โรงแรมจี้รัฐจัดระเบียบธุรกิจออนไลน์หนุนไทย

โรงแรมจี้รัฐจัดระเบียบธุรกิจออนไลน์หนุนไทย

ขณะที่ประเทศไทยประกาศนโยบายท่องเที่ยว 4.0 แต่ในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมีข้อพิพาทต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย

กับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบเข้ามาทำตลาด ที่ยังเป็นปัญหาเพราะประเทศไทยยังขาดกฎหมายรองรับที่ชัดเจน

            กรณีดังกล่าวเริ่มลุกลามเป็นความกังวลต่อ “ธุรกิจโรงแรม” ซึ่งปัจจุบันมีตลาดออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการกระตุ้นอัตราเข้าพักเฉลี่ย แต่ที่ผ่านมายังปรากฎ “ช่องโหว่” ในการทำธุรกิจหลายด้าน ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม โดยมี 2 ประเด็นที่อยู่ในความสนใจ

เรื่องแรก การเข้ามาบุกตลาดของ ออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) ที่เป็นแบรนด์ระดับโลก ที่เข้ามาช่วยขยายตลาดนักท่องเที่ยว แต่ในอีกแง่หนึ่งถูกจับตามองในฐานะกิจการของต่างชาติที่เริ่มมีผลมาแทรกแซงการกำหนดราคาห้องพักของโรงแรม และทำให้ประเทศไม่ได้รับรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากเป็นกิจการที่จดทะเบียนยังต่างประเทศ เมื่อมีการรับรายได้จากคอมมิชั่นที่คิดจากธุรกิจโรงแรมแล้ว รายได้จะไหลตรงออกนอกประเทศไปยังประเทศต้นทางของโอทีเอรายนั้นๆ

เรื่องที่ 2 การขยายธุรกิจภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (Sharing Economy) อย่าง แอร์บีเอ็นบี ที่เป็นตลาดกลางให้เจ้าของห้องพัก บ้านพัก สามารถดำเนินการขายรายวันโดยตรงกับผู้บริโภคที่เป็นฐานลูกค้าของแอร์บีเอ็นบีได้ ซึ่งในประเทศไทย ยังถือเป็นการผิดกฎหมายพ.ร.บ.ธุรกิจโรงแรม โดยตรงที่ไม่อนุญาตให้กิจการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตดำเนินการรับลูกค้ารายวัน

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ในการพิจารณาแผนการรับมือของไทยในทั้งสองประเด็นต้องผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ซึ่งโดยหลักการแล้วควรมองอย่าง “ใจกว้าง” ไม่จำเป็นต้องกีดกันหรือไปต้านกระแสความนิยมที่เป็นเทรนด์ของโลก แต่ควรจะเตรียมการด้านกฎระเบียบเพื่อทำให้ธุรกิจออนไลน์ดังกล่าวอยู่ในไทยให้ถูกต้องโดยเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ประเทศได้รับผลประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด

ในประเด็นโอทีเอนั้น ศุภวรรณ ยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่องทางการตลาดที่ครองส่วนแบ่งราว 30-40% เทียบกับทุกช่องทาง และมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ทุกปี แต่สิ่งที่น่ากังวลมี 2 ประเด็นใหญ่คือ โอทีเอรายใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นกิจการจดทะเบียนต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อโรงแรมได้ธุรกรรมจากลูกค้าออนไลน์จากเว็บเหล่านั้น โรงแรมจะเป็นฝ่ายที่เสียภาษีจากรายรับที่ได้เข้ารัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ค่าคอมมิชชั่นที่ต้องแบ่งจ่ายให้โอทีเอต่างๆ จะวิ่งตรงเข้าสู่ประเทศต้นทางของโอทีเอดังกล่าว และทำให้ไทยไม่สามารถเข้าไปจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้

นอกจากนั้น ปัญหายังซับซ้อนขึ้น เมื่อมีตัวแปรที่พักซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง อาศัยช่องทางโอทีเอเหล่านี้ในการทำตลาด ซึ่งจากที่ทีเอชเอ เคยเก็บข้อมูลผ่านเว็บไซด์รายใหญ่แห่งหนึ่ง พบว่ามีการเสนอขายห้องพักที่ไม่ถูกกฎหมายมากกว่า 50% ซึ่งประเด็นนี้ย้อนกลับมาทำลายธุรกิจในภาพรวมโดยตรง เนื่องจากที่พักเหล่านั้นพร้อมจะ “เทราคาต่ำ” เพื่อชิงตลาด เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำกว่า และนำมาซึ่งปัญหาคลาสสิคอีกประการคือ เมื่อเป็นที่พักที่ลอยตัวอยู่เหนือกฎหมาย ทำให้ไม่ผ่านการควบคุมด้านความปลอดภัยและความมั่นคง ไม่มีข้อผูกพันให้ต้องส่งรายชื่อผู้เข้าพักให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เหมือนธุรกิจโรงแรมที่จดทะเบียนด้วย

“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการอุดช่องโหว่เหล่านี้ แต่ยังต้องคำนึงถึงพื้นฐานการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะโอทีเอยังมีส่วนสำคัญและเป็นที่พึ่งพิงในการทำตลาด เช่น โรงแรมเล็กที่มีจำนวนห้องพัก 60-70% ในย่านสุขุมวิท อาจได้ลูกค้าจากโอทีเอเกือบ 100% ด้วยซ้ำ ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหานี้ ควรอยู่ในพื้นฐานที่เป็นธรรม และไม่ให้ประเทศเสียประโยชน์ในภาพรวม เพราะหากไทยมีกฎหมายที่ขีดเส้นรองรับชัด ก็เชื่อว่าโอทีเอเหล่านั้นยินดีพร้อมให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม”

ส่วนการเข้ามาทำตลาดของแอร์บีเอ็นบีนั้น ศุภวรรณ กล่าวเช่นกันว่า ควรจะมีการวางแนวทางเป็นกฎหมายที่ชัดเจนเหมือที่หลายประเทศเริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยหลังจากนี้หากภาครัฐเชิญให้ ทีเอชเอ เป็นตัวแทนสะท้อนมุมมองในการวางกรอบกติกา จะนำเสนอกรณีตัวอย่างจากที่รัฐบาลหลายประเทศได้นำร่องไปก่อนแล้ว คือ ใช้มาตรการ “กำหนดจำนวนวัน” ที่เจ้าของบ้านพักจะปล่อยเช่ารายวันต่อปีได้ โดยมีประเทศที่ดำเนินการไปแล้ว อาทิ อังกฤษ และ ญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปทานล้นตลาดมากเกินไป

“โดยพื้นฐานแล้ว ทั้งโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตแต่ไปใช้ช่องทางโอทีเอในการทำตลาด และเจ้าของบ้านพักที่มาเปิดการขายผ่านแอร์บีเอ็นบี ก็ถือเป็นการทำธุรกิจผิดกฎหมายของไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวพันกับการไม่จ่ายภาษีอย่างถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาเป็นเพราะไทยยังไม่มีกฎหมายที่เข้ามาดูแลตลาดใหม่ๆ ทีเกิดขึ้นนี้ ดังนั้น หากวางระเบียบให้ชัด เปิดให้เจ้าของทีพักมาขึ้นทะเบียนภายใต้กฎเกณฑ์ไว้ ธุรกิจโรงแรมก็พร้อมมองอย่างใจกว้าง และตอบรับการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ได้ โดยจำนวนวันที่อนุญาตต่อปีสำหรับไทยไม่ควรเกิน 60 วัน”

ด้าน กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ราวเดือน เม.ย.จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย, ทีเอชเอ มาหารือเรื่องการวางกฎระเบียบและมาตรการที่เหมาะสมในการกำกับกิจการออนไลน์เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการที่พัก โดยจะได้ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาการจับกุม มีข้อพิพาทจนต้องแก้ไขกันทีหลังเหมือนกับกรณีธุรกิจแชริ่ง อีโคโนมี อื่นๆ โดยในสัปดาห์นี้ได้หารือกับ นายปีเตอร์ แอล.อัลเลน กรรมการผู้จัดการ อโกด้า เอาท์ไซด์ จากประเทศสิงคโปร์ ที่มาขอเข้าพบเพื่อความร่วมมือด้านการตลาด และได้เสนอให้อโกด้าพิจารณาการคัดกรองโรงแรมที่ผิดกฎหมายไม่ให้ร่วมจำหน่ายบนเว็บไซด์แล้ว ทางอโกด้ารับว่าจะไปปรึกษากับทีมกฎหมายเพื่อหารือความเป็นไปได้ต่อไป

ขณะที่การกำกับธุรกิจอย่างแอร์บีเอ็นบีนั้น ก็จะต้องหารือกันเป็นการภายในของไทย ตั้งหลักกันให้ดีก่อนเช่นกันว่า ควรจะมีแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทยอย่างไร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลการรับมือธุรกิจดังกล่าวจากหลายประเทศ เช่น จากการพูดคุยกับรัฐบาลมาเลเซีย พบว่ามีการอนุญาตให้เข้ามา แต่ตั้งเกณฑ์การจัดเก็บรายได้ที่ชัดเจนตามกลุ่มราคาห้องพักที่นำมาเสนอขาย เพราะมาเลเซียมีท่าทีชัดเจนว่าต้องการเปิดรับลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ก็ต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่และทำถูกต้อง หรือบางประเทศมีการกำหนดวันปล่อยเช่าสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็ต้องพิจารณาโมเดลที่เหมาะสมกับไทยต่อไป ก่อนที่จะเรียกให้ผู้ประกอบการมารับทราบ หารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน


ผ่ากลไกออนไลน์บีบราคาชิงอำนาจต่อรอง

          แม้ว่าเว็บไซต์ขายที่พักออนไลน์จะครองใจผู้บริโภคด้วยราคาห้องพักต่ำ แต่เมื่อเจาะลึกเบื้องหลังในการทำธุรกิจนั้น ย่อมผ่านกลไกการจัดการที่ซับซ้อน และหลายครั้งโรงแรมยอมเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจาต่อรอง เพื่อแลกกับการเข้าไปเจาะฐานตลาดขนาดใหญ่ของเว็บไซต์รายใหญ่ต่างๆ

สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตรที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า เข้าใจในมุมมองผู้บริโภคที่ต้องเลือก “ดีล” ที่คุ้มค่าและราคาต่ำที่สุดในการจองโรงแรมผ่านเว็บไซต์ แต่ในด้านธุรกิจที่คนทั่วไปอาจยังไม่รับรู้คือ การเก็บค่าคอมมิชชั่นในระดับสูงมากจากออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (โอทีเอ) รายใหญ่ 2-3 แห่ง โดยบางกรณีสูงถึง 40% ของราคาห้องพัก แม้ว่าจะอยู่ในระดับสูงมาก ทว่าโรงแรมหลายรายก็ยังพอรับได้ เมื่อเทียบกับการเข้าถึงลูกค้า

แต่ประเด็นที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กังวลว่า “ไม่เป็นธรรม” มักเกิดขึ้นเมื่อ โอทีเอ บางรายใช้วิธีการ “ตัดราคาขายเองโดยพละการ” ให้ต่ำลงกว่าที่กำหนดเป็นข้อตกลงกับโรงแรมไปอีก โดยยอมเฉือนรายได้จากคอมมิชชั่นที่เรียบเก็บกับโรงแรม เพียงเพื่อจะช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากการกวาดโกยฐานลูกค้าเข้ามา ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ทำให้โครงสร้างราคาของโรงแรมที่ตั้งไว้เสียไป และฉุดกลไกลราคาห้องพักในภาพรวม ด้วยการเข้ามาแทรกแซงกำหนดราคาด้วยตัวเองของโอทีเอดังกล่าว

นอกจากนั้น ทีเอชเอ ยังได้ไปหารือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยยกข้อกังวลเรื่อง “การผูกขาดตลาด” ในโอทีเอที่มาทำตลาดในไทยด้วย เนื่องจากปรากฎการณ์ระดับโลกที่เห็นปัจจุบันคือ การควบรวมกิจการของผู้ประกอบการโอทีเอระดับโลก แม้จะทำตลาดด้วยแบรนด์แตกต่าง แต่กลับมีเจ้าของกิจการร่วมกัน ดังนั้นจึงเริ่มเห็นแนวโน้มในด้านการใช้อิทธิพลของการเป็นรายใหญ่ เข้ามากดดันทั้งด้านการตั้งราคาและกำหนดคอมมิชชั่นอย่างไม่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะการควบรวมกิจการเป็นธุรกรรมที่ทำกันในต่างประเทศ แต่พอมาถึงในไทยยากจะติดตามเก็บข้อมูลมาตรวจสอบ และมีหลักฐานชี้ชัดว่ามีธุรกิจรายใดเข้ามาผูกขาดตลาดได้จริง เนื่องจากไม่มีใครยินดีให้ข้อมูล

ผู้บริโภคต้องการแสวงหาราคาต่ำ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ธุรกิจโรงแรมไทยต้องเผชิญอยู่ทุกวันคือ การแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม และมีการเรียกเก็บคอมมิชชั่นในระดับที่สูง”

โดยใช้เรื่องฐานลูกค้ามาเป็นข้ออ้าง ซึ่งการได้ส่วนแบ่งการตลาดมหาศาลนั้นก็มาจากการแทรกแซงตั้งราคาต่ำแบบไม่มีจริยธรรม อาศัยจังหวะที่โซนเวลาระหว่างสองทวีปแตกต่าง มาฉกฉวยโอกาสกดราคาห้องพัก เช่น ช่วงที่ไทยอยู่ในเวลากลางคืน ไม่มีการตรวจสอบจากโรงแรม ก็ปล่อยราคาห้องพักต่ำกว่าที่ตกลงในฝั่งยุโรป ซึ่งโอทีเอยอมเฉือนเนื้อเพียงนิดเดียว จากที่เก็บได้จากคอมมิชชั่นในระดับที่ได้สูงอยู่แล้ว แต่โครงสร้างโรงแรมกลับเสียหายทั้งหมด