'ประกันข้าว' ปี59สินไหมพุ่ง 546ล้าน

'ประกันข้าว' ปี59สินไหมพุ่ง 546ล้าน

ประกันข้าวปี59 "สินไหมพุ่ง 546 ล้าน" บริษัทประกันยื้อลดเบี้ยปี 60 เหลือ90 บาท/ไร่ อ้างเบี้ย100 บาทถูกสุด

ประกันภัยข้าวปี 59 สินไหมอ่วม 546.57 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ 151.18 ล้านบาท แต่ขยายพื้นที่รับประกันถึง 27 ล้านไร่ ใกล้เป้า 30 ล้านไร่ รัฐเล็งถกกดเบี้ยปี 60 เหลือ 90 บาทต่อไร่จากเดิม 100 บาทต่อไร่ หรือบวกความคุ้มครองเพิ่ม ด้านประกันแทงกั๊กขอศึกษา โอดเบี้ยถูกแล้ว และต้องรอประเมินความเสียหายน้ำท่วมใต้เมื่อต้นปีนี้

แหล่งข่าวประกันภัย เปิดเผยว่า รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังถึงผลการดำเนินงานการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 พบว่ามีจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 1.57 ล้ายราย เป็นจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเข้าร่วมโครงการ 27.18 ล้านไร่ มีค่าเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,921.73 ล้านบาท มีค่าสินไหมทดแทนรวม 546.57 ล้านบาท และมีภาระงบประมาณของภาครัฐ 1,834.02 ล้านบาท

โดยการรับประกันภัยโครงการฯในปี 2559 เพิ่มขึ้น จากในปี 2558 ที่มีจำนวนเกษตรกรผู้เอาประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 92,064 ราย เป็นจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเข้าร่วมโครงการ 1.51 ล้านไร่ มีค่าเบี้ยประกันภัยรับรวม 614.34 ล้านบาท มีค่าสินไหมทดแทนรวม 151.18 ล้านบาท และมีภาระงบประมาณรัฐ 481.36 ล้านบาท

สำหรับแนวทางเดินหน้าการรับประกันภัยในโครงการปีการผลิต 2560 ที่ทางภาครัฐ เตรียมเสนอ ครม.เร็วๆ นี้ มีแนวคิดของลดเบี้ยประกันจาก 100 บาทต่อไร่ เหลือ 90 บาทต่อไร่ หรือถ้าไม่ลดเบี้ย ควรจะเพิ่มความคุ้มครองจากเดิม 1,111 บาทต่อไร่ เพื่อจูงใจให้ชาวนาทำประกันนาข้าวมากขึ้น ด้วยจำนวนพื้นที่รับประกันภัยในโครงการที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงเป้าหมาย 30 ล้านไร่

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า โครงการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 คาดว่าภาครัฐน่าจะเริ่มได้เร็วขึ้น ด้วยจำนวนพื้นที่โครงการประกันภัยข้าวนาปีเพิ่มขึ้นล้านไร่ มาเป็น 20 กว่าล้านไร่ และมีแนวคิดอาจจะขยายการรับประกันภัยไปยังพืชผลการเกษตรอื่นๆ รวมถึงประมงและปศุสัตว์ด้วย โดยทางคปภ. อยู่ระหว่างให้ฝ่ายพัฒนาและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ช่วยกันคิดปรับปรุงให้การรับประกันภัยในโครงการฯปีนี้ดีขึ้นกว่าอีกก่อนด้วย และที่สำคัญ คปภ.เร่งปูพรมเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ความรู้เกษตรกรผ่านโครงการ Training for the trainers ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันภัย และลดอุปสรรคในโครงการฯ ควบคู่กับเตรียมระบบเคลมสินไหมให้ชาวนาได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ ความคืบหน้าแนวทางการจัดตั้งกองทุนประกันภัยต่อภาคการเกษตร ที่ได้เสนอคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งสำนักงานอัตราเบี้ยประกันภัย (IPRB) ได้ข้อสรุปหลังการศึกษาแล้วจะนำไปหารือกับภาคธุรกิจประกันวินาศภัยและภาครัฐต่อไป หากภาครัฐยังคงสนับสนุน

“ในปีนี้คงต้องมีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลให้มากขึ้น ทำงานกันบูรณาการแบบประชารัฐ เพื่อให้การเคลมสินไหมไม่มีปัญหา ดูแลเกษตรกรได้ตั้งแต่ต้นจนสุดกระบวนการ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการขายร่วมกับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. เจาะเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ชาวนาได้รับความสะดวกก็จะบอกกันปากต่อปาก”

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า เบี้ยประกันภัยในโครงการฯ ที่ 100 บาทต่อไร่ ถือว่าถูกมากและเบี้ยที่ถูกจึงต้องใช้ผู้สำรวจความเสียหายโดยภาครัฐ เพราะถ้าใช้ผู้สำรวจภัยอิสระตามโมเดลของเกาหลีใต้ จะทำให้ค่าเบี้ยจะแพงขึ้น อีกทั้งการรับประกันภัยในโครงการฯปี 2560 ยังต้องรอผลสำรวจความเสียหายจากภัยน้ำท่วมภาคใต้เมื่อต้นปีก่อน เนื่องจากการรับประกันภัยข้าวในภาคใต้ มีจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่มีประกันภัยทั้งสิ้น 18,000 ไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้น 4 แสนไร่ ถ้าเสียหายทั้งหมดอัตราความเสียหายมีโอกาสเพิ่มเป็น 100% ได้