‘พงษ์พันธุ์ ไชยนิล’ บนเส้นทางผู้สืบทอดบ้านดินมอญ

‘พงษ์พันธุ์ ไชยนิล’ บนเส้นทางผู้สืบทอดบ้านดินมอญ

ชุบชีวิตเครื่องปั้นดินเผาที่วางสุมในกระบะติดป้ายราคาชิ้นละ 20-30 บาท ให้กลายเป็นชิ้นงานทรงคุณค่าในราคาหลักแสนด้วยฝีมือและไอเดียของ “พงษ์พันธุ์ ไชยนิล” ทายาทแห่งบ้านดินมอญ เกาะเกร็ด ที่ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะค้นพบความต้องการที่แฝงในสายเลือด


ชุบชีวิตเครื่องปั้นดินเผาที่วางสุมในกระบะติดป้ายราคาชิ้นละ 20-30 บาท ให้กลายเป็นชิ้นงานทรงคุณค่าในราคาหลักแสน ตั้งโชว์โดดเด่นอวดสายตาในโรงแรมระดับ 5 ดาวทาด้วยฝีมือและไอเดียของ “พงษ์พันธุ์ ไชยนิล” ทายาทแห่งบ้านดินมอญ เกาะเกร็ด ที่ต่อยอดแต่งเติมภูมิปัญญาดั้งเดิมจากคุณปู่ คุณย่า หลังจากเครื่องปั้นดินเผามอญ งานหัตถกรรมมรดกทางภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 200 ปี โดยบรรพบุรุษเชื้อสายมอญที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากเมืองหงสาวดีมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แต่ทว่ากระแสความนิยมลดลงเรื่อยๆ จนทุกวันนี้มีร้านปั้นครื่องปั้นดินเผาไม่ถึง 10 แห่ง และมีรายได้เพียงแค่ประคับประคองตัว
: วิถีแห่งเด็กเกาะเกร็ด

                พงษ์พันธุ์ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 11 สุดยอดทายาทคนรุ่นใหม่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม 9 สาขาจากทั่วประเทศ โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จากการนำความรู้ด้านศิลปะที่ร่ำเรียนมาพัฒนาเครื่องปั้นดินเผารูปแบบใหม่ ด้วยการผสมผสานภูมิปัญญา 3 เชื้อชาติ ระหว่างความดั้งเดิมของเครื่องปั้นแบบมอญ รูปทรงแบบจีนและลวดลายที่วิจิตรแบบไทย แต่ละชิ้นงานจึงมีลวดลายไม่ซ้ำกันและเป็นผลงานที่มีชิ้นเดียวในโลก ด้วยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์นี้เองเปิดโอกาสให้ได้รับการคัดเลือกเป็นของขวัญนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายกษัตริย์บาห์เรน เมื่อครั้งเสร็จฯ เยือนประเทศไทยในปี 2558 แต่กว่าจะได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จัก เขาได้ลองผิดลองถูกมานาน หลังจากเรียนจบวิทยาลัยช่างศิลป์ก็ได้ทำงานที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา ตำแหน่งผู้ช่วยครูศิลปะ พร้อมกับการเป็นลูกมือคุณย่าที่รับทำตามออเดอร์
                 “ต่อมาคุณย่าเริ่มทำไม่ไหว ผมต้องเข้ามาช่วยทำ ส่วนลูกคุณย่าทั้ง 9 คนไม่มีใครทำ เนื่องจากสมัยก่อนท่านไม่อยากให้ลูกๆ ลำบากต้องมานั่งปั้นดินเผา เพราะเป็นงานหนักและเหนื่อยกว่าจะได้เงิน จึงเน้นให้ลูกๆ เรียนหนังสือ เพื่อที่จะรับราชการเป็นครู หมอ พยาบาล ตำรวจ พอมารุ่นหลานก็เหลือผมคนเดียวที่อยู่ใกล้ชิดท่านเพราะอยู่เกาะเกร็ด จึงกลายเป็นทายาทรับสืบทอดตามหน้าที่ ในช่วงแรกยังไม่รู้สึกว่า รักหรือชอบการปั้น แต่ก็สามารถทำได้เพราะมันอยู่ในสายเลือด จนกระทั่งช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์และปั้นโชว์ที่โรงเรียน ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากก็เกิดความภาคภูมิใจ ความรักและหวงแหนที่จะสืบทอด”
                พงษ์พันธุ์ดัดแปลงให้สินค้ามีขนาดเล็กลงและมีความละเอียดมากขึ้น แต่ละชิ้นงานใช้เวลาทำนานขึ้น เริ่มจากขายหน้าบ้านในราคาแพงกว่าร้านอื่น เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมกันนั้นขยายตลาดไปที่พัทยา แต่สินค้าไม่ตรงกับความต้องการของตลาดที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว
“จนกระทั่งได้ร่วมออกร้านในงานๆ หนึ่ง แล้วทางโรงแรมโอเรียนเต็ลไปพบจึงให้โอกาสวางจำหน่ายในโรงแรม ปรากฏว่า สินค้าที่วางขายวันแรก 20 ชิ้น ทางโรงแรมซื้อ 3 ชิ้นเพื่อนำไปเป็นของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้า จากนั้น 40 นาทีก็ขายหมดเกลี้ยง หลังจากนั้นก็ขายดีมากจนทำแทบไม่ทัน ล่าสุดขยายไปวางที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซี”

: แหล่งเรียนรู้บนเกาะเกร็ด
                  เป้าหมายต่อไปของพงษ์พันธุ์ คือการสร้างแหล่งการเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ด เพื่อเผยแพร่ให้คนไทยรุ่นหลังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งยังเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจศิลปะแขนงนี้ เพื่อจะสานต่อและต่อยอดให้เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดอยู่คู่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ปรับปรุงเรือนไทยโบราณอายุกว่า 200 ปี ให้เป็นหน้าร้านบ้านดินมอญ ควบคู่กับทำเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมประวัติความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด
                     ขณะเดียวกันเขาจะลงทุนทำรีสอร์ทเชิงวัฒนธรรมบนพื้นที่ 100 ตารางวาที่เกาะเกร็ด เพื่อให้ผู้เข้าพักได้ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น ปั้นหม้อ ทำอาหาร ทำขนม เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเกาะเกร็ดไม่ใช่แค่มาเที่ยวแล้วกลับ เป้าหมายแรกคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาทั้งโรงเรียนไทยและโรงเรียนนานานชาติ กลุ่มที่สองคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ แตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไปที่อาจเข้ามาดูแต่ไม่ได้พัก ตั้งเป้าว่า ปลายนี้จะสามารถเปิดศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผา ส่วนปีหน้าจะเปิดตัวรีสอร์ท โดยเริ่มจากทำเป็นช็อปและพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กเพื่อนำเสนอว่าเกาะเกร็ดคืออะไร บ้านดินมอญมีความเป็นมาอย่างไร
                   ปัจจุบันพงษ์พันธุ์มีลูกชายอายุ 6 ขวบ ที่มีแววชื่นชอบงานศิลปะเช่นเดียวกับคุณย่าและคุณพ่อ เขาจะตื่นมานั่งปั้นงานดินเผาไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาบ่ายสองครึ่ง จะเข้าไปสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ไปเกาะเกร็ดเพื่อรับออเดอร์แล้วส่งต่องานให้ชาวเกาะเกร็ด หรือไปร่วมงานแฟร์ต่างๆ ซึ่งทำให้เห็นทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น