‘เมนูแชมป์เปี้ยน’ ตอบโจทย์สูงวัย

 ‘เมนูแชมป์เปี้ยน’ ตอบโจทย์สูงวัย

เสริมอาหารสำหรับผู้ที่ระบบย่อยอาหาร เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารน้ำตาลต่ำ ผลงานวิจัยไฮไลท์ในงานแคร์ฟู้ดเครือข่ายการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ

เมนูสำหรับผู้สูงวัยที่มีภาวะอ้วนลงพุง, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ที่ระบบย่อยอาหารไม่ปกติและผู้สูงอายุ และ เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารน้ำตาลต่ำ 3 ผลงานวิจัยไฮไลท์ในงานระดมสมอง นวัตกรรมและเครือข่ายการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ภายใต้เครือข่ายแคร์ฟู้ดจาก 7 องค์กรทุนวิจัย


โปรดักส์แชมป์เปี้ยน


เมนูอาหารสำหรับผู้สูงวัยที่มีภาวะอ้วนลงพุง โดยนางเนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักวิจัยประจำสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผลงานวิจัยระดับต้นแบบที่พร้อมถ่ายทอดเชิงพาณิชย์ จุดเด่นคือ เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภคที่มีโปรตีนสูง อุดมด้วยสารอาหารที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ น้ำตาลไขมันและโซเดียมต่ำ เนื้อสัมผัสนุ่มเคี้ยวง่าย มีส่วนผสมที่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีและมีพืชผักที่เป็นแหล่งแคโรทีนอยด์


ผลิตภัณฑ์ชุดนี้ประกอบด้วย 6 เมนู ได้แก่ ซุปผักหมูตุ๋น ผัดผักเปรี้ยวหวาน สตูว์ไก่ถั่วพี ปลาทูต้มน้ำอ้อย ออมเล็ตผักโขมและข้าวต้มลูกชิ้นปลาอินทรีย์เสริมใยอาหาร แปรรูปและเก็บรักษาด้วยวิธีการแช่เยือกแข็งในบรรจุภัณฑ์แบบรีทอร์ทเพาซ์ ถัดมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฟรุกโตโอลิโกแซคคาไรด์ (FOS) จากพืช ลูกเดือยและหัวหอมสำหรับผู้ที่มีระบบย่อยอาหารไม่ปกติและผู้สูงอายุที่ต้องการเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย โดย ภก.จีรเดช มโนสร้อย ศูนย์วิจัยสุขภาพและความงามมาโนเซ่ ที่มีแนวคิดการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง


ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบชงรับประทาน มีลักษณะเป็นแกรนูลสีน้ำตาล (ผงขนาดใหญ่คล้ายเม็ดทราย) จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือ ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร FOS จากต่างประเทศ โดยมีต้นทุนการผลิต 12.30 บาทต่อกรัม FOS ส่วนผลิตภัณฑ์ในตลาดมีราคา 13.43 บาทต่อกรัม FOS


นอกจากนี้ ผลงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารโลว์จีไอ (Low GI) หรือผลิตภัณฑ์ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ โดย รศ.ศิริธร ศิริอมรพรรณ หน่วยวิจัยการพัฒนากระบวนการแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ มหาวิยาลัยมหาสารคาม ที่สามารถพัฒนากระบวนการแปรรูปข้าวด้วยกรรมวิธีพิเศษ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแป้งข้าว ผลิตภัณฑ์โลว์จีไอที่พัฒนา เช่น ข้าวบรรจุถุง โจ๊ก ซุปข้าว ซีเรียลบาร์ เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและภาวะอ้วน ขณะนี้มีผู้นำผลงานวิจัยดังกล่าวไปใช้แล้ว 2 ราย คือ บริษัท ร้อยเอ็ดผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด และบริษัท เบรนสตอร์ม เอนจิเนียริ่ง จำกัด


เครือข่ายนวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย


7 องค์กรทุน เช่น สวทช. สกว. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันสร้างเครือข่าย “แคร์ฟู้ด” เพื่อจัดทำโรดแมพการวิจัยสร้างนวัตกรรมอาหารที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัย และผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ที่ผลิตและจำหน่ายได้จริง


นางฐิตาภา สมิตินนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โรดแมพการวิจัยโดยเครือข่ายแคร์ฟู้ดจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นระบบทั้งหน่วยงานให้ทุน หน่วยงานที่ให้ข้อมูลองค์ความรู้และมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมี สวทน.ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารทำหน้าที่ประสานงาน แบบวันสต๊อปเซอร์วิส เพื่อให้เกิดการวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้สูงอายุเป็นไปในทิศทางเดียวกัน


เครือข่ายแคร์ฟู้ดมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพาณิชย์สู่เป้าหมายรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2564 เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเชิงพาณิชย์และเหมาะสมกับผู้สูงอายุใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพรี-เอจอจิ้งอายุ 40-65 ปี กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสรีระร่างกายเสื่อมตามวัย และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรค


การพัฒนานวัตกรรมจะดำเนินร่วมกับแพทย์ นักโภชนาการ ผู้ประกอบการ นักวิจัย และจะทดสอบจริงกับผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ในเชิงพาณิชย์และผู้บริโภคพึงพอใจ ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมครั้งนี้ จะเป็นกลไกหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของไทยที่จะก้าวสู่สังคมสูงอายุ