ก.ล.ต.ถอยชี้ขาดบริษัทขัดแย้งกัน ยกศาลคืออำนาจผู้ถือหุ้น

ก.ล.ต.ถอยชี้ขาดบริษัทขัดแย้งกัน ยกศาลคืออำนาจผู้ถือหุ้น

ก.ล.ต.ระบุร่างกฎหมายหลักทรัพย์ใหม่จะให้ศาลเป็นผู้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ผู้บริหาร-กรรมการขัดแย้งกันจนกระทบธุรกิจ และเจ้าหนี้

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงานก.ล.ต.มีแนวคิดที่จะให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดในการแก้ไขปัญหาบริษัทจดทะเบียนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายใน จากเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะให้สำนักงานก.ล.ต.เป็นผู้ชี้ขาด โดยคาดว่าจะสามาถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการก.ล.ต.ได้ในวันที่ 30 มี.ค.นี้

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ได้หารือกับ สำนักงาน ก.ล.ต.เพื่อร่างกฏหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับ ก.ล.ต. สามารถเข้าไปแก้ปัญหาความขัดแย้งผู้ถือหุ้น-กรรมการ ของบริษัทจดทะเบียนได้ เพื่อป้องกันความเสียหายของผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ เนื่องจากปัจจุบันก.ล.ต.ทำหน้าที่แค่ออกกฎระเบียบ แต่ไม่มีอำนาจแก้ไขปัญหากรรมการทะเลาะกัน

ก.ล.ต.เผยให้ศาลชี้ขาดคืนอำนาจผู้ถือหุ้น

“สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของแต่ละภาคส่วนว่ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในเบื้องต้น แนวทางที่อาจจะเป็นไปได้ คือการให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัท”นายรพีกล่าว

ทั้งนี้ในแนวคิด สำนักงานก.ล.ต. นั้น ต้องการจะแก้ไขปัญหาบริษัทจดทะเบียนที่ไม่สามารถดำเนินธุรรกิจได้ตามปกติ มีความขัดแย้งของผู้ถือหุ้น รวมถึงคณะกรรมการบริษัทและก่อให้เกิดความเสียหายกับตัวบริษัทเอง และระบบของตลาดทุนโดยรวม ต้องเป็นกรณีที่หนักมากๆ

อย่างในช่วงที่ผ่านมา เห็นว่ามีบางบริษัทมีปัญหาความขัดแย้ง ของกรรมการและผู้ถือหุ้นจนส่งผลเสียให้กับบริษัท และเสียหายกับอุตสาหกรรมแต่ไม่มีช่องที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งในต่างประเทศแม้จะไม่มีกฏหมายในลักษณะเดียวกันแต่จะมีกฏหมายที่ใกล้เคียง ซึ่งหลักใหญ่คือให้อำนาจการบริหารบริษัทกลับไปอยู่ที่ผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ในแนวทางที่ก.ล.ต. มองไว้คือ จะให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจในการชี้ขาดและสามารถให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้ผู้ถือหุ้นซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของบริษัทตัวจริงเป็นผู้สนใจ โดยก.ล.ต.จะบรรจุไว้ในกฏหมายว่า ศาลจะต้องเป็นผู้ชี้ขาดซึ่งคาดว่าจะช่วยให้การดำเนินการมีความรวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฉบับใหม่ ยังมีการแก้ไขในอีกหลายมาตรา เช่นการกำหนดโทษของกรรมการ และเลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต. ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยอ้างอิงกับกฏเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ซึ่งจะมีการกำหนดความผิดที่ชัด เช่นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงการกำหนดให้ ก.ล.ต. ต้องรายงานแผนประจำปี กับกระทรวงการคลังรับทราบ เช่นเดียวกัน ธปท.

สมาคมบล.หวั่นแก้ปัญหาล่าช้า

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาบริษัทจดทะเบียน ด้วยการให้ศาลเป็นผู้ดำเนินการ มองว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่า ป้องกันข้อครหาว่าก.ล.ต.เป็นผู้แทรกแซงโดยตรง และสร้างความโปร่งใส และคลายกังวลให้กับบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อให้อำนาจศาลเป็นผู้ชี้ขาด จะทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ เพราะความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาเห็นว่าต้องการความรวดเร็วในการแก้ไข ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายกับบริษัทได้

ก.ล.ต.นัดหารือสัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวในวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีการนัดหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทุกส่วนในสัปดาห์หน้า (27-31 มี.ค.2560) เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ที่กำลังปรับปรุง โดยเฉพาะประเด็นการเข้าแทรงแซงบริษัทจดทะเบียน ซึ่งต้องพิจารณาในรายละเอียดของร่างกฏหมายดังกล่าวอีกครั้ง เพราะอาจทำให้เกิดความกังวลในเรื่องการเข้าแทรกแซงอำนาจกรรมการมากเกินไป

“ตอนนี้คงต้องรอการหารือและสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฏหมายใหม่ และประเด็นการแทรกแซงบริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่ค่อยเหมาะสม แต่เมื่อก.ล.ต.มีแนวคิดให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลก็น่าจะดีกว่า”

ผู้ถือหุ้นไอเฟคฟ้องผู้บริหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ก็เป็นอีกบริษัทที่ผู้ถือหุ้น-ผู้บริหารมีความขัดแย้งกันจนส่งผลต่อเจ้าหนี้และราคาหุ้น

ล่าสุดวานนี้ (24 มี.ค. ) นายทวิช เตชะนาวากุล ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการ บริษัท ไอเฟคร้อง ก.ล.ต.สอบ “วิชัย-ศุภนันท์” โทษฐานความผิดฝ่าฝืนพรบ.หลักทรัพย์-พรบ.มหาชน ใน 5 ประเด็นหลัก “ขวางตั้งบอร์ดชุดใหม่-กระทำการในนามบริษัททั้งที่ไม่มีอำนาจลงนาม-ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ-หาเหตุไม่คืนหนี้โรงแรมดาราเทวีจนถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท-ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เข้าข่ายการกระทำโดยทุจริต ยึดประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์บริษัท สร้างความเสียหายให้เกิดกับผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้

พร้อมส่งหนังสือถึงนายวิชัย-ก.ล.ต.-ตลาดฯ ค้านการประชุมและมติบอร์ด ไอเฟคในวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ถือว่าเป็นมติบอร์ด เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

ชง7ตัวเต็งชิงเก้าอี้กรรมการ

ขณะที่นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บริษัทไอเฟคกล่าวว่าผู้ถือหุ้นได้เสนอรายชื่อกรรมการเข้ามาดังนี้ 1.นายพิชญะ อุทัยรัตน์ 2.นายวิภู มหารักขกะ 3.นายสุกิจ อังสุวรรณ4.พลตรีนพรัตน์ แป้นแก้ว 5.นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ 6.พลตำรวจเอกสุนทร ซ้ายขวัญ และ7.นายปริญญา วิญญรัตน์

ทั้งนี้บริษัทจะนำรายชื่อของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้าเป็นกรรมการดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2560 ในวันที่ 18 เม.ย. 2560 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาเลือกตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ครบกำหนดออกตามวาระต่อไป