ฤดูเก็บเกี่ยว coming soon 'ทอมมี่ เตชะอุบล'

ฤดูเก็บเกี่ยว coming soon 'ทอมมี่ เตชะอุบล'

สำรวจอาณาจักร 'ตระกูลเตชะอุบล' หลัง 'เสี่ยไมค์' ส่งไม้ต่อให้น้องเล็กคนสุดท้องช่วยดูแล 'ทอมมี่ เตชะอุบล' โชว์แผนกระตุ้นเรทติ้ง ตลอดปี 2560 พร้อมตะลุยลงทุนต่างแดน หวังเกี่ยวกำไรปีถัดไป

แม้ 'ตระกูลเตชะอุบล' จะเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ยกแผงในปี 2557 ด้วยการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมพานี (Holding Company) ภายใต้ชื่อ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ CGH เพื่อลงทุนบริษัทในเครืออย่าง บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป หรือ CGS และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี หรือ MFC สัดส่วนการลงทุน 99.30% และ 24.93% ตามลำดับ

ขณะเดียวกันยังลงทุนในกิจการเหมืองแร่และโรงถลุงแร่สังกะสี สำหรับผลิตโลหะสังกะสีแท่งบริสุทธิ์และโลหะสังกะสีผสม บมจ.ผาแดงอินดัสทรี หรือ PDI และบริษัทร่วมทุน บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ หรือ CGD ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วนลงทุน 25% และ 9.35% ตามลำดับ หลังกิจการหลักอย่างธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายย่อยที่ดำเนินการผ่าน บล.คันทรี่ กรุ๊ป ประสบปัญหาการแข่งขันสูง ส่งผลให้ค่านายหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

แต่ตลอดปี 2559 ยังไม่เห็น 'เสี่ยไมค์-สดาวุธ เตชะอุบล' เจ้าของตัวจริงสั่ง 'ทอมมี่ เตชะอุบล' ลูกชายคนเล็ก ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 'คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์' เคลื่อนตัวลงทุนกิจการใดเพิ่มเติม หรือเพราะเหตุนี้ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หุ้น CGH จึงมาไกลสุดแค่ 6,982 ล้านบาท (ตัวเลขสิ้นปี 2559) ปัจจุบันมาร์เก็ตแคปยืนระดับ 6,505 ล้านบาท

แม้จะยังไม่ถูกใจกิจการใดเป็นพิเศษ แต่ตลอดปี 2559 CGH กับสร้างผลงานโดดเด่น สะท้อนผ่านกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น 545.70% จาก 60.19 ล้านบาท ในปี 2558 เป็น 391.33 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากรับผลกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 632.74% และรับรู้รายได้จากการขายธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายย่อยบางส่วนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งจำนวน 306 ล้านบาท เป็นต้น

'ทอมมี่ เตชะอุบล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ฉายภาพแผนธุรกิจในช่วง 5 ปี (ปี 2558-2562) ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการปรับองค์กรเป็นHolding Company เกิดจากความไม่ง่ายของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายย่อย ทำให้รายได้รวมลดลงทุกปี

ฉะนั้นหากไม่รีบพลิกตัว องค์กรแห่งนี้จะอยู่อย่างลำบาก ทำให้ตลอดปี 2559 ทีมบริหารใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เข้าที่เข้าทาง เพื่อเดินหน้าลงทุนในปี 2560 ก่อนจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวในปีถัดไป

เมื่อความคิดลงตัว องค์กรเริ่มวางโรดแมป 5 ปี จากนี้จะเน้นการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการในต่างแดน ล่าสุดมองการลงทุนในประเทศอังกฤษ หลังจากที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจในแถบยุโรปมีอาการไม่ค่อยสู้ดี ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนตัว ทำให้การเทคโอเวอร์กิจการโรงแรมในช่วงนี้อาจทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าที่ผ่านมา ยิ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญในงานอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วน่าจะทำได้ไม่ยาก

เบื้องต้นวางงบลงทุนเฉลี่ย 10,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น หากไม่มีอะไรผิดพลาดภายในปี 2560 คงได้เห็นความคืบหน้า

'จากนี้วางเป้าหมายสร้างผลตอบแทนจากทุกสินทรัพย์เฉลี่ย 15% ต่อปี โดยจะเน้นลงทุนในกิจการที่ยั่งยืน'

เมื่อถามลึกถึงแผนธุรกิจของ 4 บริษัท 'นายน้อยวัย 33 ปี' ตอบว่า สำหรับพี่ใหญ่อย่าง บล.คันทรี่ กรุ๊ป แม้การแข่งขันยังคงสูง แต่เชื่อว่า ยังคงเป็นกิจการที่สร้างกำไรที่ดี หลังจากนี้จะหันมาเน้นให้บริการลูกค้าสถาบันมากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้บริการด้านอื่น เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจ หรือธุรกิจบริหารสินทรัพย์ เป็นต้น

ในฝั่งของแผนงานธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อปีก่อนได้ขายสาขา 22 แห่ง จากทั้งหมด 40 สาขา ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) หรือ UOBKH หลังต้องการทำให้ขนาดของกิจการมีขนาดเล็กลง ฉะนั้นวันนี้ธุรกิจดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้ CGS เฉลี่ย 10% เท่านั้น ที่เหลือจะรับรู้รายได้จากส่วนอื่นๆ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน และธุรกิจซื้อขายตราสารหนี้ เป็นต้น

สำหรับแผนงาน บมจ.ผาแดงอินดัสทรี ในปีนี้คงเป็น 'ดาวเด่นประจำกลุ่ม' สะท้อนผ่านการสร้างผลกำไรที่ดีเยี่ยมในปี 2559 ที่ระดับ 477 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ทำได้เพียง 150 ล้านบาท เนื่องจากปีก่อนบริษัทตัดสินใจหยุดการผลิตเหมืองสังกะสี หลังต้องเผชิญหน้ากับภาวะแร่สังกะสีหมดและไม่มีเหมืองแร่อื่นในเมืองไทย

โดยจะผันตัวไปสู่ 'ธุรกิจสีเขียว' ไล่มาตั้งแต่ 1.ธุรกิจรีไซเคิลโลหะที่อยู่ในของเสียอุตสาหกรรม 2.ธุรกิจให้บริการด้านการจัดการของเสียอุตสาหกรรม และ 3.ธุรกิจพลังงานทดแทน

สำหรับแผน 'พลังงานทดแทน' ที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศญี่ปุ่นแล้ว 4 โครงการ ล่าสุดก่อสร้างเสร็จแล้ว 2.5 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 ส่วนอีก 2 โครงการอาจเริ่มดำเนินการปลายปี 2560 ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษากำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์

'โครงการทั้งหมดเราเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ เป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุนงานต่างประเทศต้องยืนไม่ต่ำกว่า 12% แต่หากต้องลงทุนโครงการขนาดใหญ่กว่านี้ตัวเลขต้องขึ้นไปแตะระดับ 14%' 

ส่วนแผนงานโครงการในเมืองไทย ตอนนี้อยู่ระหว่างรอใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA เพื่อทำโครงการโซลาร์ฟาร์ม 40 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานประเภทอื่น โดยเฉพาะพลังงานลม ตอนนี้มีความพร้อมที่จะเดินเครื่องผลิต 54 เมกะวัตต์ หลังเตรียมที่ดินไว้เรียบร้อยแล้ว รอเพียงใบอนุญาตเท่านั้น ปัจจุบันบริษัทมีที่ดินพร้อมทำพลังงานทดแทนประมาณ 1,800 ไร่

เป้าหมายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศไทย ต้องการทำมากที่สุดเท่าที่ทำได้ หลังมองว่า พลังงานเมืองไทยมีความมั่นคง เบื้องต้นคาดว่า เริ่มต้นคงรับได้เต็มที่ระดับ 300-400 เมกะวัตต์ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ ตอนนี้มองพม่า และเวียดนาม ภายในปีนี้คงมีความชัดเจนมากขึ้น

สำหรับงาน 'ธุรกิจรีไซเคิลโลหะที่อยู่ในของเสียอุตสาหกรรม' ภายในไตรมาส 2 ปี 2560 จะดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีจากยุโรปในโรงงานจังหวัดระยอง ควบคู่ไปกับการมองหากิจการใหม่เข้ามาเสริมทัพ ล่าสุดอยู่หว่างเจรจากับผู้ประกอบการรายหนึ่งที่มีฐานการผลิตในไทยแต่ส่งขายไปทั่วโลก

'ราคาสังกะสีที่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 70%ในปีก่อน ทำให้ในปี 2559-2560 ได้กำไรจากการสต็อกสินค้าที่เหลืออยู่ในมือไม่น้อยกว่า 25,000 ตัน ขณะที่ต้นทุนขายยังลดลงมาก เพราะไม่ต้องมีค่าใช้ในการผลิตสินค้าแล้ว' 

'ทอมมี่' เล่าต่อว่า มีความเป็นไปได้ว่า บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จะขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปี 2561 เนื่องจากจะรับรู้รายได้ โครงการคอนโดมิเนียม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 20,000 ล้านบาท และเตรียมเปิดตัวโรงแรมอีก 2 แห่ง ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

ปัจจุบันโครงการคอนโดมิเนียม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขายได้แล้วประมาณ 60% จากทั้งหมด 350 ยูนิต ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยและต่างชาติฝั่งละ 50% ส่วนโรงแรมอีก 2 แห่งที่ยังไม่เปิดตัว เชื่อว่าหากสามารถขายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดบริษัทจะนำโครงการทั้งหมดเข้ากองทรัสต์ เบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าเฉลี่ย 12,000-15,000 ล้านบาท

เมื่อถามถึงแผนงานของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี เขายอมรับว่า องค์กรแห่งนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะกิจการยังคงดำเนินไปอย่างราบรื่น (กำไรสุทธิในปี 2559 อยู่ระดับ 187 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ทำได้ 188 ล้านบาท)

ความสวยของเอ็มเอฟซีในมุมของ 'ทอมมี่' คืออะไร เขาขยายความว่า ข้อหนึ่ง MFC เป็นผู้บริหารกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ถือเป็นกองทุนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการขายหน่วยลงทุน เพื่อนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่วนตัวมองว่า ข้อดีเหล่านี้จะทำให้ขนาดกองทุนใหญ่ระดับ 'แสนล้านบาท' ในอนาคต

ข้อสอง ที่ผ่านมาสองหุ้นใหญ่ CGH และแบงก์ออมสิน (ออมสินถือหุ้น 24.81%) สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ธนาคารออมสินให้พนักงานแบงก์ไปสอบใบอนุญาตขายกองทุน ส่งผลให้พนักงานแบงก์ที่สามารถขายกองทุนได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากต้นปีที่มีเพียง 10 ราย ที่ผ่านมาการทำงานคนเดียว ถือเป็นจุดอ่อนของ MFC ฉะนั้นการที่มีธนาคารออมสินเข้ามาช่วยปิดจุดอ่อนจะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น

'ต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น MFC เพราะผลตอบแทนค่อนข้างดี แถมมีทรัพย์สินภายใต้การจัดการมากถึง 4.4 แสนล้านบาท แต่สภาพคล่องที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้หาหุ้นในตลาดได้ยาก'

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' ทิ้งท้ายว่า ภายในปี 2563 หุ้น CGH จะต้องติด 1 ใน 50 บริษัทจดทะเบียนของไทย (SET50) ซึ่งผลประกอบการจากนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เดินทางถึงเป้าหมาย ที่สำคัญการปรับตัว เพื่อก้าวให้ทันโลกจะทำให้องค์กรอายุมากอย่าง MFC PDI และ CGH ประสบความสำเร็จในอนาคต อย่างน้อยก็จะไม่ตกรถไฟ

'ลงทุนตามสตอรี่' แผนโกยเงินระยะสั้น

ก่อนผู้เป็นพ่อ (สดาวุธ เตชะอุบล) จะยกสามตำแหน่งรวด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการ และกรรมการลงทุน (แต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557) ให้ 'ทอมมี่ เตชะอุบล' น้องเล็กของตระกูล จากจำนวนพี่น้อง 3 คน ประกอบด้วย 'บี เตชะอุบล' 'เบน เตชะอุบล' และลูกสาวคนเดียว 'หลุยส์ เตชะอุบล'

หลังสำเร็จการศึกษาพาณิชยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) และ นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย 'ทอมมี่' เลือกทดลองงานอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวเป็นแห่งแรก

เมื่ออายุ 24 ปี เขาเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (เกียรตินิยม) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะกลับมาช่วยงานครอบครัวอย่างจริงจังอีกครั้ง

โดยเริ่มงานในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี ในตำแหน่งฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ ก่อนจะย้ายไปดูแลสายพัฒนาธุรกิจ ตามต่อด้วยฝ่ายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดระยะเวลา 6 ปี เขาแสดงฝีมือด้วยการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด 6 กองทุน

ในฐานะกรรมการลงทุน CGH 'ทอมมี่' เล่าว่า ปกติทุกๆ 3 ปี CGH จะกลับมาทบทวนการถือครองหลักทรัพย์ต่างๆ หากเป็นการลงทุนที่ไม่สูงมากนัก ภายใน 3 ปี ต้องได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 'ร้อยเปอร์เซ็นต์' หรือเฉลี่ยปีละ 30%

สำหรับวิธีการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 3 ปี) จะเน้นลงทุนตามสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ยกตัวอย่าง ช่วงประเทศอังกฤษมีมติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) บริษัทจะกลับมานั่งทบทวนว่า ควรลงทุนสินทรัพย์ประเภทใดในช่วงเวลานี้ หรือสินทรัพย์ใดจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยปีละ 15%

ปัจจุบัน 'คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์' ได้แบ่งสัดส่วนการลงทุน 15% เพื่อลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น และตราสารหนี้ ล่าสุดพอร์ตลงทุนมีมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท ผลตอบแทนในปี 2559 ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ หลังสร้างกำไรเฉลี่ย 17% สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ระดับ 12%