เครือข่ายกุมารแพทย์ยื่นสนช.ท้วงพรบ.โค้ดมิลค์

เครือข่ายกุมารแพทย์ยื่นสนช.ท้วงพรบ.โค้ดมิลค์

เครือข่ายกุมารแพทย์ยื่นสนช.ท้วงพรบ.โค้ดมิลค์ คุมโฆษณานมผง แนะออกแค่ประกาศอย.ห้ามออกแบบ "อาหารเด็กเล็ก" เหมือนทารก กันสับสน

ขณะนี้ร่าง พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือร่างพรบ.โค้ดมิลค์อยู่ระหว่างการพิจารราของสภานิติบัญญัติ(สนช.)วาระที่2 เครือข่ายกุมารแพทย์นำโดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานที่ปรึกษากิติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสนช.เพื่อท้วงในสาระบางประการของร่างพรบ.นี้

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ เห็นด้วยกับหลักการของร่าง พรบ.นี้ ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น และห้ามมีการโฆษณาและทำการตลาดอาหารสำหรับทารก เช่น การเข้าไปให้ข้อมูลถึงตัวมารดาหรือในโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อจูงใจให้แม่หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงแทน เป็นต้น ตรงนี้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการควบคุมครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี ตรงนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจของพ่อแม่ที่จะได้รับข้อมูลโภชนาการต่างๆ เพื่อนำมาตัดสินใจในการเลี้ยงดูลูก

"ช่วง 1-3 ปี เป็นช่วงทองในการพัฒนาเด็ก ซึ่งวัยนี้ที่เด็กรับประทานอาหารหลักวันละ 3 มื้อ ควรรับประทานอาหารแข็งหรือกึ่งแข็งเป็นหลัก เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ที่มีประโยชน์ โดยมีนมแม่เป็นอาหารเสริม และแนะนำให้ดื่มนมวันละ 2-3 มื้อ เพื่อเสริมแคลเซียมหรือสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ซึ่งอาจจะให้รับประทานนมกล่องยูเอชทีก็ได้ จึงมองว่าไม่ควรไปจำกัดสิทธิในการโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กอย่างนมสำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี เพื่อให้พ่อแม่ได้รับทราบข้อมูล แล้วนำมาตัดสินใจเองว่าเหมาะที่จะให้ลูกกินเสริมหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่ควรออกกฎหมายครอบคลุมมาจนถึงอาหารสำหรับเด็กเล็ก" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อกังวลที่ว่าจะมีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง เช่น สรรพคุณของสารต่างๆ เกินจริง หรือโฆษณาข้ามสินค้า เช่น ทำให้มีรูปลักษณะเหมือนอาหารสำหรับทารก จริงๆ แล้วสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดได้อยู่แล้ว เช่น ออกประกาศลักษณะของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กเล็กต้องห้ามมีลักษณะเหมือนกับผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารก ซึ่งในต่างประเทศก็ใช้กระบวนการเช่นนี้ แล้วระบุโทษให้ชัดเจนหากฝ่าฝืนก็มีความผิด หรือให้ อย.ตรวจสอบก่อนออกโฆษณาเพื่อดูว่าเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ตรงนี้ อย.สามารถทำได้ อยู่ที่ว่าจะดำเนินการหรือไม่ แต่ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายที่ครอบคลุมห้ามโฆษณาไปเสียทั้งหมด ซึ่งมองว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่อย่างใด

"เครือข่ายฯ ได้ทำหน้าที่ในส่วนของกุมารแพทย์แล้ว ในการมาให้ข้อมูลทางวิชาการที่เหมาะสม โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์จากการดูแลเด็กมาอย่างยาวนาน ซึ่งหลังจากนี้ก็อยู่ที่ สนช.ว่าจะพิจารณาอย่างไรต่อไป" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว