ทปสท.มีมติยื่นหนังสือ'หน. คสช.'ทบทวนม.44

ทปสท.มีมติยื่นหนังสือ'หน. คสช.'ทบทวนม.44

ทปสท.มีมติยื่นหนังสือ"หน. คสช." ให้ทบทวน เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหา หวั่นม.44เปิดช่องคนนอกเป็นอธิการฯม.รัฐได้ จะส่งผลกระทบ "ราชภัฏ-ราชมงคล" 4 ด้าน

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) แถลงผลการประชุมต่อกรณีที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่าจะใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เพื่อให้สามารถตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยจากผู้ที่เป็นข้าราชการหรือไม่เป็นข้าราชการ ก็ได้ว่า มติที่ประชุม ทปสท. ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวและจะเสนอให้พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวน

"เนื่องจากการออกคำสั่งดังกล่าว จะมีผลกระทบกับการดำเนินงานของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ที่พ.ร.บ. กำหนดให้บริการงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ และบริหารงานบุคคลตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ใน 4 ประเด็น ได้แก่"

1. ปัญหาด้านธรรมาภิบาล ซึ่งคำสั่งที่จะออกมาใหม่อาจขัดกับคำสั่ง คสช. ที่ 39/2559 (ตามม.44) เรื่องการจัดระเบียและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ข้อ 2 "ในกรณีที่ปรากฎว่าการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภา กรรมการสภา หรืออธิการบดี ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจยับยั้งการแต่งตั้งหรือการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว" ซึ่งตามคำสั่งนี้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งมาใหม่ และคำสั่งใหม่นี้ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาการสืบทอดอำนาจ สภาเกาหลัง ก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ หรือเป็นการเปิดช่องให้นักธุรกิจ นักการเมืองเข้ามาเป็นอธิการบดี รวมทั้งเป็นการทำลายหลักนิติธรรม และระบบคุณธรรม

2.ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคล เนื่องจากยังมีตำแหน่งผู้บริหารอื่นๆ อีก เช่น รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก ฯลฯ ที่หลายสถาบันแต่งตั้งจากคนนอก ซึ่งก็ขัดต่อกฎหมายเช่นกันจะทำอย่างไร หากเปิดช่องเหมือนตำแหน่งอธิการบดีหากมีการแต่งตั้งคนนอกเข้ามาจำนวนมาก ย่อมกระทบกับโครงสร้างอัตรากำลัง และงบประมาณของสถาบันแน่นอน และยังมีปัญหาเรื่องการบังคับบัญชา วินัย จรรยาบรรณ ตามมาอีกเนื่องไม่มีกฎหมายรองรับการบริหารงานบุคคลสำหรับคนที่ไม่ใช่ข้าราชการ/พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

3.การบริหารงบประมาณ เนื่องจากไม่มีระเบียบราชการรองรับ ให้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดินได้ จึงต้องไปจ่ายจากเงินรายได้(ค่าเทอมของนักศึกษา) และคนที่เคยเป็นข้าราชการมาก่อน ยังรับจากเงินบำนาญ ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายเนื่องจากเป็นการรับสองทางจากส่วนราชการ

4.ด้านคุณภาพ การนำเงินรายได้(ค่าเทอมนักศึกษา)ไปจ่ายเป็นเงินเดือนที่สูงมากย่อมกระทบต่อการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพบัณฑิตที่จบมา ซึ่งสะท้อนได้จากผลการสอบ ก.พ. ปี 2559 ซึ่งภาพรวมทั้งประเทศมีผู้สอบผ่านเพียงร้อยละ 4 และรวมถึงคุณภาพของบัณฑิตครูที่จบออกมาที่กำลังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้ด้วย 

"แม้ว่าคำสั่งคสช. พวกเราทปสท. ไม่สามารถแสดงออกถึงการต่อต้านได้ แต่ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย จะยื่นหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อให้พิจารณาทบทวน หรือกำหนดมาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหา ดังกล่าวต่อไป" ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว