ลมใต้ปีกสตาร์ทอัพ ‘พณชิต กิตติปัญญางาม’

ลมใต้ปีกสตาร์ทอัพ  ‘พณชิต กิตติปัญญางาม’

ถ้าปล่อยเขาเจ๊งเราก็เสียหาย ถ้าปั้นเขาดีก็จะได้ทั้งคู่ แต่ถ้าเจ๊งก็ถือว่าทำเพื่อสังคม ถ้าไม่เจ๊งก็ได้ลุ้น

ถือเป็นอีกหนึ่งสมอง สองมือ ที่ช่วยขับเคลื่อนบุกเบิกวงการสตาร์ทอัพไทย แต่รู้ไหมว่า “ดร. พณชิต กิตติปัญญางาม” ยังสวมบท “Angel Investor” อีกด้วย


ว่ากันว่านักลงทุนกลุ่มนี้เปรียบเหมือนพ่อพระ แม่พระ เป็นลมใต้ปีกของเหล่าสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น อาจยังมีแค่ไอเดียเท่านั้น (ระยะ seed และระยะ early stage)

"ผมมองว่ามันได้ลุ้น ได้เปิดมุมมองตัวเอง เวลาสตาร์ทอัพจะทำอะไรที่เราไม่เคยทำ หรือเคยทำมาบ้าง แต่เขาต้องลงลึกกว่า เขาจะมาอัพเดทให้ฟัง เราก็ได้ความรู้เรื่องนั้นไปด้วย แต่หลักๆคือการลงรอบเออรี่ ถ้าเราเลือกคนดีๆ ก็มีโอกาสซัคเซส"


อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสตาร์ทอัพระดับนี้ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก กระทั่งเคยมีคนบอกว่า อาจเป็นการเอาเงินไปทิ้งเปล่าด้วยซ้ำไป


สิ่งที่ดร.พณชิตมองก็คือ การลงทุนในช่วงเวลานี้มีความเหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้มีทุนหนา เพราะในระดับถัดไปจะมีวีซีที่มีเงินมากและมากฝีมือ รออยู่เป็นจำนวนมาก และถ้าไปแข่งตรงนั้นก็เข้าทำนองเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง


"ผมว่าแองเจิ้ล อินเวสเตอร์ส่วนใหญ่เป็นประมาณนี้ มีเหตุผลคือ หนึ่ง เราไม่มีเงินพอจะลงรอบหลังๆที่ต้องใช้เงินเยอะๆ เลยต้องเลือกคนดีๆ และต้องเข้าไปช่วยสตาร์ทอัพเต็มที่ เพราะถ้าปล่อยเขาเจ๊งเราก็เสียหาย ถ้าปั้นเขาดีก็จะได้ทั้งคู่ แต่ผมก็ปลอบใจตัวเองว่า ถ้าเจ๊งก็ถือว่าเราทำเพื่อสังคม ถ้าไม่เจ๊งเราก็ได้ลุ้น"


สตาร์ทอัพที่เขาลงทุนชื่อว่า “ Horganice” เป็นระบบจัดการหอพักรูปแบบออนไลน์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการหอพัก และผู้เช่าหอพัก ซึ่งผู้ก่อตั้งก็คือ “ธนวิชญ์ ต้นกันยา”(เฟิร์ส) ที่เรียนจบวิศวะคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพียงไม่กี่ปี


"ความที่ผมอยากจะช่วยขับเคลื่อนสตาร์ทอัพก็เลยไปช่วยสอนที่มช. เลยเจอเขาและได้เห็นแพชชั่นซึ่งอินมากเพราะครอบครัวเขาทำธุรกิจหอพักอยู่แล้ว เฟิร์สมีเป้าหมายอยากให้แม่มีความสุข ใช้งานง่ายสบาย เด็กคนนี้มีความตั้งใจและคงกัดไม่ปล่อย แพชชั่นของคนสำคัญ เพราะสตาร์ทอัพหรือคนทำธุรกิจทุกคนจะมีจุดที่เฟลสุดๆ จนมักจะถามตัวเองว่า ฉันทำอะไรอยู่ ฉันควรไปต่อไหม จะไปต่อเพื่ออะไร เฟิร์สเองก็เคยมีมุมนี้แต่สักพักเขาก็ลุกทำต่อ ซึ่งเราเลือกคนถูก"


การลงทุนในสตาร์ทอัพถือเป็นเรื่่องใหม่สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ ดร.พณชิตยอมรับว่า กว่าที่เขาไปชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมลงทุนด้วยกันได้ ..ต้องใช้เวลาอธิบายกันยืดยาว


"สตาร์ทอัพมีไอเดียที่ดี แต่ขาดประสบการณ์ ไม่เข้าใจธุรกิจ ไม่เข้าใจแวลลูเชน ในที่นี้หมายถึงสตาร์ทอัพเด็กๆ ที่เพิ่งจบใหม่ คนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นอีกเรื่อง เด็กใหม่จะไม่มีทางรู้ว่าเขาต้องคิดอะไร ทำอะไร เวลาที่ไปดีลงานต้องพูดอะไร อย่างเฟิรส์เองเขาไม่เคยมีทีมและต้องดูแลคนมาก่อน เราจึงต้องดูแลเขา ผมให้เพื่อนที่เป็นเอสเอ็มอีมาช่วยสร้างรากฐานแน่น ๆให้ สตาร์ทอัพต้องมีผู้ใหญ่ มีเมนเทอร์ที่คอยช่วย"


การเป็นแองเจิ้ล อินเวสเตอร์ อาจต้องใช้พลังเยอะ ซึ่งแต่ละสัปดาห์เขากับเพื่อนๆ จะต้องมีมีทติ้งคอยอัพเดทกับทีมของ Horganice ซึ่งเหมือนบริษัททั่ว ๆไปที่มีการประชุมบอร์ดกันทุกสัปดาห์ โดยเขากับเพื่อนๆ จะทำหน้าที่เป็นเหมือนบอร์ดที่คอยไล่บี้ซีอีโอว่าอาทิตย์ที่แล้วทำอะไร ปัญหาคืออะไร จะแก้ไขอย่างไร อาทิตย์นี้และเดือนหน้ามีแผนจะทำอะไรต่อ


“วิธีนี้จะช่วยทำให้เด็ก ๆต้องวิ่ง และคิดไกล ใกล้ทุกระยะ เพราะมันเป็นเรียลบิสิเนสจะมั่วไม่ได้”


ถามว่าควรลงเงินเท่าไหร่ คำตอบก็คือในระดับนี้เป็นเงินราวๆ 2-5 ล้านบาท แล้วแต่ความยากง่ายของเทคโนโลยี แต่เคล็ดลับก็คือ นักลงทุนไม่ควรลงเงินทีเดียวจบ แต่ต้องวางไมล์สะโตนกำหนดเป้าหมายทีละสเต็ป และลงเงินทีละสเต็ป แน่นอนว่านักลงทุนจำเป็นต้องมีประสบการณ์ทางธุรกิจและมีความรู้ทางเทคโนโลยีมาพอสมควร


และถึงแม้จะลงทุน ลงแรงกันถึงขนาดนี้ ตัวเขาก็ยอมรับว่าคงไม่สามารถการันตีกับเพื่อนๆได้อย่างเต็มปากว่า การลงทุนครั้งนี้จะจะเจ๊งหรือไม่? แต่บอกได้สั้นๆว่า “มีลุ้น” ซึ่งหากล้มก็คงไม่ได้เจ็บตัวมากเพราะใช้เม็ดเงินลงทุนไม่มากนัก


"ผมบอกเพื่อนว่าให้ถือว่า หนึ่ง เราได้เรียนรู้กับเด็กยุคนี้ เพื่อนผมได้เข้าใจสตาร์ทอัพมากขึ้น สอง เด็กๆ 3-4 คนในทีมแม้เขาทำเจ๊ง แต่ถือว่าเราได้สร้างคนคุณภาพให้กับสังคม3-4 คน สร้างทรัพยากรมนุษย์ยุคถัดไปให้กับประเทศชาติ เขาจะได้เรียนรู้ ถ้าหากเขาคิดเป็นผู้ประกอบการอีกก็จะรู้วิธีทำธุรกิจให้ดี หรือถ้าเป็นพนักงานเขาก็จะเป็นพนักงานที่ดี เงินที่เราลงไปจะไม่เสียเปล่า เพื่อนๆผมก็เห็นด้วยเพราะเขาได้เห็นน้อง ๆมีความตั้งใจ และเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น"


ประการสำคัญ ควรต้องต้องปลูกฝังให้ทีมสตาร์ทอัพรู้จักการ “ให้” หมายถึงต้องนำเอาความรู้ ประสบการณ์ หรือสิ่งดีๆสารพันที่เคยได้รับจากพวกเขาที่เป็นแองเจิ้ล อินเวสเตอร์ ไปบอกต่อให้กับคนอื่นๆด้วย


และอีกหนึ่งคีย์ซัคเซสที่มีความสำคัญ และไม่ใช่เพียงแต่สตาร์ทอัพเท่านั้น แต่สำหรับทุกธุรกิจ ทุกองค์กร และทุก ๆคน นั่นคือ “การเปิดใจ”


"วิถีสตาร์ทอัพทั่วไป มักเริ่มจากการไปมองหาว่าเพนพ้อยท์อยู่ตรงไหน เราควรให้แวลลูอะไรกับลูกค้า การจะหาปัญหาหรือคุณค่าได้ อันดับแรกต้องมาจากกาไปฟังลูกค้าเยอะๆ สังเกตุเขาเยอะๆ เราไม่สามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่าลูกค้าจะเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น หรือปัญหาของฉันคือปัญหาของคนอื่น ถ้าลองได้ไปคุย ได้ไปถามเขามันก็เริ่มจะไม่ใช่ เราก็ต้องไม่ฝืนว่าฉันถูก พอฟังเยอะๆ เราจะได้เห็นปัญหาจากหลายๆ มุมมองพอเอาผสมกัน ก็จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดโซลูชั่นหลายแบบ แล้วค่อยเอามากรองว่าโซลูชั่นตัวไหนที่ให้คุณค่าจริงๆ"


เขามองว่าความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมเกิดจากการเปิดใจ เป็นเรื่องมายด์เซ็ท ซึ่งในวงการสตาร์ทอัพมักพูดกันว่าไอเดียเป็นเรื่องที่ถูกมาก แต่การทำให้เกิดขึ้นได้จริงสำคัญที่สุด


"ก็มีสตาร์ทอัพที่ไม่ค่อยอยากแชร์ไอเดียเพราะกลัวถูกก้อบปี้ ถ้าแค่เล่าฟังแล้วก้อบได้เลยแสดงว่าไอเดียคุณแย่แน่ๆ มันขึ้นอยู่ที่ว่าใครทำออกมาแล้วฟิตกับผู้บริโภคที่สุด แต่ละคนแม้ทำไอเดียเดียวกันก็จะออกมาคนละแบบ"

คอปอเรท วีซีคือฮีโร่


ยังคงสนใจลงทุนในสตาร์ทอัพ และมักจะทำตัวเป็นแมวมองสอดส่องหาทีมที่มีหน่วยก้านดีๆ ภายในงานอีเวนท์สตาร์ทอัพต่างๆอย่างต่อเนื่อง แต่ดร.พณชิตบอกว่า เวลานี้ที่สนใจจริง ๆก็คือ “พร็อพเพอร์ตี้ เทคโนโลยี” เพราะเป็นธุรกิจที่ตัวเขาและเพื่อนๆค่อนข้างถนัด


“ในอนาคตผมเชื่อว่าสำหรับประเทศไทยแล้วกลุ่มฟู้ดน่าจะมีโอกาส อีกทั้งภาครัฐเพิ่งเปิดตัวโครงการฟู้ดอินโนโพลิส แต่ต้นทุนเริ่มต้นของฟู้ดนั้นสูง และมีความเสี่ยงสูง”


เขามองว่า ฮีโร่ที่แท้จริงของเหล่าสตาร์ทอัพ ก็คือ “คอปอเรท วีซี”


"ในความเชื่อของผม ก็คือการก้าวไปสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ได้ต้องไปด้วยกันทั้งแผง ประเด็นก็คือ เอสเอ็มอี และบริษัทขนาดใหญ่จะเทิร์นตัวเองไปอย่างไร ขณะที่สตาร์ทอัพเขาทำเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ถ้ามาจับมือกันจะช่วยลิฟอัพธุรกิจจากโลกเดิมๆไปสู่ยุคใหม่ได้โดยง่าย"


แต่ความเป็นจริงก็คือ คอปอเรทอาจยังกลัวความเสี่ยง ไม่มีความเข้าใจการลงทุนรูปแบบนี้ อีกทั้งกฏหมายประเทศไทยเองก็ยังไม่จูงใจจนทำให้คอปอเรทตัดสินใจมาลงทุน


"ภาครัฐเองในเวลานี้ก็พยายามแก้ไขกฏหมายเพื่อให้เอื้อมากขึ้น ทุกประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหานี้เหมือนกัน อยู่ที่ใครจะปรับตัวได้เร็วกว่า เราต้องมีแนวทางที่จะปรับตัว ซึ่งเอสเอ็มอีเปรียบเหมือนสัตว์บก ประเทศไทยคุ้นชินมานานว่าต้องหายใจ ต้องกินอาหารแบบนี้ แต่สตาร์ทอัพเป็นสัตว์น้ำ หรือบางตัวก็เป็นลูกครึ่งอยู่ทั้งบนบกและในน้ำ เครื่องมือ กฏหมายก็เลยไม่เอื้อ ประเทศเราควรต้องปรับสภาพแวดล้อมให้รองรับรูปแบบการใช้ชีวิตของสัตว์ทุกประเภท"