'ประยุทธ์' ไม่จ้อสื่อปมกม.ปิโตรเลียม ร่อนเอกสาร6แผ่นชี้แจง

'ประยุทธ์' ไม่จ้อสื่อปมกม.ปิโตรเลียม ร่อนเอกสาร6แผ่นชี้แจง

นายกฯประยุทธ์ไม่จ้อสื่อปมร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ร่อนเอกสาร 6 แผ่นชี้แจงแทน ยืนยันไม่มีให้ทหารเข้าเอี่ยวอย่างเด็ดขาด

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 30 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กรณีร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม แต่ได้นำเอกสาร รวมทั้งหมด 6 แผ่นให้กับผู้สื่อข่าวแทน

โดยเนื้อหาระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอกฎหมายพ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อให้รองรับสัมปทานที่จะหมดอายุลงในเวลาอันใกล้ หลักการและเหตุผลที่รัฐบาลเสนอครั้งแรก แต่เดิมก็เพื่อให้มีการดำเนินการบริหารจัดการได้ทั้งระบบสัมปทาน และพีเอสซี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ (หากไม่มีกฎหมายฉบับนี้จะทำได้เพียงระบบสัมปทานแบบเดิมเท่านั้น)

ต่อมารัฐบาลได้นำร่างดังกล่าว เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งในขั้นกรรมาธิการของ สนช. ได้มีการรวบรวมรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน ให้มีการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC)" และ สนช. ได้เสนอเรื่องดังกล่าว กลับมาที่ ครม. เพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ครม. ให้ความเห็นชอบ ให้เพิ่มหลักการ ได้ในขั้นกรรมาธิการ ซึ่งเดิมไม่มีในวาระแรกด้วย เหตุผลคือ รัฐบาล และ ครม. ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่กรรมาธิการศึกษาเพิ่มเติมแล้ว คณะกรรมาธิการก็ได้ทำงานต่อไป โดยมีเนื้อหา NOC ในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งจะต้องพิจารณาต่อในวาระ 3 ตามหลักการและเหตุผล ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งการทำงานของคณะกรรมาธิการ ก็เป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ขณะที่ รัฐบาลต้องการให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านไป โดยปราศจากข้อขัดแย้ง ในกรณี จัดตั้ง NOC โดยระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องมีการศึกษาในรายละเอียดก่อน และให้ดำเนินการได้ "เมื่อพร้อม" เท่านั้น จะเป็นเมื่อไหร่ ก็แล้วแต่การพิจารณาต่อไปของ สนช.

สำหรับกรณีที่มีการกล่าวหา ว่ารัฐบาล คสช. นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการ ทหาร หวังจะมีผลประโยชน์ ในเรื่องของการให้กรมพลังงานทหาร เป็นผู้ดำเนินการ ข้อกล่าวหาเหล่านี้ รัฐบาล คสช. นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทราบเรื่องดังกล่าว และหากมีก็ไม่อนุมัติอยู่แล้ว

ส่วนการที่มีผู้ยกเรื่องนี้ออกมาเป็นประเด็น ทางรัฐบาล คณะรัฐมนตรี จะให้ฝ่ายกฎหมายได้สอบสวนว่า เกิดอะไรขึ้นเพราะทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับรัฐบาล คสช. ทหารอย่างร้ายแรง มีการโพสต์ข้อความสร้างการดูหมิ่นเกลียดชังรัฐบาล ขอให้สังคม ประชาชนได้พิจารณาความน่าเชื่อถือ

จากข้อความดังกล่าว นายกรัฐมนตรียืนยันว่า จะไม่ให้มีใครได้รับผลประโยชน์ นอกจากประเทศชาติ และประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ดำเนินการ โดยการพิจารณาของ สนช. และรัฐบาล คสช. จะไม่ให้หน่วยงานทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยเด็ดขาด กรณีที่มีข่าวว่า เตรียมเสนอรายละเอียดการจัดตั้ง NOC เรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วยรัฐบาล ทหาร ฯลฯ รัฐบาลไม่เคยรับทราบรายละเอียดเรื่องนี้ ทราบแต่เพียงว่า หากกฎหมายผ่านก็จะมีเพียงเฉพาะการจัดตั้ง NOC เมื่อพร้อมซึ่งก็หมายความว่า หากมีการผ่านเรื่อง NOC ดังกล่าวก็ต้องมีการศึกษา และรับฟังความคิดเห็น ในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบันการทำหน้าที่จัดการพลังงาน เป็นหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคงด้านพลังงาน ของประเทศรวมถึงการควบคุมกำหนดการจัดหาพลังงานโดยระบบสัมปทาน (เดิม) หรือ PSC (ใหม่) อยู่แล้ว ว่าจะทำในระบบใดไม่ใช่ ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ที่จะดำเนินการในเรื่องของธุรกิจพลังงาน เพื่อเป็นการเสริมรายได้ผลตอบแทนของรัฐบาล และผู้ถือหุ้นเท่านั้น