MONO - ซื้อเก็งกำไร

MONO - ซื้อเก็งกำไร

เหมันต์พัดผ่าน วสันตฤดูแทนที่

ประเด็นการลงทุน

ภาพการขาดทุนในปีที่แล้วกำลังจะเลือนหายไป และจะถูกแทนที่ด้วยภาพของกำไรที่จะพลิกกับมาอย่างแข็งแกร่ง เราเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีสำหรับ MONO โดยมองว่าบริษัทมีโอกาสที่จะพลิกกลับมาเป็นกำไรได้อีกครั้งเริ่ม ตั้งแต่ในไตรมาส 1/60 หนุนด้วยการฟื้นตัวของเม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลทีวี และค่าเฉลี่ยอัตราค่าโฆษณาที่สูงขึ้น เรายังเชื่อว่าการพลิกกลับมาเป็นกำไร
ในไตรมาส 1/60 จะเป็นเพียงแค่ก้าวแรกของการเติบโตของกำไรในอนาคต โดยหลังจากการพลิกกลับมาเป็นกำไรในไตรมาส 1/60 กำไรในไตรมาส 2/60 คาดจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นสำหรับธุรกิจสื่อ ในฝั่งของ T-Moment ได้ประเดิมหนังเรื่องแรกของค่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คาดจะหนุนอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรของเรา เรายังคงแนะนำ ซื้อเก็งกำไร จากแนวโน้มการพลิกกลับมาเป็นกำไรได้เต็มปีในปีนี้

เรตติ้ง MONO29 คาดปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

เป้าหมายค่าเฉลี่ยเรตติ้ง (อายุ 4+) ในปี 2560 อยู่ที่ 0.7 และ ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 0.8 ซึ่งเรตติ้งของ MONO29 ในเดือน ก.พ. 2560 ไต่ขึ้นมาอยู่ที่ 0.65 (ทำจุดสูงสุดใหม่ 0.72 ในเดือน ม.ค. 2560) เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 2559 ที่ 0.50 หรือเพิ่มขึ้น 30% YoY จากการออกอากาศภาพยนตร์ใหม่ๆ และฐานผู้ชมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น Fast & Furious 6 และ Transformer 3 เมื่อเราเทียบเรตติ้ง MONO29 กับทางช่องอื่นที่มีโปรแกม หนังที่เหมือนกัน เช่น ช่อง 7 ที่ฉาย Transformers 3 ได้เรตติ้งที่ 6.97 เทียบกับ MONO29 ได้เรตติ้งที่ 2.63 ทำให้เรามองเห็นถึงโอกาสที่เรตติ้ง MONO29 จะเพิ่มขึ้นเพื่อปิดช่องว่างดังกล่าวได้ หากในอนาคตฐานผู้ชมมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นอ้างอิงจากข้อมูลที่เรามี ภาพยนตร์ที่ทำการฉายซ้ำในช่อง (re-run) บางเรื่องมียอดผู้ชมที่สูงกว่าการฉายครั้งแรกด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น Man of Steel ( ในปี 2558 มีค่าเฉลี่ยเรตติ้งที่
2.20 เทียบกับ ในปี 2560 ที่มีค่าเฉลี่ยเรตติ้งที่ 3.7) และ Rush Hour 2 (ในปี 2558 มีค่าเฉลี่ยเรตติ้งที่ 1.79 เทียบกับ ในปี 2559 ที่มีค่าเฉลี่ยเรตติ้งที่ 3.01) จากปัจจัยข้างต้นเราเชื่อว่าเรตติ้งMONO มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

จุดเริ่มต้นที่ดีในไตรมาส 1/60

เราเชื่อว่า MONO มีโอกาสที่จะกลับมามีกำไรหรือเห็นการคืนทุนเริ่มตั้งแต่ในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากเม็ดเงินโฆษณาดิจิตอลทีวีในเดือน ม.ค.- ก.พ. ดีขึ้นและมีการปรับอัตราโฆษณาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเราประมาณการกำไรหลักไตรมาส 1/60 เบื้องต้นที่ 20-30 ล้านบาทพลิกกลับมาเป็นกำไรหลัก YoY และ QoQ ซึ่งเราคาดอัตราการจองเวลาโฆษณาในไตรมาส 1/60 ที่ 50-60% เทียบกับในไตรมาส 4/59 ที่ 30-40% เราคาดอัตราค่าโฆษณาเฉลี่ยในไตรมาส 1/60 ที่ 2.2 หมื่นบาทต่อนาที่ เพิ่มขึ้น 21% YoY และ QoQ และยังมีแนวโน้มที่จะเห็นกำไรที่เพิ่มขึ้นจากหนังใหม่ของค่าย T-Moment (Oversize ทะลายพุง) ที่ออกฉายไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีการปรับค่าโฆษณาขึ้นแต่ CPRP ในปี 2560 ยังอยู่ที่ 1.9 หมื่นบาทต่อ 30 วินาที ซึ่งเราคิดว่ายังคงต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ


2017 ปีแห่งการเติบโต

บริษัทมีเป้าหมายรายได้ในปี 2560 ที่ 3.3 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่เราคาดในเชิงอนุรักษ์นิยมที่ 2.7 พันล้านบาท คาดอัตราค่าโฆษณาเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 28% YoY มาที่ 2.5 หมื่นบาทต่อนาที ด้วยอัตราการจองเวลาโฆษณาที่ 70% (เทียบกับในปี 2559 ที่ 57%) ส่วนรายได้จากบริการเสริมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่คาดว่าจะคงที่ YoY โดยวีดีโอคอนเทนต์และ Video on demand จาก Monomax จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทดแทนรายได้ในส่วนของธุรกิจ SMS ดั้งเดิมที่ชะลอตัวลงไป ธุรกิจหนังภาพยนตร์ทาง T-moment ได้วางแผนที่จะทำหนังอย่างน้อย 3 เรื่องต่อปี สุดท้ายรายได้อื่นๆ คาดจะได้แรงหนุนจากรายได้สปอนเซอร์ของบาสเกตบอล ลีก ที่จะเข้ามาในปีนี้