‘เมล็ดยางพารา’วัสดุใหม่อุตฯเครื่องสำอาง

‘เมล็ดยางพารา’วัสดุใหม่อุตฯเครื่องสำอาง

อดีตนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์สกินแคร์จากน้ำมันเมล็ดยางพารา ชูคุณสมบัติที่ใกล้เคียงน้ำมันอัลมอนด์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

เครื่องสำอางจากน้ำยางพารา นวัตกรรมที่มาจากผลงานวิจัยทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ กำลังเป็นสินค้าติดลมบนในตลาดอาเซียน ล่าสุดอดีตนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์สกินแคร์จากน้ำมันเมล็ดยางพารา ชูคุณสมบัติที่ใกล้เคียงน้ำมันอัลมอนด์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

งานวิจัยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า ชุดโครงการยางพารา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวหน้าและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าจากน้ำมันเมล็ดยางพารา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะขยายผลเชิงพาณิชย์สู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

เครื่องสำอางจากสวนยาง

“เราเริ่มวิจัยเมื่อปี 2556 ตอนนั้นที่เชียงรายก็มียางพาราอยู่บ้าง มองเห็นเมล็ดยางพาราที่ร่วงหล่นเป็นของเหลือทิ้ง น้อยครั้งที่จะถูกเก็บมาเพาะกล้า จึงสนใจและนำไปวิจัยกระทั่งพบว่า ในเมล็ดยางพารามีน้ำมัน 30-40% ของน้ำหนักโดยรวม” นายกฤษฎา กิตติโกวิทธนา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท สเปเชียลตี้ อินโนเวชั่น จำกัด

จากการวิเคราะห์น้ำมันเมล็ดยางพารา พบมีกรดไขมันสำคัญทั้งโอเลอิคและไลโนเลอิคที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ทั้งยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและการอักเสบ โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ทั้งนี้ กระบวนการเตรียมน้ำมันเมล็ดยางพารา ใช้วิธีการสกัดเย็น โดยบดเมล็ดยาง แล้วนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส ซึ่งจะไม่ทำลายสารสำคัญจากนั้นนำมาหีบเย็น เมล็ดยางพารา 100 กิโลกรัมจะได้น้ำมันราว 40 กิโลกรัม

เมื่อครั้งยังเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายกฤษฎา มองว่า น้ำมันเมล็ดยางพารามีศักยภาพที่จะต่อยอดเชิงพาณิชย์ หลังทดสอบคุณสมบัติและค่าความเป็นพิษต่อเซลล์ในระดับปลอดภัยแล้ว จึงเริ่มต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว จากนั้นทดสอบประเมินความพึงพอใจในกลุ่มตัวอย่างพบว่า ลักษณะเนื้อสัมผัส สี ความหนืดเป็นที่พึงพอใจ แต่ต้องปรับเรื่องกลิ่นที่แรง

ในขณะที่การทดสอบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้าที่ผสมน้ำมันเมล็ดยางพารานั้น ได้เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ในตลาด พบว่า ลักษณะฟอง ประสิทธิภาพการทำความสะอาด และการขจัดคราบเครื่องสำอาง ใกล้เคียงกัน แต่น้ำมันเมล็ดยางพาราสามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้ดีกว่า

เปิดร้านออนไลน์รองรับ

ข้อมูลจากแล็บถูกนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ในปี 2559 นำร่อง 2 ผลิตภัณฑ์คือ โฟมมิ่งออยล้างเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว ซึ่งทดสอบเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ในตลาดเช่นกัน พบว่า สามารถคืนความชุ่มชื้นให้ผิวได้มากกว่า 20%

“จากผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการวิจัย เราได้ปรับผิวสัมผัสของผลิตภัณฑ์ให้นุ่มขึ้น ปรับเปลี่ยนส่วนผสมบางชนิดเพื่อให้เนื้อโฟมมีความหนา พอง นุ่มมากกว่าสูตรที่พัฒนาในช่วงของงานวิจัย เพื่อให้ตอบโจทย์ตามที่ผู้บริโภคต้องการ”

ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเมล็ดยางพาราจะเปิดตัวเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เริ่มจากตลาดออนไลน์เป็นหลัก เพราะต้องการเน้นนำเสนอข้อมูลที่เป็นจุดแข็งของน้ำมันเมล็ดยางพารา ซึ่งใกล้เคียงกับน้ำมันอัลมอนด์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้น้ำมันเมล็ดยางพาราที่มีต้นทุนถูกกว่านั้นมีโอกาสที่จะทดแทนน้ำมันนำเข้าในราคาสูง

นายกฤษฎาได้เตรียมแพลตฟอร์มสำหรับอีคอมเมิร์ซในรูปของออนไลน์มอลล์เพื่อเป็นช่องทางจำหน่าย โดยเน้นโพซิชันเป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มาจากฐานการวิจัยและใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลัก

“นอกจาก 2 ผลิตภัณฑ์นำร่อง เรากำลังพัฒนาครีมกันแดดจากพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติต้านแสงสีฟ้า ด้วยมองว่า ปัจจุบันเราใช้เวลาอยู่กับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน และแสงสีฟ้ามีพลังงานสูงสามารถเข้าสู่ชั้นผิวภายใน เป็นโอกาสทางการตลาดที่ดี และคาดว่าจะพัฒนาเสร็จในช่วงปีนี้ ก่อนจะต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป” นายกฤษฎากล่าว