'ทีเอ็มบี' หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.3%

'ทีเอ็มบี' หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.3%

"ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี" หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.3% จากระดับเดิมที่ 3.5% ประเมินค่าเงินอ่อนค่าแตะ 36 บาทช่วงปลายปี รับห่วงส่งออกแพ้เวียดนาม

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะฟื้นตัวระดับปานกลาง โดยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.5 เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังกลับมาเติบโตได้ไม่เต็มที่หลังจากติดลบต่อเนื่องมา 3 ปี คาดว่าโตร้อยละ 1.7 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 2.2 เพิ่มขึ้นไม่มากจากที่โตร้อยละ 0.4 ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังเปราะบาง คาดกลุ่มเอสเอ็มอีเติบโตร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นไม่มากจากร้อยละ 0.5 ในปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในตลาดอาเซียน และ กลุ่ม CLMV ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวแต่ยังไม่เป็นอัตราเร่ง คาดขยายตัวร้อยละ 3 แต่อาจจะขยายตัวได้มากกว่าคาด เนื่องจากภาระหนี้โครงการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง และ รายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย มาจากกการลงทุนภาครัฐ คาดว่าในปีนี้การลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และ มีเม็ดเงินเพิ่มเติมจากงบพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัด วงเงินกว่า 75,000 ล้านบาท ส่วนเครื่องยนต์หลักอีกด้าน คือการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะแตะ 35 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.2 ส่วนการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2 สูงขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 ซึ่งการส่งออกของไทยน่าเป็นห่วง หากไม่ปรับโครงสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของสายพานการผลิตของโลก การส่งออกไทยจะตกขบวน และแพ้เวียดนามที่เปลี่ยนโครงสร้างไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์

นายนริศ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมาจากปัจจัยต่างประเทศ คือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะไม่แรงอย่างที่ตลาดคาดไว้ ทำให้อาจจะมีการขายทำกำไรในตลาดหุ้น และ ตลาดพันธบัตร การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด ) อย่างต่อเนื่องและอาจปรับขึ้นมากกว่าที่คาด หมดยุคดอกเบี้ยต่ำ และ ความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศส ทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้มีความผันผวนสูงมาก โดยเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าแตะที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี แม้ว่าจะแข็งค่าเคลื่อนไหวประมาณ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงนี้ เนื่องจากเมื่อเฟดเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย กระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับไปยังสหรัฐหนุนดอลลาร์แข็งค่า แต่เชื่อว่าเงินบาทยังเป็นเงินสกุลที่ปลอดภัยของอาเซียน ( Safe Haven of Asean) ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในปีนี้จะทรงตัวที่ร้อยละ 1.50 ตลอดปี และ มีแนวโน้มปรับขึ้นในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 2

ด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ คาดขยายตัวร้อยละ 5.7 ดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2 แต่ลดลงจากร้อยละ 6.3 จากประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดลงของจีดีพี สินเชื่อมาจากการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ นำโดยธุรกิจก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจการค้า ส่วนอุตสาหกรรมการผลิต และเอสเอ็มอี ยังต้องเฝ้าระวัง ด้านเงินฝากขยายตัวร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นตามความต้องการสินเชื่อที่จะเร่งตัวในครึ่งปีหลัง จะได้เห็นการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้รุนแรงขึ้น ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล คาดว่าจะทรงตัวที่ร้อยละ 2.7