ชี้ ‘ไอโอที’ แรงหนุนอุตฯยุคใหม่

ชี้ ‘ไอโอที’ แรงหนุนอุตฯยุคใหม่

‘เศรษฐพงค์’ เผยปี 63 อุปกรณ์เชื่อมต่อกว่า 2 หมื่นล้านชิ้น-เตรียมกำกับดูแล

“เศรษฐพงค์” เผย 'ไอโอที' แรงขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม คาดการณ์ปี 2563 อุปกรณ์ไอทีกว่า 2 หมื่นล้านชิ้นเชื่อมต่อทั่วโลก กสทช.เล็งกำกับดูแลผู้ให้บริการมือถือที่ได้รับใบอนุญาต อิงมาตรฐานสากลให้มากที่สุด

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงขององค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) ซึ่งทุกอุตสาหกรรมล้วนได้รับผลกระทบจากไอโอที บิ๊กดาต้า เทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสาร ทั้งในองค์กรระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อให้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ไอโอทีและแอพพลิเคชันต่างๆ ทั่วโลกได้

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ปี 2563 จะมีอุปกรณ์ไอทีจำนวนกว่า 20,000 ล้านชิ้น เชื่อมต่อถึงกันทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการต่างได้รับประโยชน์อย่างมากจากการทำงานที่เชื่อมต่อถึงกันจากเทคโนโลยีไอโอทีที่ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้อยู่มีความก้าวหน้า อย่างไรก็ตามก่อนมีไอโอทีเกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้นำเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูลในระยะไกลมาใช้ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง จึงเกิดเป็นแนวทางสำคัญทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม มีความแม่นยำและทันสมัยมากขึ้น ดังนั้นในหลายอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดที่ทำจะบุกเบิกเทคโนโลยีไอโอที

สำหรับอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีไอโอทีไปใช้ เช่น แอพพลิเคชั่นการติดตามทรัพย์สิน การติดตามสินค้า การขนส่ง การตรวจสอบติดตามด้านสิ่งแวดล้อม รถยนต์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ การดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ทำให้แอพพลิเคชั่นและอุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อกันได้อย่างเหมาะสม แม่นยำ และน่าเชื่อถือ

ตัวอย่างการนำไอโอทีมาใช้ในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ที่เชื่อมถึงกันเพื่อการวินิจฉัย ตรวจสอบ จัดการผู้ป่วย และทำการรักษาผู้ป่วยได้ดีกว่าและง่ายกว่าเดิม อุปกรณ์ไอโอทีส่วนใหญ่เน้นไปที่อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ เพื่อตรวจสอบติดตามผู้ป่วยได้ดีขึ้น ขณะที่ในโรงพยาบาลยังมีเซ็นเซอร์เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพและการตรวจสอบติดตามผู้ป่วย

โดยไอโอทีจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมการดูแลสุขภาพมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญต้องทราบว่ามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการดูแลสุขภาพ หรือการมีข้อมูลที่สำคัญของผู้ป่วยที่ดีกว่า ซึ่งโรงพยาบาลที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น หรือลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้ อีกทั้งอุปกรณ์สวมใส่ ( Wearable IoT) ที่กำลังถูกพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้นสามารถปรับปรุงความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันได้ เป็นโอกาสและความท้าทาย

เล็งกำกับดูแลอิงมาตรฐานสากล
เทคโนโลยีไอโอทีเข้ามาเป็นผู้เปลี่ยนเกมในระบบอัตโนมัติของอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ เริ่มติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานไอโอทีให้เป็นแพลตฟอร์มขององค์กรต่างๆ โดยได้เริ่มต้นใช้งานและทดสอบระบบไอโอที ให้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในอดีต เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าใหม่ๆ แก่อุตสาหกรรม

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อลดต้นทุนด้วยการแทนการใช้แรงงานคนแต่ได้ประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าการใช้แรงงานคนด้วยการตอบสนองต่อปัญหาแบบเรียลไทม์

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การกำกับดูแลเทคโนโลยีไอโอทีการพิจารณากำลังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานกสทช. อาจแบ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ (ไลเซ่นส์) อยู่แล้ว กับผู้ที่เข้ามาขอเป็นโอเปอเรเตอร์รายใหม่ และต้องดูด้วยว่าจะขอใช้ความถี่ในย่านใด เช่น ย่านอันไลเซ่นส์แบนด์ หรือในย่านที่ต้องประมูลคลื่น ทั้งนี้ กสทช. จะอิงกับมาตรฐานสากลให้มากที่สุด