ปภ.สั่งจังหวัดรับมือพายุฤดูร้อน 27-29 มี.ค.นี้

ปภ.สั่งจังหวัดรับมือพายุฤดูร้อน 27-29 มี.ค.นี้

ปภ.สั่งจังหวัดรับมือพายุฤดูร้อน เตือนเหนือ-อีสาน-ตะวันออก-กลาง-กรุงเทพฯ รับมือ 27-29 มี.ค.นี้ เปิดสายด่วน 1784 ตลอด 24 ชม.

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 14 – 25 มี.ค.2560 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย รวม 25 จังหวัด 75 อำเภอ 129 ตำบล 414 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 4,849 หลัง ผู้เสียชีวิต 3 ราย แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ เลย สกลนคร มหาสารคาม นครราชสีมา หนองคาย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ บึงกาฬ อำนาจเจริญ อุดรธานี บุรีรัมย์ และกาฬสินธุ์ ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ชัยนาท และกำแพงเพชร และภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และตราด

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2560 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจังหวัดได้รับผลกระทบจาก พายุฤดูร้อน 6 จังหวัด 11 อำเภอ 13 ตำบล 22 หมู่บ้าน ได้แก่ เลย กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี บุรีรัมย์ และสุรินทร์ บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 123 หลัง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจ ประเมินและจัดทำบัญชีข้อมูลความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม อีกทั้งจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 25 – 29 มี.ค.2560 ประเทศไทยมีสภาพอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะอากาศของฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และ ลูกเห็บตก โดยช่วงวันที่ 25 - 26 มี.ค.2560 จะเกิดพายุฤดูร้อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ส่วนช่วงวันที่ 27 - 29 มี.ค.2560 จะเกิดพายุฤดูร้อนครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะที่ภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ปภ.จึงได้ประสานทุกจังหวัดเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที และแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้ไว้ด้วย

"ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป" อธิบดีกรมปภ. กล่าว