ผู้ผลิตจีน-สหรัฐรับอานิสงส์วิกฤติเนื้อบราซิล

ผู้ผลิตจีน-สหรัฐรับอานิสงส์วิกฤติเนื้อบราซิล

แม้กรณีอื้อฉาวเรื่องเนื้อปนเปื้อนในบราซิล อาจเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตของสหรัฐป้อนผลิตภัณฑ์ให้กับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของจีนอาจได้ประโยชน์จากวิกฤตินี้มากที่สุด

อุตสาหกรรมเนื้อบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวและสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระงับนำเข้าเนื้อในหลายประเทศ หลังตำรวจบราซิลตรวจพบว่าบรรดาผู้ผลิตเนื้อท้องถิ่นหลายรายติดสินบนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของรัฐเพื่อให้ออกใบรับรองว่าเนื้อเน่าของตนปลอดภัยต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้บรรดาผู้ผลิตเนื้อและรัฐบาลบราซิลจะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ก็สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่ออุตสาหกรรมเนื้อไปแล้ว

มูลค่าการส่งออกเนื้อของบราซิลในวันอังคาร (21 มี.ค.) อยู่ที่เพียง 74,000 ดอลลาร์ (ราว 2.47 ล้านบาท) เท่านั้น เทียบกับ 60.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,025 ล้านบาท) ในวันจันทร์ (20 มี.ค.) หลังจาก 17 ประเทศออกมาตรการระงับการนำเข้าเนื้อจากบราซิล ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงจีนและฮ่องกงที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบราซิล

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจเป็นข่าวดีสำหรับบรรดาผู้ผลิตเนื้อของสหรัฐอย่างบริษัทไทสัน ฟู้ด และบริษัทคาร์กิลล์ ซึ่งกำลังเฝ้ารอโอกาสที่จะขายเนื้อให้กับจีน หลังจากเมื่อปีที่แล้วจีนได้ยกเลิกกฎห้ามนำเข้าเนื้อจากสหรัฐที่ใช้มา 13 ปีเพราะมีความกังวลเกี่ยวกับเชื้อวัวบ้าอย่างไรก็ตาม แม้การค้าเนื้อระหว่างสองประเทศยังไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม เนื่องจากปัญหาด้านการบริหารจัดการของรัฐ แต่เหตุการณ์ในบราซิลก็อาจทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาซื้อขายเนื้อกันเร็วขึ้น

ถึงแม้ปัจจุบันสหรัฐจะส่งออกเนื้อวัวจำนวนมากข้ามพรมแดนผ่านช่องทาง “สีเทา” เข้าไปยังจีนจากฮ่องกงซึ่งเป็นผู้นำเข้าเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของสหรัฐ แต่หากมีการเปิดช่องทางซื้อขายกันอย่างเป็นทางการก็อาจช่วยกระตุ้นความต้องการได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคชาวจีนยังคงมีทางเลือกที่สะดวกกว่า เช่น บริโภคเนื้อหมูมากขึ้น ซึ่งยังคงเป็นวิธียอดนิยมมากกว่าเมื่อเทียบกับการบริโภคเนื้อวัวในจีน และแม้บราซิลจะส่งออกเนื้อหมูด้วย แต่ก็ไม่มากเท่าการส่งออกเนื้อวัวและสัตว์ปีก

ขณะเดียวกัน บริษัทดับเบิลยูเอช กรุ๊ป ผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของจีนซึ่งซื้อกิจการบริษัทสมิธฟิลด์ ฟู้ดส์ของสหรัฐเมื่อปี 2556 ก็มีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์ ซึ่งเหตุผลเดียวของการซื้อกิจการบริษัทสมิธฟิลด์คือต้องการชิงความได้เปรียบจากราคาหมูตอนที่ต่ำกว่าในสหรัฐและราคาเนื้อหมูที่สูงกว่าในจีน

แม้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นผลช้า แต่ดูเหมือนว่าจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทดับเบิลยูเอช รายงานเมื่อวันพุธ (22 มี.ค.) ว่า มีรายได้ในปี 2559 สูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากผลกำไรจากการดำเนินงานสำหรับธุรกิจเนื้อหมูในสหรัฐเติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการส่งออกมาขึ้น

นอกจากนี้ ราคาหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกงปรับตัวขึ้น 10% ในวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) ซึ่งเป็นผลจากการขานรับรายงานผลประกอบการมากกว่าผลจากข่าววิกฤติเนื้อในบราซิล ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในช่วงชิงตลาดอาหารในขณะที่บราซิลกำลังเพลี่งพล้ำจากเรื่องอื้อฉาวในอุตสาหกรรมเนื้อ