'เดลล์อีเอ็มซี'ลุยหนักคอนซูเมอร์-องค์กร

'เดลล์อีเอ็มซี'ลุยหนักคอนซูเมอร์-องค์กร

เผยกระบวนการปรับโครงสร้างองค์กรหลังควบรวมกิจการอีเอ็มซีสมบูรณ์ ลุยหนักไอทีคอนซูเมอร์ -องค์กรทุกขนาด มั่นใจผลิตภัณฑ์แข็งแกร่ง บุคลากรพร้อม ชี้โอกาสตลาดไทยเปิดกว้าง ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นหนุนลงทุนเพิ่ม

นายอโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี อินโดไชน่า กล่าวถึง การควบรวมกิจการระหว่างเดลล์และอีเอ็มซีว่า หลังกระบวนทางกฏหมายแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการเมื่อไตรมาส 4 ปี 2559 ไตรมาสที่ 1 ปี 2560 เริ่มต้นปรับโครงสร้าง กระทั่งล่าสุดวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมาทั้งทีมเดลล์ และอีเอ็มซี ได้ผสานรวมกันอย่างเป็นทางการ

โครงสร้างบริหารแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ภายใต้ชื่อ เดลล์ อิงค์ ทำตลาดผลิตภัณฑ์พีซี ยังใช้แบรนด์เดลล์อยู่ ขณะที่ตลาดองค์กรอยู่ภายใต้ชื่อ “เดลล์อีเอ็มซี” มีทั้งอินฟราสตรัคเจอร์ไอที โซลูชั่นบริการลูกค้าเอ็นเตอร์ไพรซ์ ซึ่งรวมทั้งของเดลล์ อีเอ็มซี อาร์เอสเอที่ให้บริการซิเคียวริตี้ ระบบยืนยันตัวตน และ เวอร์ทัสสตรีม (Virtustream) ให้บริการนำแอพพลิเคชั่นไปใช้บนเน็ตเวิร์ค

ขณะที่อีก 3 บริษัทในเครือแยกการทำงานเป็นเอกเทศ วีเอ็มแวร์ (VMware) พิโวทัล(Pivotal) ให้บริการคลาวด์เนทีฟแพลตฟอร์ม รวมถึงเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล ซิเคียวเวิร์คส (SecureWorks) ระบบรักษาความปลอดภัย

“ปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางส่วนเพื่อให้เข้าสู่ตลาดได้สมบูรณ์แบบ ตลาดพีซียังคงใช้แบรนด์เดลล์ต่อไป แต่ตลาดเอ็นเตอร์ไพรซ์ทั้งหมดจะเปลี่ยนเป็น เดลล์ อีเอ็มซี”

เดลล์ อีเอ็มซี เป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่ารวมกัน 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ มีการลงทุนวิจัยและพัฒนา 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา วางงบวิจัยและพัฒนาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

นอกจากนี้ ยังวางองค์กรให้มีดีเอ็นเอเป็นสตาร์ทอัพที่สเกลขึ้นมาเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญกับลูกค้า ทุกผลิตภัณฑ์ของเดลล์จะออกมาตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมมีการทำพาร์ทเนอร์โปรแกรมเพื่อให้คู่ค้าสามารถขยายตัวได้

สิ่งที่เดลล์จะทำใน 3 ปีข้างหน้า แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ไอทียุคใหม่ที่นำโมบายแอพพลิเคชั่นเป็นตัวขับเคลื่อน เข้าสู่คลาวด์ในการนำสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่มานำเสนอให้แก่ลูกค้าแบบครบวงจร

พร้อมกันนี้ ช่วยเปลี่ยนผ่านด้านการทำงานในการนำอุปกรณ์พกพามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อให้ประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้น สุดท้ายคือ ซิเคียวริตี้ทรานสฟอร์เมชั่น เพื่อปกป้องข้อมูลขององค์กรธุรกิจให้ปลอดภัยมากขึ้นในยุคดิจิทัล

บริษัทเชื่อว่า เมื่อรวมกันแล้วยิ่งมีความแข็งแกร่งด้านผลิตภัณฑ์ บุคลาการ ทั้งยังมีโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มองค์กรระดับกลางมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในกลุ่มลูกค้าระดับบนที่ยังไม่เคยใช้งานเซิร์ฟเวอร์ของเดลล์อีเอ็มซี ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจรในลูกค้าเดิมให้ขยายครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ โอกาสทางการตลาดในไทยกว้างมาก การลงทุนไอทีจะขับเคลื่อนโดยดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น การใช้งานเทคโนโลยีเช่นบิ๊กดาต้าและคลาวด์ ในส่วนของตลาดพีซีเมื่อมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้รองรับวินโดวส์ 10 จะส่งผลให้มีโอกาสที่จะเกิดการซื้อซ้ำ หรืออัพเดทผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดองค์กร