รองเท้าติดฟังก์ชัน ตอบตลาดเฉพาะกลุ่ม

รองเท้าติดฟังก์ชัน ตอบตลาดเฉพาะกลุ่ม

รองเท้าสำหรับคนเท้าแบนเมดอินไทยแลนด์ เตรียมเปิดตัวในตลาดออนไลน์อีก 3 เดือนข้างหน้าในระดับราคาที่คนไทยเข้าถึง

รองเท้าสำหรับคนเท้าแบนเมดอินไทยแลนด์ เตรียมเปิดตัวในตลาดออนไลน์อีก 3 เดือนข้างหน้าในระดับราคาที่คนไทยเข้าถึง ตัวอย่างการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสร้างนวัตกรรมหรือฟังก์ชันพิเศษตอบความต้องการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ทั้งยังจะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าเครื่องหนังแบรนด์ไทยได้ด้วย

ภาวะเท้าแบนเป็นปัญหาที่พบบ่อยอาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลังการบาดเจ็บที่เท้าใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับสรีระและกิจกรรม หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ด้วยสรีระของเท้าที่ผิดรูปจะส่งผลเมื่อต้องยืนเดินนานๆให้มีอาการเมื่อยล้าบริเวณเท้า เจ็บเท้าและน่อง และในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดความเสื่อมของกระดูกและข้อวิธีการบรรเทาอาการโดยทั่วไปคือ การเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพแบบมีที่เสริมอุ้งเท้า

เสริมฟังก์ชันเพื่อสุขภาพเท้า

รองเท้าเพื่อสุขภาพที่เป็นแบรนด์นำเข้ามีราคา 3 พันบาทขึ้นไปถือว่าสูงมาก นายอดิธศักดิ์ ศิรมาตร์พรชัย กรรมการบริษัท วินเนอร์ชูส์ จำกัด มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนารองเท้าแบรนด์ไทยในราคาที่เอื้อมถึง จึงขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งรักษาภาวะเท้าผิดรูปและกำลังมองหารองเท้าสุขภาพที่ราคาไม่แพง ผู้ป่วยสามารถซื้อใช้งานได้จริง

หลังจากตกผลึกความคิดแล้ว เขานำโจทย์ปัญหานี้หารือกับเพื่อนสมาชิกในกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังจากบริษัท ตีรโปรดักส์ จำกัด และบริษัท ธนสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด จากนั้นเกิดการรวมตัวเฉพาะกิจเพื่อคิดค้นเครื่องมือที่สามารถวัดความผิดปกติของรูปแบบฝ่าเท้า และนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้าสำหรับคนเท้าแบน หรือ Orthonic Flat feet Shoe โดยมีจุดเสริมบริเวณฝ่าเท้าด้านในเพื่อรองรับอุ้งเท้าบริเวณที่มีปัญหาโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเท้าแบนได้

“ในการพัฒนาได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชเป็นที่ปรึกษาเรื่องของสรีรศาสตร์ของเท้า เหลังจากใช้เวลากว่า 2 ปีพัฒนาบริเวณส่วนที่รองรับอุ้งเท้าก็ได้ออกมาทั้งหมด 10 ดีไซน์ทั้งรองเท้าสวมในบ้านและรองเท้าสวมใส่นอกบ้าน นอกจากรองรับอุ้งเท้าแล้ว ยังเบา นุ่มและใส่สบาย พร้อมกันนี้้ยังได้พัฒนาปุ่มนวดเท้า 13 ปุ่มตอบโจทย์ในเรื่องการสวมใส่สบายและได้จดสิทธิบัตรแล้ว" นายอดิธศักดิ์กล่าว

สำหรับรองเท้าที่ผลิตขึ้นดังกล่าว ทางสมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์ฯ ได้พัฒนาให้มีราคาประมาณ 500 บาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าที่ราคาสูงถึง 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการผลิตในโรงงาน น่าจะพร้อมจำหน่ายในอีก 3 เดือนผ่านช่องทางออนไลน์ของแฟนเพจกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนัง ก่อนที่จะขยายสู่ช่องทางอื่นๆ ต่อไป ในอนาคตจะออกแบบรองเท้าสุขภาพสำหรับผู้หญิงให้มีความทันสมัยและแฟชั่นยิ่งขึ้น

การพัฒนารองเท้าสุขภาพนี้ถือเป็นการตอบโจทย์และตระหนักถึงกลุ่มคนที่มีปัญหาโดยตรง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถตีตลาดถึงกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเดียวกันในต่างประเทศได้

“หากมองศักยภาพในการแข่งขัน ตอนนี้เราไม่สามารถที่จะแข่งขันด้านราคา ในขณะที่เทคโนโลยีก็ยังตามหลายประเทศไม่ทัน ดังนั้น การแข่งในด้านฝีมือจึงเป็นสิ่งจำเป็นและยังต้องเพิ่มเรื่องของนวัตกรรมหรือฟังก์ชั่นพิเศษ อย่างเรื่องสุขภาพ ก็จะช่วยให้เรามีศักยภาพที่เหนือกว่าคู่แข่งได้” นายอดิธศักดิ์กล่าว

รวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็ง

นางเยาวรัตน์ พลานุสนธิ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังไทย กล่าวว่า กลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 40 ราย ครอบคลุมทุกประเภทผลิตภัณฑ์ สมาชิกได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมการผลิต ร่วมแบ่งปันความรู้ หาวิธีการลดต้นทุน พัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งกลไกที่จะเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง

โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น โดยขณะนี้ได้เร่งปรับรูปลักษณ์ ตราสินค้า ช่วยกันเติมเต็มในสิ่งที่วงการเครื่องหนังไทยยังขาด ทั้งยังได้ผลักดันทายาทที่เป็นคนรุ่นใหม่ของผู้ประกอบการภายในกลุ่ม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ

แต่อย่างไรก็ดี ทางกลุ่มยังคงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์และผลักดันการศึกษาดูงาน ซึ่งเชื่อว่าหากได้รับการส่งเสริมที่ดีอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องหนังสามารถไปได้ไกลและเป็นที่รู้จักได้ดีกว่านี้แน่นอน