3โจทย์ ท้าทาย ‘พีทูพี เลนดิ้ง’

3โจทย์ ท้าทาย ‘พีทูพี เลนดิ้ง’

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ "3โจทย์" ท้าทาย พีทูพี เลนดิ้ง

การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือ P2P Lending ถือเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) หนึ่งที่น่าสนใจ และอาจเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากเวลานี้ P2P Lending อยู่ในช่วงทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

กลไกของ P2P Lending คือ การจับคู่ผู้ที่ต้องการเงินกู้กับผู้ให้กู้ (นักลงทุน) ผ่านตัวกลาง ในที่นี้ คือ ผู้ให้บริการ (P2P Lending Platform) ที่ตั้งอยู่บนระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งนักลงทุนจะเป็นผู้กำหนดขนาดของเงินลงทุนที่จะกระจายไปสู่ผู้กู้ที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้แบบใดก็ได้ตามที่นักลงทุนต้องการ

เนื่องจากP2P Lending Platform มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ ส่งผลให้มีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินทั่วไป 3 ด้าน คือ 1. เข้าถึงง่าย 2. ประหยัดต้นทุน 3. ต้นทุนในการแข่งขันที่ต่ำ ทำให้ P2P Lending เป็นช่องทางการระดมทุนที่นิยมมากในต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปรียบเทียบความแตกต่างของการให้บริการ P2P Lending ที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ กับช่องทางการขอสินเชื่อในรูปแบบเดิมผ่านธนาคารพาณิชย์ไว้ดังนี้

แม้ว่าการประหยัดต้นทุนในการประกอบการ ความสามารถทางการตลาดและการเข้าถึงลูกค้า จะเป็นจุดสำคัญที่เสริมสร้างให้ P2P Lending Platform มีข้อได้เปรียบเหนือตัวกลางทางการเงินในปัจจุบัน แต่ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะยืนยันความสามารถในการประกอบการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเกิดขึ้นของ P2P Lending Platform ในประเทศไทย ยังต้องการองค์ประกอบเพิ่มเติมอย่างน้อย 3 ประการ เพื่อให้เพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นตัวกลางทางการเงิน คือ 1. การทดสอบความแข็งแกร่งของ Platform 2. การประเมินความเสี่ยงที่มีสิทธิภาพ และ 3. การติดตามทวงหนี้และการฟ้องร้องตามกฎหมาย

ถึงแม้ว่า P2P Lending Platform จะเป็นช่องทางการระดมเงินทุนที่นิยมมากในต่างประเทศ แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมี Platform รายใดที่ผ่านการทดสอบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและในปัจจุบันเอง ก็ยังไม่มีนักลงทุนหรือผู้ประกอบการรายใด สามารถตอบได้ว่า ในยามที่ระบบเศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ Platform จะยังสามารถเป็นแหล่งพึ่งพิงทางการเงินต่อไปได้

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ก่อนที่ Platform จะได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจริง น่าจะต้องผ่านการทดสอบและพัฒนาให้ Platform มีระบบที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือและแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้มั่นใจว่า สามารถรองรับช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจเผชิญกับความผันผวน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเนื่องถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ในวงกว้าง ทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้

การประเมินความเสี่ยง ยังเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการปล่อยสินเชื่อ ปัญหาพื้นฐานในการให้สินเชื่อที่ตัวกลางทางการเงินต้องเผชิญ คือ “การตัดสินใจว่าผู้กู้สมควรได้รับอนุมัติเงินกู้หรือไม่” การคัดกรองผู้กู้ที่มีคุณภาพจะส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการประกอบการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หัวใจสำคัญของ P2P Lending Platform ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ คงจะหนีไม่พ้นประสิทธิภาพของการประเมิน และการปิดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นการลดโอกาสของการผิดนัดชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนใน Platform

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า Platform และหน่วยงานของทางการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับและดูแลสามารถร่วมกันพัฒนาคุณภาพขององค์ประกอบพื้นฐานผ่านการสร้างข้อกำหนดต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างคุณภาพและความแข็งแกร่งให้กับกลไก P2P Lending ได้ นั่นคือ 1. กำหนดเกณฑ์สำรองทุนประกันเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ Platform และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน 2. การสร้างเงื่อนไขสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ และ 3. การจัดจ้างบริษัทในการติดตามทวงหนี้เพื่อปิดความเสี่ยงในกระบวนการกู้ยืม

โดยสรุปแล้ว ประเด็นที่สำคัญของการเริ่มดำเนินธุรกิจ P2P Lending Platform ในประเทศไทย จะอยู่ที่เสถียรภาพของตัวกลาง ซึ่งก็คือ การวางระบบและการประเมินความเสี่ยงสำหรับการปล่อยกู้ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ตัว Platform เอง จะต้องสามารถตอบโจทย์และรองรับเงื่อนไขความต้องการทั้งจากฝั่งผู้กู้และนักลงทุน ตลอดจนสามารถปิดความเสี่ยงตั้งแต่กระบวนการเริ่มตรวจสอบพิจารณาเครดิตของผู้กู้ ไปจนถึงกระบวนการดำเนินคดีหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้

ขณะที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลและกำกับเสถียรภาพของระบบการเงิน จำต้องสร้างบททดสอบอย่างละเอียดต่อ P2P Lending Platform เพื่อหามาตรการและข้อกำหนดที่สำคัญ สำหรับควบคุมปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประเทศมากขึ้น