ส.ภัตตาคารจับมือ สสว.ชูอาหารปลอดภัยบูมท่องเที่ยว

ส.ภัตตาคารจับมือ สสว.ชูอาหารปลอดภัยบูมท่องเที่ยว

สมาคมภัตตาคาร ร่วมมือ สสว. ยกระดับความปลอดภัยอาหารเพื่อการท่องเที่ยว ชี้โครงการมิชลินไกด์กระตุ้นธุรกิจตื่นตัว

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า จากการที่ไทยได้รับการยกย่องในฐานะจุดหมายท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นด้านอาหาร และถือเป็นหมวดหมูที่กระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสูงที่สุดประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงเตรียมยกระดับมาตรฐานและคุณภาพร้านอาหารไทย เพื่อให้คงชื่อเสียงที่ดีต่อเนื่อง ด้วยการเตรียมร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงองค์รที่ตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหาร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เข้าตรวจสอบสารปนเปื้อนและตกค้างในวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร เบื้องต้นมีร้านอาหาร 6 หมื่นแห่ง พร้อมให้ความร่วมมือ และเข้าร่วมโครงการสนับสนุนให้ใช้ผักผลไม้ปลอดสารพิษ

ทั้งนี้ สมาคมฯ รับทราบจากหน่วยงานด้านการตรวจสอบว่า ที่ผ่านมามีการตรวจพบสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ และวัตถุดิบในการทำอาหารจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการเองก็พร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหา ซึ่งการที่ได้ สสว.ช่วยผลักดันโครงการนี้ ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าตรวจ 5,000 บาท ต่อการตรวจแต่ละครั้งที่จะมีค่าใช้จ่ายราว 1 หมื่นบาท จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มเพียง 50% ถือว่าคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการได้รับมาตรฐานการเป็นร้านปลอดสารเคมี ได้รับตรารับรองเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจกับลูกค้า

นอกจากนั้น สมาคมภัตตาคารฯ ต้องการให้กระจายการตรวจสอบจากศูนย์กลางลงไปยังส่วนภูมิภาคด้วย เพื่อให้การขับเคลื่อนทำได้รวดเร็ว รัฐบาลควรจัดงบประมาณสนับสนุนลงไประดับจังหวัด ปลุกกระแสให้ทุกร้านอาหารเข้าร่วมตรวจสอบคุณภาพ เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยวกระจายตัวไปทั่วประเทศแล้ว และในกลุ่มเป้าหมายบางตลาด มีความอ่อนไหวกับเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยประเภทนี้ หากไทยยกระดับในภาพกว้างได้ จะเป็นผลดีต่อเนื่องให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่า

นางฐนิวรรณ กล่าวด้วยว่า จากการที่รัฐบาลประกาศสนับสนุนโครงการมิชลิน ไกด์ เพื่อให้ดำเนินการเข้ามาตรวจสอบร้านอาหารในไทยที่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ของมิชลินนั้น ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมาก ซึ่งต้องตื่นตัวในการปรับปรุงและรักษาระดับมาตรฐาน เนื่องจากการตรวจสอบจะใช้ระบบสุ่ม ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าร้านใดจะได้รับการตรวจสอบอย่างไร

แต่ทั้งนี้ ด้วยเกณฑ์ของมิชลินที่พิจารณาในองค์รวมหลากหลายด้าน มีเกณฑ์ที่ตั้งไว้ละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่ด้านอาหาร ไปจนถึงบรรยากาศการตกแต่ง ฯลฯ ทำให้อาจจะมีร้านอาหารในไทยที่เข้าเกณฑ์ได้รับตรวจสอบเต็มที่ราว 3,000 แห่ง และส่วนใหญ่อาจจะเป็นภัตตาคาร, ร้านอาหารขนาดใหญ่, ร้านอาหารในโรงแรม

ดังนั้น สำหรับร้านอาหารอีกราว 9.7 หมื่นแห่งที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่มิชลินไกด์ตรวจสอบ สมาคมภัตตาคารไม่นิ่งนอนใจ เตรียมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ในการดำเนินงานสนับสนุนยกระดับมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยต่อเนื่อง โดยเฉพาะร้านอาหารริมทาง (สตรีทฟู้ด) ที่กลายเป็นจุดขายของไทยมากขึ้น และหากการดูแลไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เจ้าของพื้นที่ หรือ กระทรวงสาธารณสุข ที่ดูแลด้านสุขอนามัย ก็พร้อมเข้าไปทำงานเพื่อจัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานของตัวเองขึ้นมา แม้จะไม่อยู่ในเกณฑ์มิชลินไกด์ก็ตาม

สำหรับแนวโน้มการใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหารในร้านอาหารต่างๆ ในไตรมาสแรก เริ่มมีการเติบโตดีขึ้น แต่คาดว่าจะเห็นรายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 2 เนื่องจากงบประมาณที่รัฐบาลแจกจ่ายให้กลุ่มจังหวัด (คลัสเตอร์) เริ่มกระจายลงสู่พื้นที่ ก่อให้เกิดการบริโภค การจ้างงานในร้านอาหารเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการประเมินผลกระทบในวาระต่อไป