ไทยเล็งเชื่อมตลาดครุยส์ฟิลิปปินส์

ไทยเล็งเชื่อมตลาดครุยส์ฟิลิปปินส์

ไทยเล็งเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำฟิลิปปินส์ หวังสร้างเครือข่ายกระตุ้นตลาดระยะไกลเข้าไทยเพิ่ม ด้าน ท.ท.ช. ดันโครงการเจ้าบ้านที่ดีกู้ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลไทยลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ไปแล้ว กระทรวงฯ เตรียมต่อยอดสู่แผนปฏิบัติการทำงานระหว่างปี พ.ศ. 2560-2565 โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางระหว่างประชากรสองประเทศ และสร้างความแข็งแกร่งในฐานะจุดหมายการเดินทางรวมกัน โดยมีการทำงานประเด็นหลัก ได้แก่ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว, การแลกเปลี่ยนระดับข้าราชการและเจ้าหน้าที่, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการฝึกอบรม, การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาดร่วมกัน และจากเอ็มโอยูครั้งนี้ จะนำไปสู่การตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามผลการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสองประเทศด้วย

ทั้งนี้ ในประเด็นด้านการส่งเสริมการตลาดนั้น เห็นโอกาสในการร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในการทำตลาดท่องเที่ยวเรือสำราญ (Cruise Tourism) ซึ่งถือเป็นสินค้าศักยภาพที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังให้ความสนใจ รัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มวางแผนแม่บทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ และมีการลงนามร่วมกับบริษัทเดินเรือรายใหญ่ ได้แก่ รอยัลแคริบเบียน ในการพัฒนาท่าเรือเพื่อเป็นท่าจอดประจำ (Home Port) ที่จะมาสอดคล้องกับที่ไทยกำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกล (Long Haul) เดินทางมาฟิลิปปินส์ ก็มีโอกาสที่จะส่งเสริมให้บริษัทเดินเรือบรรจุเส้นทางมาเที่ยวไทยในโปรแกรมการเดินทางด้วย

นอกจากนั้น ตั้งเป้าว่าตลาดฟิลิปปินส์มาไทย มีโอกาสเติบโตขึ้นมาก จากปัจจุบันเดินทางมาไทยราว 3.5 แสนคน/ปี ขยายตัวราว 7-8% แต่หลังจากการลงนามครั้งนี้และมีแผนการส่งเสริมตลาดรองรับ คาดว่าในช่วง 2-3 ปีแรก จะผลักดันการเติบโตให้ได้ถึง 10% ต่อปี ซึ่งยังถือเป็นจำนวนที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับตลาดคนไทยที่ไปเที่ยวฟิลิปปินส์ ที่ยังอยู่ราว 2 หมื่นคนต่อปี

ด้านพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ(ท.ท.ช.)กล่าวว่า วางแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในชุมชน ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว, เตรียมการรองรับนักท่องเที่ยว และจัดหาตลาดที่จะเข้ามาอุดหนุนท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบัน ทั้งนี้ วางหลักเกณฑ์คัดสรรชุมชนที่มีศักยภาพจาก 701 แห่ง คัดเหลือ 111 แห่งเพื่อเป็นต้นแบบ โดยจะต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จากนั้นเมื่อได้ชุมชนที่มีความพร้อม จะนำไปจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) กับบริษัทหรือหน่วยงานภาคเอกชน ให้เป็นลูกค้านักท่องเที่ยวลงพื้นที่ต่างๆ รวมถึงให้คำชี้แนะถึงสิ่งที่ต้องการได้รับจากชุมชน หลังจากที่พบว่าเริ่มมีแนวโน้มความนิยมในการเดินทางไปทำกิจกรรมต่างจังหวัด โดยใช้แนวคิดหลักด้านซีเอสอาร์มาประกอบการตัดสินใจจัดทริปมากขึ้น

นอกจากนั้น มีแนวคิดต่อยอดให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ หันมาพิจารณาการแตกไลน์ธุรกิจในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) มากขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมธุรกิจในแนวนี้ เช่น อาจจะให้สิทธิพิเศษด้านการลดหย่อนภาษีกับกิจการประเภทนี้เป็นพิเศษ

สำหรับการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนและท้องถิ่น ขณะนี้เริ่มมีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนต้นแบบ การรวบรวมฐานข้อมูล และการแต่งตั้งคณะทำงานประชารัฐประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 8 คลัสเตอร์แล้ว รวมถึงการดำเนินการประกาศเขตพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชนตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 กำหนดพื้นที่ให้มัคคุเทศก์มีพื้นที่ทำงาน ถือเป็นการสร้างงานของคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวได้รับข้อมูลการท่องเที่ยวที่ถูกต้อง คาดว่าจะมีการประกาศพื้นที่ได้ภายในปีนี้

นอกจากนั้นจัดทำโครงการเสริมสร้างเครือข่ายทางการท่องเที่ยว “เจ้าบ้านที่ดี” ระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค.นี้ ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต โดยเชิญบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจากภาครัฐ, เอกชน และท้องถิ่นจากทุกภูมิภาคเข้าร่วมกว่าคน ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งนี้คาดว่าหลังจากเริ่มโครงการนำร่อง จะนำไปสู่การต่อยอดเผยแพร่แนวคิดต่อบุคคลภายนอก สร้างเครือข่ายเพิ่มทั่วประเทศเป็นกว่า 1.5 หมื่นคน