ถอดหน้ากาก “กันต์”

ถอดหน้ากาก “กันต์”

วางดราม่าแล้วมารู้จักตัวตนหลังหน้ากาก “กันต์ กันตถาวร” พิธีกรที่ใครต่อใครต่างพูดถึง

10 โมงเช้าของวันทำงานกลางสัปดาห์เราได้คิว กันต์ กันตถาวร ที่ร้านกาแฟในอาคารเวิร์คพอยท์ สตูดิโอ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน เขาเพิ่งเสร็จจากการสัมภาษณ์กับนิตยสารฉบับหนึ่ง และถัดจากเราไปก็น่าจะเป็นอีกทีมตรงโต๊ะด้านนอกที่กำลังเตรียมอุปกรณ์รอบันทึกภาพ

ไม่แปลกใจสักนิดว่าทำไมใครๆ ก็อยากคุยกับกันต์ เพราะนอกจากเป็นดีเจ นายแบบ พระเอกระดับในแถวหน้าแล้ว รายการที่เขาเป็นพิธีกรต่างมีกระแสตอบรับในระดับ Talk of the town แทบทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ I Can See Your Voice Thailand นักร้องซ่อนแอบ, The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ไปจนถึงแฟนพันธุ์แท้ Super Fan ซึ่งเมื่อผนวกทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว บางความเห็นนิยามเขาว่าเป็นพิธีกรที่น่าสนใจที่สุดในยุคนี้จนชวนสงสัยว่าภายใต้หน้ากากสตาร์หนุ่มที่กำลังเฉิดฉายมากที่สุดในเวลานี้มีอะไรซ่อนอยู่

เวลาที่มีเสียงชื่นชมว่าคุณกำลังเป็นพิธีกรที่โดดเด่น น่าจับตา คุณมีความสุขกว่าเดิมไหมและจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร

กันต์: มันต้องรู้สึกดีอยู่แล้ว มันเป็นความรู้สึกในมุม Positive (ด้านบวก) ที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไปมันใช้ได้ มันมีคนชอบอยู่ ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นให้ตัวเองพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าถามว่าผมจัดการกับมันอย่างไรบ้าง สำหรับผมปัจจุบันนี้มันไม่ใช่การจัดการกับชื่อเสียงแล้ว เพราะผมเองก็อยู่ในวงการมาพอสมควร เป็นดีเจ เป็นนายแบบ เป็นนักแสดงมา จนได้เป็นพิธีกร ดังนั้นถ้าถามเรื่องการวางตัวตลอด 1 ปีที่ผ่านมานี้ มันไม่มีอะไรที่ต่างไปจากก่อนหน้า เพียงแต่ปัจจุบันมันคือช่วงเวลาแรกๆ (เกือบๆ 2ปี) ที่ผมได้ทำงานพิธีกร มันจึงถูกจับตาด้วยความสงสัยว่า พระเอกคนนี้พอมาเป็นพิธีกรแล้วจะทำได้ขนาดไหน ซึ่งคำตอบก็เป็นมุมมองของแต่ละคน

อีกอย่างคือวงการบันเทิงก็มักจะมีวัฎจักรที่ถูกกำหนดขึ้น ซึ่งวงจรของมันก็จะเริ่มจากการเป็นพระเอก พออายุมากกว่านี้ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นเพื่อนพระเอก จากนั้นก็เป็นพ่อพระเอก เป็นผู้จัด เป็นพิธีกร หรือก็ผันตัวเองไปทำธุรกิจ แต่ผมพิสูจน์ว่า ผมในวัย 31 ปี ตัดสินใจที่จะเป็นพิธีกรเลย เพราะหน้าที่พิธีกรมันเป็นสิ่งที่ผมอยากจะทำอยู่แล้วตั้งแต่แรก

ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเอง ทำไมพระเอกพิธีกรคนนี้ถึงได้รับความสนใจมากกว่าใคร

กันต์: ผมเรียนการตลาดมา ขออธิบายในแบบของผมละกัน ผมว่ามันคือการถูกที่ ถูกเวลา ถูก Content มันไม่ใช่ว่าเราเก่งกว่าใครนะ แต่มันมาจากส่วนประกอบต่างๆ ที่บ่มเพาะมาจนถึงวันนี้

อย่างตัวผมเอง เริ่มจากการเป็นดีเจ ถูกสอนเรื่องการพูด การดำเนินรายการ มีหัวหน้า มีรุ่นพี่รอบข้างที่ EFM อย่างพี่ฉอด (สายทิพย์ มนตรีกุล) พี่อ้อย (นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล) พี่โป้ง (ณัฎฐพงษ์ แตงเกษม) พี่โอปอล์ (ปาณิสรา พิมพ์ปรุ) และคนอื่นๆที่เขามีประสบการณ์มานาน ผมก็จำแง่มุมพวกเขามา สังเกตจังหวะการพูด ความชัดถ้อยชัดคำ การหายใจ พอเล่นละครผมก็เอาพื้นฐานตรงนี้มาใช้ แล้วก็เรียนรู้เรื่องมุมกล้อง การเล่นกับกล้อง เล่นกับไฟเพิ่ม พื้นฐานทั้งหมดนี้ทำให้เมื่อมาเป็นพิธีกรก็ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่ เหมือนกับเด็กที่เรียนจบประถมมาแล้ว ก็จะสามารถเรียนมัธยมได้ง่ายขึ้น ส่วนปัจจัยภายนอกมันคงเป็นเพราะบ้านเรากำลังอยู่ในช่วงที่พิธีกรกำลังขาด คือพิธีกรซึ่งมีลักษณะเป็น M.C. (Master of ceremony) สามารถนำรายการจากต้นจนจบได้มีเยอะ แต่คนที่เป็น Host ซึ่งหมายถึงเป็นศูนย์รวมรายการจริงๆ มันมีไม่กี่คน และผมอาจจะเป็น Host รายการในเจนเนอเรชั่นของผม

 มีนักการตลาดมากมายที่วิเคราะห์ความสำเร็จของรายการ The Mask Singer แล้วในฐานะที่เป็นพิธีกร คุณคิดว่ามันโด่งดังเพราะอะไร

กันต์ : มันถูกจริตคนไทยครับ คนไทยอยากรู้อยากเห็น เขาอยากรู้ว่าไอ้คนคนใส่หน้ากากนี้มันคือใครกัน เรื่องการร้องเพลงอาจจะรองลงมาเป็นส่วนประกอบ แล้วทีมงานเราก็พร้อมจะจริงจังในเรื่องเล่นๆ คุณลองไปดู Original ของเกาหลีสิ เขาก็จะทำอีกแบบ ใส่หน้ากากง่ายๆ แต่เราทำให้มันดูเวอร์วัง แต่งตัวเต็ม แล้วทุกอย่างเป็นความลับหมด เวลาผู้เข้าแข่งขันมาทุกอย่างที่นี่ (สตูดิโอ เวิร์คพอยท์) จะถูกจัดการหมด เขาไม่สามารถขับรถเข้ามาได้ ได้แต่โทรแจ้งแล้วทีมงานไปรับ อยากได้อะไรบอก ข้างในมีห้องน้ำ นั่นทำให้ความลับถูกปิดจริงๆ คนก็อยากจะรู้ ช่วงนั้นผมยังนึกเลยว่าที่เวิร์คพอยท์ยังกะ C.I.A. เพราะมันลับมาก ทั้งนี้มันก็สอดคล้องไปกับทีมงานที่วางแผนได้ดี ทั้งการปล่อยโฆษณา ทีมออนไลน์ ที่สร้างความรู้สึก จนเป็นกระแส และทำให้รู้สึกว่าหากคุณไม่ดูรายการนี้สดๆ คุณจะถูกสปอยล์ได้

ถ้าเปลี่ยนจากพิธีกรมาเป็นผู้แข่งขัน คุณจะเลือกใส่หน้ากากอะไร

กันต์: หน้ากากหมา เพราะผมเป็นคนชอบหมา แค่นั้น จบ

 แล้วตัวตนของคุณจริงๆ เมื่อไม่มีหน้ากากเป็นแบบไหน

กันต์: ผมเป็นคนง่ายๆ สนุกสนาน แล้วผมก็ไม่ยึดติดกับวัตถุนิยมกับอะไรแล้วนอกจากเป็นสิ่งที่ผมชอบจริงๆ

เอาจริงๆ เลยนะ คือผมไม่สนใจเท่าไรว่าใครจะมองผมอย่างไร เพราะผมคงไปแคร์ทุกคนไม่ได้ ผมแค่สนว่าคนรอบข้างผมมีความสุขรึเปล่า สมมติว่าคุณไม่ชอบผม ความคิดเห็นของคุณไม่ส่งผลอะไรเลยกับการใช้ชีวิตของผม และถ้าคนไม่ชอบผมเพราะผมยังไม่ดีพอ ผมมองเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ มันทำให้เรารู้ว่าเขามีเหตุผลอะไร ถึงวันนี้ผมคงทำให้ถูกใจทุกคนไม่ได้ ทำได้แค่ทำหน้าที่ตัวเองอย่างเต็มที่ แล้วแคร์คนที่ผมควรแคร์ ซึ่งหมายถึงพ่อ แม่ แฟน เพื่อน หมา คนร่วมงาน คนที่อยู่รอบๆ รัศมีการทำงานของเรา หลักการทำงานของผมคือจะทำให้ทีมงานสนุกก่อน เพราะผมเชื่อว่ารายการจะสนุกได้ทีมงานต้องสนุก รายการจะมีเสียงหัวเราะได้ เราก็ต้องหัวเราะกับมันจริงๆ ไม่ใช่ 5-4-3-2 เริ่ม! แล้วมาแกล้งหัวเราะ แบบนั้นมันไม่ใช่

ถึงวันนี้อะไรคือบทเรียนที่ค้นพบจากการทำงาน

กันต์ : (นิ่งคิด) คือการรู้ว่า “รู้อะไรไม่สู้… รู้แบบนี้” มันเป็นความรู้สึกว่าในวันนั้นเราน่าจะทำแบบนี้ หรือทำแบบนี้ดีกว่าซึ่งมันหมายความว่าเราเองก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอะไร อะไรดีกว่ากัน แต่เวลานั้นเรากลับไม่ทำ อาจจะเป็นเพราะตอนนั้นเรารู้สึกอย่างอื่น รู้สึกง่วง เหนื่อย เลยทำออกมาไม่เต็มที่ ผมจะไม่เสียใจอะไรเลยนะ ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว ใส่หมดทุกเม็ด แต่ถ้ารู้แบบนี้เราน่า…มันเหมือนกับว่าเรารู้แล้วแต่ทำไมไม่ทำ มันก็น่าเสียดาย

ทุกวันนี้คุณดำเนินชีวิตอย่างไร

กันต์: ผมพยายามทำให้ชีวิตเป็นวงกลมนะ สมัยก่อนชีวิตของผมมุ่งไปที่การงานแบบเดียว เคยถึงขนาดไม่สบายเข้าโรงพยาบาลแต่ไม่สามารถแอดมิทได้เพราะติดถ่ายละคร และผมก็กังวลกับเพื่อนร่วมงานอื่นๆ คือถ้าผมป่วยแล้วบอกทีมงานผมเชื่อว่าเขาจะเข้าใจนะ แต่เราก็รู้สึกว่ายังมีฟรีแลนซ์ที่รับเงินวันต่อวัน เขาจะขาดรายได้ ผมจะทำคิวงานเขารวนอีก ผมไม่อยากสร้างความลำบากให้ผู้อื่น เพราะการออกกองแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่าย ไหนจะคิวนักแสดงคนอื่น นัดรถปั่นไฟ ผมไม่อยากให้การป่วยของผมต้องทำร้ายใคร แล้วอะไรที่ผมทำได้ ผมก็จะทำ

วันนี้ผมพยายามทำให้ทุกอย่างมันไปด้วยกัน พยายามจะบาลานซ์ชีวิต จัดสรรชีวิต ให้ในทุกพื้นที่มีความสุขโดยที่ไม่คิดว่าผมขาดอะไรไป ผมมองว่าแต่ละคนมันมีจุดสมดุลที่ไม่เท่ากัน สำหรับผมวันนี้ก็ถือว่าเลือกได้ประมาณหนึ่ง ไม่ใช่เลือกได้ในความหมายว่าเรื่องมาก แต่ผมว่าผมมีเพียงพอแล้ว คุณอย่าลืมว่าเราจะพอเพียงได้คุณต้องเพียงพอก่อน แล้ววันนี้ผมว่าผมเพียงพอแล้ว ผมมีบ้านที่ผมอยากมี ไม่ใช่บ้านที่งบผมซื้อได้ ผมมีรถที่อยากมี ไม่ใช่รถที่ผมมีงบเท่านี้ที่ผมซื้อได้ ผมมีหมาที่ผมอยากเลี้ยง อยากกินอะไรที่อยากกิน อยากไปเที่ยวผมสามารถพาไปได้ ทำอะไรที่สร้างรอยยิ้มให้คนรอบข้างได้ และสำหรับผมมันพอแล้ว

จาก “ถอนหน้ากาก กันต์” จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม 2560