'กรมศุลกากร' เปิดโครงการด้านความมั่นคงในเอเชีย/แปซิฟิค

'กรมศุลกากร' เปิดโครงการด้านความมั่นคงในเอเชีย/แปซิฟิค

"องค์การศุลกากร" โลกร่วมกับ "กรมศุลกากร" เปิดตัวโครงการด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย/แปซิฟิค ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น

วันนี้ (23 มี.ค.) เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ นายคุนิโอะ มิคุริยะ เลขาธิการองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) และนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการด้านความมั่นคงขององค์การศุลกากรโลก ภายใต้เงินทุนสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น (Security Project Fund Japan: SPF) โดยมี นายคุนิโอะ มิคุริยะ เลขาธิการองค์การศุลกากรโลก และนายวีระ อุไรรัตน์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน นายชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นผู้กล่าวปาฐกถา

นายคุนิโอะ มิคุริยะ เลขาธิการองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization:WCO) กล่าวว่า โครงการด้านความมั่นคงขององค์การศุลกากรโลกเกิดจากการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ณ Ise-Shima ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26-27 พ.ค. 2559 ซึ่งหนึ่งในหัวข้อหลักของการประชุม คือ การปราบปรามการก่อการร้ายและลัทธินิยมความรุนแรง เนื่องจากประชาคมโลกได้ละเลยการก่อการร้ายในพื้นที่ที่มีการเข้าออกอย่างเสรีและมีระบบรักษาความปลอดภัยต่ำ ผู้ก่อการร้ายยังอาศัยช่องทางจากสื่อสังคมออนไลน์ในการวางแผนปฏิบัติการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมือง ที่ประชุมจึงเห็นควรออกมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน จึงมีมติรับและปฏิบัติตาม G7 Action Plan on Countering Terrorism and Violent Extremism ที่มุ่งเน้นความช่วยเหลือศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชีย/แปซิฟิค

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้มาตรการที่จำเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การปราบปรามการก่อการร้าย (counter terrorism measures) การสนับสนุนเสียงส่วนน้อยและการยอมรับในสังคม (empowering alternative voices and tolerance in society) และการพัฒนาขีดความสามารถ (capacity building) ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยแก่ห่วงโซ่โลจิสติกส์และต่อสู้กับการก่อการร้ายดังกล่าว โดยองค์การศุลกากรโลกได้พัฒนาขอบข่ายงานผ่านโครงการด้านความมั่นคง WCO Security Programme ด้วยการช่วยเหลือทางเทคนิค ที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาขีดความสามารถด้านต่างๆ ได้แก่

• การใช้โครงการ Program Global Shield (PGS) ขององค์การศุลกากรโลก ในฐานะเครื่องมือที่สกัดกั้นองค์การอาชญากรรมไม่ให้เข้าถึงระเบิดแสวงเครื่อง และป้องกันการลักลอบหลีกเลี่ยงขนส่งเคมีภัณฑ์และสารประกอบอื่น ๆ เพื่อนำไปผลิตระเบิดแสวงเครื่อง


• การใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้โดยสารล่วงหน้า (Advance Passenger Information :API) และระบบข้อมูลชื่อผู้โดยสาร (Passenger Name Records: PNR) ในการประเมินความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ก่อการร้ายต่างชาติและกลุ่มอื่น ๆ ทะลักเข้ามาในประเทศ


• มาตรการที่ป้องกันให้ผู้ก่อการร้ายเข้าถึงอาวุธขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบา (Small arms and light weapons (SALW))

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นจำนวน 7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง กับบทบาทหน้าที่การควบคุมชายแดนในฐานะเป็นหน่วยแนวหน้า (First line) บริเวณชายแดนในการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย ดังนั้น จึงได้เน้นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรโดยกำชับให้เข้มงวดในการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินตรา บุคคล และการคมนาคมข้ามแดนทุกรูปแบบ ซึ่งประเทศไทยได้รับการพิจารณาจาก WCO ให้เป็นสถานที่เปิดตัวโครงการฯเนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมมากที่สุด ในกลุ่มประเทศอาเซียน

สำหรับในวันนี้กรมศุลกากรได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานศุลกากรประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มากกว่า 20 ประเทศ ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ อาทิ องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) สำนักงานกิจการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (UNODA) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) รวมทั้งหน่วยงานราชการไทยและภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน เพื่อรับทราบรายละเอียดของโครงการและตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของกรมศุลกากรกับงานด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล โดยกรมศุลกากรจะแสวงหาและสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทั้งระดับหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานควบคุมชายแดนของไทย ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อใช้มาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติทุกรูปแบบ และการก่อการร้าย