เพื่อนทุกข์...ตุ๊กตาวิเศษ

เพื่อนทุกข์...ตุ๊กตาวิเศษ

เรื่องราวของตุ๊กตาที่มีมากกว่าความน่ารัก เป็นอะไรได้มากกว่าเพื่อนเล่น และทำในสิ่งที่สังคมอาจไม่คาดคิด

............................

โอบอ้อมและ อารีย์ ตุ๊กตาผ้าสีสันสดใส ดูเผินๆ ไม่ต่างจากตุ๊กตาเด็กหญิงและเด็กชายทั่วไป เพียงแค่ริมฝีปากที่เผยออยู่นั้นมีช่องว่างพอให้ใส่นิ้วเข้าไปได้ แต่เมื่อถอดเสื้อผ้าออกจนล่อนจ้อน สิ่งที่ต้องประหลาดใจคือ ตุ๊กตาเหล่านี้มีทั้งอวัยวะเพศและช่องทวาร....

“เราเรียกว่า ตุ๊กตาวิเศษ ในความหมายที่ว่าตุ๊กตาทั่วไปเขาบอกเล่าอะไรไม่ได้ เขาไม่มีพลังอำนาจ แต่ตุ๊กตาแบบนี้เขาเล่าเหตุการณ์ได้ นั่นคือความวิเศษ” อลิชา ตรีโรจนานนท์ อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำจำกัดความ

แม้จะเพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ไม่นาน แต่ตุ๊กตาวิเศษก็เป็นโครงการที่ชวนให้สังคมช่วยกันส่องไฟไปยังมุมมืด และยื่นมือเข้าไปประคองเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อจากการล่วงละเมิดทางเพศให้สามารถลุกขึ้นยืนต่อสู้กับความจริงอันโหดร้ายได้อย่างน่าชื่นชม

 

ตุ๊กตาสื่อรัก 

จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากคำปรารภในเฟซบุ๊คของตำรวจผู้ทำคดีเกี่ยวกับการทารุณกรรมทางเพศเด็กที่ประสบปัญหาในการสอบสวนเหตุการณ์เนื่องจากเด็กไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ว่าตนเองถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างไร และทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีเครื่องมืออะไรนอกจากตุ๊กตาที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด สะกิดใจสองสาวซึ่งคนหนึ่งเป็นอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน อีกคนเป็นศิลปินให้ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

“ที่ผ่านมาเราค่อนข้างมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับเด็ก บางทีความเข้าใจของเขากับเรามันไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้เข้าใจ อาจจะติดขัดเรื่องความรู้ ศัพท์บางคำที่ไม่ตรงกัน อวัยวะเพศแต่ละบ้านก็เรียกไม่เหมือนกัน ตุ๊กตามันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การสื่อสารกับเด็กมันเข้าใจกันได้มากขึ้น”พ.ต.ต.หญิง วรรณภา โชตินอก ศูนย์พิทักษ์เด็ก เยาวชน สตรี และการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจภูธร ภาค 5 เล่าปัญหาพร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องได้ข้อเท็จริงอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศว่า

“บางทีข้อกฎหมาย รายละเอียดนิดนึงมันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเคสเมื่อประมาณปี 56-57 เราทำงานกับกลุ่มเด็กเร่ร่อน ซึ่งบางคนก็มีปัญหาด้านสติปัญญาด้วย ทีนี้มันมีเรื่องที่เขาถูกละเมิด เป็นเด็กผู้ชายที่ถูกผู้ใหญ่ละเมิด ตอนนั้นก็ยังใช้ตุ๊กตาเหมือนเป็นพวงกุญแจทีมันมีแข้งมีขายื่นออกมานิดเดียว คุยไปคุยมาเราก็งง เขาก็งง ไม่ชัดว่าเขาถูกอวัยวะอะไรที่ล่วงล้่ำเข้าไปในทวารหนักของเขา ก็เลยอยากได้ที่มีอวัยวะครบทั้งเพศหญิงเพศชาย มีรูทวาร มีรูที่ปาก อันนี้ก็ทำให้เราสื่อสารได้ง่ายขึ้น ซึ่งเคสเด็กเล็กๆ น่าจะได้ใช้ประโยชน์มาก”

ไม่เฉพาะแต่เด็กที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญาเท่านั้น เด็กเล็กๆ เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ การสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน อ.อลิชา หนึ่งในผู้ริเริ่มทำตุ๊กตามีอวัยวะ อธิบายเพิ่มเติมว่า

“เวลาที่เด็กเป็นผู้เสียหาย บางทีจะสื่อสารอะไรกันมันลำบาก เด็กเล็กพอพูดถึงการทารุณกรรมทางเพศ เราแค่ถามว่าน้องโดนทำอะไรมา บางทียังเล่าลำบาก เล่าไม่ถูก แล้วคือวุฒิภาวะที่น้อย การจะบอกว่าเขาโดนจับก้น แล้วเหมาะสมไม่เหมาะสม บางทีเขาเล็กเกินกว่าจะแยกออก จับก้นกับจับแก้มอาจจะไม่ได้ต่างอะไรกันในความคิดของเขา แล้วหลายครั้งที่ผู้เสียหายเป็นเด็กชนเผ่าพื้นเมือง ชื่อเรียกอวัยวะต่างๆ ก็ต่างกัน คือเอาแค่ภาษาไทยในแต่ละบ้าน บางทียังเรียกไม่เหมือนกันเลยเจ้าหน้าที่ก็สื่อสารลำบาก”

ยิ่งไปกว่านั้น อีกเหตุผลที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ บาดแผลในใจของผู้ถูกล่วงละเมิด ซึ่งตุ๊กตาสามารถบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดจากการเล่าซ้ำเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้บ้าง

“เราต้องค้นหาว่าสิ่งที่เด็กถูกกระทำคืออะไร แต่บางทีเด็ก หรืออาจจะไม่ใช่เด็กก็ได้ เขาอยากจะลืมสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับตัวเขา เขาก็จะเล่าให้มันผ่านๆ ไป จบๆ ไป บางทีเขาก็ไม่เล่า การแสดงท่าทางโดยใช้ตุ๊กตามันก็ทำให้ได้ข้อมูลมากกว่าการเล่าซึ่งมันไปกระทบใจเขาด้วย” พ.ต.ต.หญิง วรรณภา วิเคราะห์จากประสบการณ์

 

แพทเทิร์นเพื่อเธอ

ชิ้นส่วนตุ๊กตาตั้งแต่หัว ลำตัว แขน ขา อวัยวะเพศ ผม เสื้อผ้า ถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้ใครๆ ก็ทำได้ แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าจะมีหน้าตาอย่างที่เห็นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย เพราะศิลปินผู้ออกแบบ สุดศิริ ปุยอ๊อก ต้องใช้ทั้งทักษะและความเข้าใจมาสร้างสรรค์ตุ๊กตามีอวัยวะ ที่ไม่ใช่ ‘เซ็กส์ทอย’

“เริ่มแรกเราลองดรออิงค์จาก 2 มิติก่อน โครงสร้างแยกเป็นชิ้นๆ แล้วก็ทดลองตัดเย็บดู คือสองตัวแรกที่ตัดนี่คลำเลย แล้วพอสักประมาณตัวที่ 3 เริ่มเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นก็ติดต่อกับพี่แพร (พ.ต.ท.หญิง ฉวีวรรณ พุทธานุรักษ์) ซึ่งเป็นตำรวจเข้ามาช่วยดู แล้วก็ชวนเพื่อนอีก 2-3 คน รวมถึงอ.อลิชาด้วย มาช่วยกันเย็บที่บ้าน”

ในมุมของผู้ออกแบบความยากของการทำตุ๊กตาลักษณะนี้ นอกจากจะอยู่ที่ช่องปากและรูทวารแล้ว ยังอยู่ตรงข้อควรระวังที่ว่า ทำอย่างไรให้สมจริงแต่ไม่เหมือนจริง

“ถ้าเหมือนมากเกินไปเด็กก็อาจจะกลัว อาจจะกลายเป็นการย้อนความรู้สึก คงไม่ไหว เราก็ทำกลางๆ อย่างหน้าตา ผม เสื้อผ้าก็ทำให้น่ารักไปเลย สีสันสดใส ให้มันเป็นตุ๊กตาเลย”

ตุ๊กตารุ่นแรกจำนวน 8 คู่ (ชาย-หญิง) ได้ชื่อเรียกเล่นๆ ว่า“ตุ๊กตาจ๋า” ก่อนจะส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด มีการร้องขอให้ผลิตเพิ่มเพื่อกระจายออกไปในกลุ่มพนักงานสอบสวนหญิง รวมถึงนักจิตวิทยา พร้อมกันนี้ได้มีการปรับแบบให้มีขนาดเล็กลงเพื่อความสะดวกในการใช้งานภาคสนาม

“อีกอย่างตัวใหญ่ บางคนคอมเพลนว่าทำยาก ก็เลยคิดใหม่ แบบง่ายๆ เลย คนที่ไม่มีพื้นฐานก็ทำได้ เป็นแบบตุ๊กตาขนมผิง ใช้วัสดุง่ายๆ ขอให้มันมีช่องอวัยวะโดยคร่าวๆ สอดใส่ได้ โอเค แล้วเราก็ทำตัวง่ายนี้ออกมา กลายเป็นโปรเจ็คให้นักศึกษา แล้วก็อาสาสมัครมาช่วยทำได้”

จากตุ๊กตาจ๋าที่เริ่มต้นโดยคนไม่กี่คน ก็ขยายมาเป็นโครงการตุ๊กตาวิเศษที่เปิดให้อาสาสมัครเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดเย็บตุ๊กตา เพื่อเข้าประจำการตำแหน่งผู้ช่วยงานสอบสวน อ.อลิชา บอกว่า

“เริ่มจากไปชวนนักศึกษาที่คณะก่อน ไปเล่าให้ฟังว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คือบรรยากาศที่คุยกัน เราพบว่าเหตุการณ์ในการถูกลวนลาม การถูกจับโน่นนั่นนี่ มันเยอะ หลายคนก็เคยเจอเรื่องแบบนี้ อารมณ์ตอนนั้นคือเราจับมือกัน แล้วน้ำตาไหลว่าเรื่องนี้ทำไมมันต้องเกิดกับคนในสังคมเรา แล้วทำไมมันถึงเป็นเรื่องที่เราทำอะไรไม่ได้ เราต้องนิ่งๆ อยู่อย่างนี้ แล้วเด็กๆ หรือคนที่เป็นผู้เสียหายที่เขาถูกกระทำมา ณ เวลาที่เขาเติบโตขึ้นไป แผลเหล่านี้เก็บไว้ตรงไหน”

 หลังจากที่เรื่องนี้ถูกส่งต่อไปในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook : took.kata.volunteer) อาสาสมัครก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากนักศึกษาสู่ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่เด็กวัยประถมไปจนถึงผู้ใหญ่วัยเกษียณ และไม่ได้มีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นแต่ผู้ชายก็อาสามาช่วยในสิ่งที่พอทำได้

“มีอยู่ท่านหนึ่งพูดว่าเย็บไม่เป็น เดี๋ยวช่วยยัดแล้วกัน ช่วยทำอะไรได้ก็อยากจะช่วย ทราบว่าเรื่องนี้มาจากผู้ก่อเหตุที่เป็นผู้ชาย” อ.อลิชา เล่าความประทับใจระหว่างการจัดเวิร์คช้อป

คนละไม้คนละมือ ใครถนัดเย็บผ้าก็เย็บ ใครถนัดยัดเส้นใยก็ทำไป ใครชอบทำผมแต่งหน้าก็ช่วยตรงนั้น ตอนนี้เป้าหมายอยู่ที่ 60 ตัว (30 คู่) แม้จะใกล้ครบตามจำนวนแล้ว แต่ยังมีผู้ที่แสดงความสนใจเพิ่มเติมอีก ทำให้มีคำถามเข้ามาว่ามีวิธีอื่นที่ช่วยให้ผลิตได้ทีละมากๆ หรือไม่

“เคยปรึกษากับเพื่อนที่เป็นประติมากรว่า เราทำเป็น soft sculpture ด้วยวัสดุอย่างอื่นได้มั้ย ปั้นแล้วโม แล้วก็ทำซิลิโคนมั้ย ออกมาเหมือนตุ๊กตายางที่เขาขายเลย เพื่อนบอก...น่ากลัว มันจะเหมือนมาก ไม่ได้ มันจะกลายเป็นเซ็กซ์ทอยไปเลย ก็ไม่ได้ ก็เลยต้องคงความเป็นตุ๊กตาผ้าไว้” สุดศิริ บอก และว่า...ค่าของตุ๊กตาเหล่านี้อยู่ที่การส่งต่อความรักความห่วงใยให้กับเด็กๆ และคนที่ตกอยู่ในมุมอับของสังคม

“เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ นะ โอกาสที่มันจะเกิดขึ้น เปอร์เซ็นต์สูงกว่าที่เราคิดเยอะ คือ 1 ใน 5 ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายทุกคนจะต้องเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าระดับใดก็ตาม ถ้าเราในฐานะคนที่รู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้ มันไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ เด็กไม่รู้นะ...ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันยอมรับได้หรือไม่ได้ แต่เราเป็นผู้ใหญ่แล้วเรารู้ว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แล้วเราไม่ทำอะไร เด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้น เมื่อรู้ความแล้วว่าอะไรคืออะไร จะรู้สึกเกลียดมนุษย์ คือน้อยใจว่าทำไมไม่มีใครทำอะไร อันนี้น่ากลัวและน่าสงสาร เพราะมันปลูกฝังความรู้สึกไร้คุณค่าในตัวตนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเราก็ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้หรอก ทำได้ในจุดนี้ในเรื่องเล็กๆ แต่ต้องทำ ก็คือว่าได้ take actionได้ respond กับเรื่องที่เรารับรู้มาแล้วค่ะ”

ตุ๊กตาผ้าหน้าตาธรรมดาๆ ตัวแล้วตัวเล่า ถูกประกอบร่างด้วยหัวใจที่ไม่ธรรมดาของอาสาสมัครที่บางคนแทบไม่เคยทำงานฝีมือมาก่อน ความสวยอาจเป็นรอง แต่ความตั้งใจเกินร้อยนั้นทำให้มันมีพลังพิเศษส่งไปถึงเด็กๆ ผู้ถูกละเมิด และกลายเป็นเพื่อนที่แบ่งเบาความทุกข์ของพวกเขา

 

แทนคำปลอบใจ

“ตอนนี้ในส่วนของสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 รับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้มีโอกาสนำตุ๊กตาติดตัวไปพื้นที่ แล้วก็มีพนักงานสอบสวนหญิงลงชื่อว่าอยากได้อยู่หลายคน นครบาลก็จัดส่งไปแล้วบางส่วน แล้วก็มีภูธรจังหวัดต่างๆ ด้วย” พ.ต.ต.หญิง วรรณภา รายงานความคืบหน้า

แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นที่ตุ๊กตาวิเศษได้กระจายกำลังกันไปปฏิบัติภารกิจ ทั้งประจำการในศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลคดีเยาวชนและครอบครัว ลงพื้นที่ภาคสนามร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา แต่ตุ๊กตาผ้าเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ได้อย่างดีจนหลายหน่วยงานเริ่มเห็นความสำคัญ

“สำหรับนักจิตวิทยา การได้ข้อมูลหรือสาระสำคัญของเหตุการณ์ทำให้รู้ว่าเด็กผ่านอะไรมาซึ่งอาจเป็นปมในใจไปจนโต ช่วยให้สามารถออกแบบการเยียวยาจิตใจ หรือให้การช่วยเหลือได้มากกว่าในทางคดีหรือการนำคนผิดมาลงโทษอย่างเดียว” อ.อลิชา ให้ความเห็น ก่อนจะเล่าต่อว่าหลังจากที่โครงการนี้เริ่มเป็นที่รู้จักก็มีการติดต่อขอตุ๊กตาไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ ด้วย

“เช่นในโรงพยาบาล คุณหมอท่านหนึ่งที่มาเป็นอาสาสมัครก็ขอมา เพราะว่าไม่ใช่ทุกเคสที่ถูกทารุณกรรมแล้วไปหาตำรวจ ส่วนมากมาหาหมอ แล้วในเบื้องต้นพยาบาลจะซักเหตุการณ์ก็ต้องให้เด็กเล่า พอมาถึงหมอก็ต้องเล่าอีกครั้งหนึ่ง ถ้าได้ตุ๊กตาแบบนี้ไป มันก็จะช่วยเล่าเหตุการณ์ พยาบาลอาจจะใช้วิธีอัดเทปไว้ แล้วให้ผู้เกี่ยวข้องดูจากตรงนั้น นอกจากนี้ก็มีครูอนุบาลที่ต้องการนำตุ๊กตาไปสอนเด็กๆ ว่าในร่างกายมีอวัยวะอะไรบ้าง อะไรควรต้องปกปิด หรือดูแลรักษาอย่างไร”

ดูเหมือนว่าตุ๊กตาวิเศษจะได้รับภารกิจเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง แต่นอกจากจะต้องเร่งผลิตตุ๊กตาผ้าเหล่านี้แล้วโครงการยังแตกหน่อต่อยอด “ตุ๊กตาปลอบใจ” รับบริจาคตุ๊กตาทั้งมือหนึ่งและมือสองให้เด็กผู้เสียหายได้นำกลับไปบ้านด้วย

“น้องบางคนเหมือนเขาขาดบางสิ่งบางอย่างในชีวิต ขาดวัยเด็ก เติบโตมาก็ใช้ชีวิตวัยรุ่นเลย มั่วสุมกันเลย ตุ๊กตานี่อาจเป็นส่วนเติมเต็มชีวิตในวัยเด็กซึ่งเขาไม่มี ก็รู้สึกดีที่มีโครงการตุ๊กตาปลอบใจแตกออกมาอีก” พ.ต.ต.หญิง วรรณภา บอก ขณะที่ อ.อลิชา มองในอีกมุมหนึ่งว่า

“ตุ๊กตาส่วนที่เรียกว่า ตุ๊กตาปลอบใจ ทำให้เราคนที่ทำงานกันและอาสาสมัครรู้สึกดีขึ้น เรียนตรงๆ ก็คือว่าความรู้สึกในการทำตุ๊กตา คือตุ๊กตาทุกตัวถูกทำขึ้นมาด้วยความสะท้อนสะเทือนใจ ทำไมต้องใช้ของแบบนี้ด้วย ถ้าเรามีสังคมที่ดี ตุ๊กตาแบบนี้คงไม่จำเป็นจะต้องดึงเอามาใช้ ทำไปก็สะเทือนใจกันไป แต่ก็จะทำ เพื่อว่าสิ่งนี้จะได้ขับเคลื่อนปัญหานี้ แม้มันจะได้หมดไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้เริ่มทำบางอย่าง...

ถามว่างานนี้จะเสร็จเมื่อไหร่ ถามว่าทำตุ๊กตากี่ตัวถึงจะพอก็ตอบไม่ได้ เพราะถ้าเสร็จ จบ นั่นหมายความว่าการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กต้องไม่มีแล้ว”

แม้ตุ๊กตาวิเศษจะดูเหมือนมีพลังพิเศษจริงๆ แต่ถึงที่สุดทุกคนคงหวังไว้เหมือนกันว่า ตุ๊กตาในมือของเด็กน้อยจะมีหน้าที่แค่เป็นเพื่อนเล่น  เป็นความผูกพันและจินตนาการอันสดใสในโลกใบเล็กเท่านั้น