมื่อวันที่ 7 แต่ทำไมน้องยังไม่ได้สัญชาติ ต้องขึ้นกับพ่อแม่ วันที่ 7 แล้วให้กับคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือพ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อยแต่ของน้องชัยภูมิเข้าใจว่าพ่อแม่เนี่ยไม่น่าจะมีเลขหรือว่ามีอาจเป็นเลขอื่น อาจจะต้องตรวจสอบ อันนี้ต้องไปเช็คกับพ่อแม่ กลุ่มสองคือต้องจบปริญญาตรี น้องต้องเกิดไทยและจบปริญญาตรี ตอนนี้น้องชัยภูมิก็ได้เรียนถึงชั้นม.5" ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าว

แม้ว่าในปัจจุบันเกือบร้อยละ 90 ของชาติพันธุ์ลาหู่ จำนวน 1 แสน 2 หมื่นคน ถึง 1 แสน 5 หมื่นคน จะได้สัญชาติไทยแล้ว และมากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถพูดและฟังภาษาไทยได้ แต่ก็ยังมีชาวลาหู่บางส่วนไม่ได้สัญชาติ และถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตามอง

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา บอกว่า การได้หรือไม่ได้สัญชาติไทยของกลุ่มชาติพันธุ์ มีเงื่อนไขอยู่หลายประการ แม้จะมีกฎหมาย ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีพยายามปลดล็อคให้แล้วก็ตาม

แล้วนอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขที่ได้สัญชาติและไม่ได้สัญชาติอีกไหม ?

"การได้สัญชาติหรือไม่ได้สัญชาติไทย หลักใหญ่คือตามกฏหมาย พ.ร.บ.สัญชาติ มีอยู่ 2 หลัก อันแรกเรียกว่าสายเลือด ถ้าพ่อหรือแม่ของชัยภูมิเป็นคนไทย น้องชัยภูมิได้ไทยทันที หลักที่ 2 เขาเรียกว่าหลักดินแดน น้องชัยภูมิเกิดประเทศไทย มีหลักฐานการเกิดชัด ก็ได้สัญชาติไทย แต่ว่าหลักดินแดนบ้านเรามีข้อยกเว้นไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ถ้าพ่อน้องชัยภูมิเป็นคนที่เข้าเมืองชั่วคราว ถือพาสปอร์ตเข้ามาก็เป็นคนต่างด้าว แต่หากถือพาสสปอร์ตเข้ามาท่องเที่ยว มาอยู่ น้องชัยภูมิเกิดในประเทศก็ไม่สามารถได้เป็นสัญชาติไทย กลุ่มสอง พ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อย คือเป็นแรงงานต่างด้าวก็ไม่ได้สัญชาติไทย กลุ่มสาม คือกลุ่มที่เข้าเมืองมาโดยผิดกฎหมาย อยู่เกินเวลาก็ไม่ได้สัญชาติไทย น้องชัยภูมิที่ผ่านมาเข้าใจว่า พ่อแม่เป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสามกลุ่มนี้" ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา บอก

เงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งที่ยกเว้นการให้สัญชาติแก่กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะมีคุณสมบัติอื่นเหมาะสมอย่างไรก็ตาม นั่นก็คือ พฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และประเด็นนี้เองหลายๆ กรณีถูกใช้เพื่อเป็นเหตุผลบังหน้าอคติทางชาติพันธุ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และนำมาสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งคดีของนักกิจกรรมชาวลาหู่ แม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ชัดในชั้นศาล แต่พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ก็บ่งชี้ไปในแนวทางนั้น

"ในคดีของน้องชัยภูมิ รัฐอาจมองว่าอาจจะมีเรื่องของความมั่นคง แต่ว่าอีกมุมหนึ่งก็ส่งผลเสีย จริงๆเรื่องของความมั่นคงและเรื่องของสิทธินุษยชนคือเรื่องเดียวกัน การที่เราเจอใครก็ไม่รู้ คนดีดีที่ไปยิงเค้าตาย สังคมไม่ยอมรับ ถามว่ารัฐมั่นคงตรงไหน ที่ทำไปมันก็รุนแรง เกินเหตุ สังคมไม่ยอมรับ ปัญหาสังคมขึ้นมา เรื่องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่เข้ามาในประเทศไทยให้สัญชาติไทยหมดคนก็แห่เข้ามา ความมั่นคงก็ไม่ได้ สิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้ ที่จริงสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด ที่ผ่านมาเราคิดว่าเป็นคนละเรื่อง ถ้าเราไปเน้นความมั่นคง สิทธิมนุษยชนก็ต้องเสียแต่จริงๆแล้วสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเกิดเราไปดูทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่ความมั่นคงดี สิทธิมนุษยชนก็ดีด้วย ถ้าสิทธิมนุษยชนเสีย ความมั่นคงเค้าก็เสียด้วย บ้านเราถ้าเราเข้าใจว่าสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเราดูแลคนดี ดูแลตามขั้นตอนสิทธิมนุษยชนเราก็ได้ ผมคิดว่าเราต้องปรับแนวคิดตรงนี้ใหม่ สมมุติ การที่น้องเค้าไม่ได้ทำผิดแต่เราไปยิงตาย ความมั่นคงก็ไม่ได้ สิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้ แต่ถ้าเกิดน้องเค้าทำความผิดจริงสมมุติ เราก็ดำเนินตามขั้นตอน ตามกฏหมาย จับติดคุกไป สิทธิมนุษยชนเราก็ได้ ก็ไม่ได้ละเมิดสิทธิ ความมั่นคงเราก็ได้ เราเอาคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการ สองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน" ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าว

ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับร่วมกันก็คือ แม้จะเป็นคนไร้สัญชาติ ก็ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี พึงได้ นั่นก็คือความคุ้มครองทางด้านร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง การเดินทาง สาธารณสุข และการศึกษา หากรัฐดูแลดีตามขั้นตอน ปัญหาต่างๆ ที่จะกระทบกับความมั่นคงก็จะลดลงไปในที่สุด