ผู้ตรวจการฯลงพื้นที่เคลียร์ปัญหาขยะล้นเกาะสมุย

ผู้ตรวจการฯลงพื้นที่เคลียร์ปัญหาขยะล้นเกาะสมุย

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ส่งทีมลงพื้นที่จัดการปัญหาขยะล้นเกาะสมุย หลังเตาเผาชำรุด

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจสอบและติดตามเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาระบบการบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยบนพื้นที่เกาะสมุย ร่วมกับนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย เนื่องจากโรงเผาขยะตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2542 และถ่ายโอนภารกิจโรงเผาขยะมูลฝอยดังกล่าวให้เทศบาลนครเกาะสมุย เมื่อปี พ.ศ. 2545 ต่อมาโรงเผาขยะดังกล่าวเกิดชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้การได้ทำให้มีขยะสะสมและตกค้างเป็นจำนวนมากกว่า 2 แสนตัน ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ส่งกลิ่นเหม็น และเวลาฝนตกน้ำเน่าเสียจะไหลลงคลองท่าเร็ต ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำในคลองได้ รวมถึงบ่อน้ำซึมก็ไม่สามารถใช้น้ำบริโภคได้เช่นกัน

นายรักษเกชา กล่าวว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 20 เมษายน และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาที่ทำให้เตาเผาขยะดังกล่าวชำรุดเนื่องมาจากมีการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ขาดการดูแลบำรุงรักษา ประกอบกับการเผาขยะมูลฝอยอาจไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำเข้าเตาเผา

สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องขยะตกค้างเทศบาลนครเกาะสมุยได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ แต่เนื่องจากการดำเนินการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา เทศบาลนครเกาะสมุยจึงให้บริษัทเอกชนรายดังกล่าวหยุดดำเนินการและมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่ในศาล ส่วนการกำจัดขยะใหม่ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 200 ตัน เทศบาลนครเกาะสมุยได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการแก้ปัญหาระยะสั้นโดยใช้วิธีการฝังกลบทั้งหมด ซึ่งหมดสัญญาไปเมื่อเดือนที่แล้วขณะนี้จัดจ้างบริษัทใหม่เข้ามาดำเนินการมีระยะเวลาจ้าง 10 เดือน แต่ขณะเดียวกันเรื่องขยะเก่าที่ยังคงตกค้างกว่า 200,000 ตัน นั้นเทศบาลนครเกาะสมุยได้ศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและได้ประชุมร่วมกันทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงพาไปดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในการนี้ผู้ประกอบการได้นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการโดยรวมทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ ซึ่งสรุปได้ 3 แนวทาง คือ 1. คัดแยกขยะแบบรีไซเคิล (Refuse Derived Fuel ) โดยคัดแยกเอาวัสดุที่เป็นประโยชน์ไปใช้ต่อซึ่งขยะบางส่วนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังคงมีขยะตกค้างอยู่ 2. ขนขยะออกจากพื้นที่ทั้งหมดโดยนำไปกำจัด ณ สถานที่ที่เตรียมไว้ 3. สร้างวินัยการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง หลังจากนั้นเทศบาลจะดำเนินการคัดแยกอีกที รวมทั้งคิดค่าเก็บขยะตามปริมาณซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ขยะลดลง สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวประชาชนเลือกแนวทางที่สองคือให้ขนขยะออกจากพื้นที่ให้หมด ดังนั้น จึงมีการทำข้อกำหนดของการว่าจ้าง(TOR) โดยมีการจัดทำ TOR สองส่วนรวมกันคือการบริหารจัดการขยะเก่าและการบริหารจัดการขยะใหม่แล้วนำเสนอเพื่อให้จังหวัดพิจารณา ซึ่งจังหวัดได้ขอให้เทศบาลปรับ TOR แยกเป็นสองส่วนระหว่างการบริหารจัดการขยะเก่าและการบริหารจัดการขยะใหม่ พร้อมทั้งสนับสนุนงบการพัฒนาจังหวัดสำหรับการกำจัดขยะเก่าจำนวน 200000 ตัน ในวงเงิน 300 ล้านบาท โดยทางจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมดโดยให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีโดยมีเทศบาลนครสมุยคอยอำนวยความสะดวกในการขนย้าย ส่วนขยะที่เกิดขึ้นใหม่ให้เทศบาลเป็นผู้บริหารจัดการต่อไป

ทั้งนี้ นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรนำขยะทั้งหมดออกไปกำจัดนอกพื้นที่เกาะสมุย จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษารายละเอียด ขั้นตอนการดำเนินการ และกำหนดของการว่าจ้าง (TOR) เพื่อดำเนินการจัดจ้างบริษัทเอกชนต่อไปโดยไม่ให้ขัดต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนขยะใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเทศบาลนครเกาะสมุยจะเป็นผู้ดำเนินการเองโดยมีแนวทางในการส่งเสริมให้มีการค้ดแยกขยะต้นทาง ส่วนที่เหลือจากการคัดแยกจะรวบรวมและขนออกนอกพื้นที่เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป