'รายได้รัฐ' 5เดือนแรกเกินเป้า1.6%

'รายได้รัฐ' 5เดือนแรกเกินเป้า1.6%

รายได้รัฐ 5เดือนแรก "เกินเป้า1.6%" รัฐวิสาหกิจส่งรายได้รัฐ 6.25 หมื่นล้าน นำโดยการไฟฟ้านครหลวง -โรงงานยาสูบ-กองทุนวายุภักษ์

คลังเผยเก็บรายได้รัฐบาล 5 เดือนแรกปีงบ 60 เกินเป้าหมาย 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 1.6% โดยการจัดเก็บรายได้จาก 3 กรมภาษีต่ำเป้าราว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ การนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.2559-ก.พ.2560) มีรายได้สุทธิ 8.76 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 1.6% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.9% ผลจากการจัดเก็บรายได้หน่วยงานอื่น และ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ 

อย่างไรก็ดี ผลการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจาก ในช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (3G และ 4G) เป็นสำคัญ

“การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นไปตามที่คลังได้ประเมินไว้ โดย คลังจะดูแลการจัดเก็บรายได้ในช่วงเวลาที่เหลือให้เป็นไปตามกรอบที่ได้วางไว้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานะการคลังของประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

แบ่งเป็นกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 6.16 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.3% แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าที่สำคัญ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.4% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.2%

อย่างไรก็ตาม ในเดือนก.พ.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาคการผลิตได้กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 1.89 พันล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 70.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการที่มีรอบระยะเวลาบัญชีปีงบประมาณ ซึ่งต้องชำระภาษีในเดือนก.พ.2560 ได้โอนสัมปทานหลุมขุดเจาะให้บริษัทในเครือ ทำให้การชำระภาษีลดลงในเดือนก.พ. ส่วนผู้รับโอนสัมปทานจะมีรอบระยะเวลาบัญชีปีปฏิทิน ซึ่งจะชำระภาษีในเดือนพ.ค.2560

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 6.37 พันล้านบาท และ 3.2 พันล้านบาท หรือ 4.4% และ 2.5% ตามลำดับ แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.8% และ 3.1% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผลประกอบการของภาคเอกชน และการจ้างงานในตลาดแรงงาน ยังคงขยายตัวได้ดี

ด้านกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 2.23 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.3% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.6% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษียาสูบ ภาษีรถยนต์ ภาษีสุรา

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 7.6% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 29.0% เนื่องจาก ภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ รวมทั้ง มีการจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และน้ำมันหล่อลื่น รวมถึงภาษีเบียร์

ด้านกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 4.2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16.9% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12.7% เป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร

สำหรับรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 6.25 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 22.5%สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 44.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง โรงงานยาสูบ กองทุนวายุภักษ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย