'ต่างชาติ' ซื้อหุ้นไทยหมื่นล้าน

'ต่างชาติ' ซื้อหุ้นไทยหมื่นล้าน

ต่างชาติซื้อหุ้นไทย "หมื่นล้านบาท" โบรกชี้หนีความเสี่ยงนโยบายทรัมป์ไม่ชัด หนุนราคาหุ้นอินทัชแตะนิวไฮรอบ1ปี

ทุนต่างชาติไหลเข้าทั้งสัปดาห์เดียวเฉียด1หมื่นล้านบาท ดันหุ้นอินทัชนิวไฮรอบปี “เมย์แบงก์” ชี้ความเสี่ยงต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนโยบายทรัมป์ ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจและบจ.ไทยแนวโน้มเติบโตดี ด้านเคทีบี แนะเพิ่มน้ำหนักหุ้นขนาดใหญ่ พร้อมประเมินดอกเบี้ยสหรัฐอาจปรับขึ้นช่วงไตรมาสที่ 2

ภาพรวมการซื้อขายของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยพบว่านักลงทุนต่างชาติ มียอดซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยหากนับจากวันที่ 17 มี.ค. ถึง 28 มี.ค. ซื้อสุทธิแล้ว 9,196.79 ล้านบาท ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า ในเดือนมี.ค.2560 ยังมียอดขายสุทธิรวม 6,927.85 ล้านบาท และนับจากต้นปีพบว่า นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 4,245.08 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิ 28,110.42 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ซื้อสุทธิ 470.58 ล้านบาท และ นักลงทุนรายบุคคล ขายสุทธิ 24,335.92 ล้านบาท 

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 29 มี.ค. ปิดการซื้อขายที่ 1,574.97 จุด ปรับตัวลดลง 1.75 จุด หรือ 0.11 % โดยกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่มีมูลค่าการซื้อขายที่คึกคัก นำโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)PTT ราคาหุ้นปิดการซื้อขายที่ 395.00 บาท ปรับตัวลดลง 2.23 % เนื่องจากเป็นวันขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับสิทธิ์เงินปันผล  ส่วนหุ้นบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ราคาหุ้นปิดที่ 55.75 บาทต่อหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า แต่ราคาปรับสูงสุดที่ 56.25 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ1ปี

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง มองว่าเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสหรัฐยังสูง ทั้งการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐที่ยังไม่ชัดเจน

“เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง แม้สหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 % แล้วก็ตาม เพราะความไม่มั่นใจนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีอยู่สูงมาก และเมื่อพิจารณาเศรษฐกิจของไทย ขยายตัวได้ที่ดีดึงดูดเงินทุนต่างชาติได้”

ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ยังเป็นไปตามที่คาดหมาย และเริ่มมีความสมดุลมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกสุทธิของไทย ยังขยายตัวทำให้เชื่อว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสที่จะทดสอบ 1,650 จุด ตามที่บริษัทได้ประมาณการเอาไว้

ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์ในปีนี้ บริษัทมองว่าการแข่งขันสูง จากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามา โดยใช้กลยุทธ์ทั้งด้านราคา การดึงเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน แต่บริษัทคาดหวังจะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ให้อยู่ที่ 8 % และรักษาค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ที่ 0.14 % เช่นเดิม ส่วนเป้าหมายการเติบโตของกำไรสุทธิปีนี้จะสูงจากปีก่อนที่ 15% ซึ่งปีนี้จะมีสัดส่วนรายได้งานด้านวาณิชธนกิจที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่  7-10 % จากปีก่อนที่ 5 % จากการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะนำบริษัท และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีก 5-6 หลักทรัพย์ 

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี(ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยว่า การที่หุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมองว่าเกิดจากแรงซื้อขายนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 8 วันติดต่อกัน โดยเข้าซื้อสุทธิแล้วกว่า 9.1 พันล้านบาท ซึ่งแรงซื้อจะหนาแน่นต่อไปถึงช่วงกลางเดือนเม.ย. ที่นักลงทุนจะให้น้ำหนักการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐอีกครั้งหนึ่งและคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในไตรมาส2ปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้แนะนำให้นักลงทุนของบริษัทปรับเพิ่มการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เพื่อรับกระแสเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยให้เลือกหุ้นในกลุ่ม ธนาคาร สื่อสาร และพลังงาน โดยให้เลือกหุ้นที่ยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือ เป็นหุ้นที่เป็นผู้นำของอุตสาหกรรม

นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มหุ้นกลุ่มธนาคารช่วงไตรมาสที่ 2 จะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาล ซึ่งกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง จะต้องหาแหล่งเงินทุนโดยสถาบันการเงินจะได้รับประโยชน์ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เริ่มอยู่ในระดับที่ทรงตัว

หากงานภาครัฐบาลถูกผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ยอดการกู้เงินของผู้รับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้น ช่วยลดแรงกดดันของระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงจากปัจจุบันเริ่มเห็นแล้วว่า เอ็นพีแอลเริ่มทรงตัว ส่วนการตั้งสำรองในปีนี้มีแรงกดดันที่ลดลง และการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารยังมีโอกาสอีกมาก เห็นได้จากมูลค่าหุ้นทางบัญชีของธนาคารหลายแห่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งเป็นโอกาสของนักลงทุน

สำหรับความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยล่าสุด ปิดการซื้อขายที่1,574.97 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ 1,542.94 จุด   โดยมีระดับราคาปิดกำไรต่อหุ้น (พี/อี) 17.39 เท่า จากปีก่อนที่ 18.55 เท่า  อัตราเงินปันผล ที่ 3.13 % เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.04 % มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน48,647.26 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 50,244.97 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)15.50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 15.07 ล้านล้านบาท