อี๋แรงมาก!!! "พยาธิขั้วโลก" หน้าตาอย่างนี้

อี๋แรงมาก!!! "พยาธิขั้วโลก" หน้าตาอย่างนี้

ทีมนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยภาพพยาธิขั้วโลกใต้ครั้งแรกในประเทศไทย พบความเปลี่ยนแปลงของสัตว์ในขั้วโลกใต้ บ่งบอกว่าอุณหภูมิในทวีปแอนตาร์กติกาสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติในระยะยาว

วันนี้ ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีงานเสวนา "จากขั้วโลกใต้ถึงไทย เปิดข้อมูลการค้นพบใหม่โดยนักวิจัยคณะวิทย์ฯ จุฬาฯ" โดยนักวิจัยโครงการขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและเดินทางกลับถึงไทยเมื่อไม่นานมานี้

นักวิชาการเผยผลการวิจัย พบความเปลี่ยนแปลงของสัตว์ในขั้วโลกใต้ บ่งบอกว่าอุณหภูมิในทวีปแอนตาร์กติกาสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติในระยะยาว

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลว่า ทีมวิจัย เริ่มศึกษาความเปลี่ยนแปลงของขั้วโลกใต้นักวิทยาศาสตร์จีนและญี่ปุ่น ตั้งแต่ 2547 เป็นเวลาถึง 13 ปีแล้ว โดยล่าสุดเมื่อปี 2559 มีการพบพยาธิในปลาหินแอนตาร์กติก ประมาณ 80% ของประชากรปลาทั้งหมด โดยเฉลี่ย จะมีพยาธิ 6-7 ตัว เกาะอยู่บนผิวหนังของปลา

อีกทั้งยังพบพยาธิและไข่พยาธิ หลายชนิดในกระเพาะด้วย จากการเก็บข้อมูล มีอัตราการเพิ่มของพยาธิมากขึ้นปีละ 15% บ่งบอกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของขั่วโลกสูงขึ้น ทำให้ปรสิตสามารถเจริญเติบโตได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลถึงชนิดพยาธิ เนื่องจากไม่ค่อยมีการศึกษา

พยาธิขั้วโลกใต้

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจประชากรแมวน้ำและเพนกวิน พบว่าสัตว์ทั้งสองชนิด มีอัตราการรอดชีวิตน้อยกว่า 10% ต่างจากเมื่อสิบปีก่อนที่มีอัตรารอดชีวิต 50 %

เนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้ปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทั้งสองชนิดลดลง และทำให้พ่อแม่ของมันไม่สามารถหาอาหารมาเลี้ยงลูกได้

รศ.ดร.สุชนา ยังบอกว่า ถึงแม้ขั้วโลกใต้จะห่างไกลจากประเทศไทย แต่จะเห็นได้ว่าการกระทำของมนุษย์ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์อาศัย อย่างขั้วโลกใต้ นั่นหมายความว่า ผลกระทบนี้ก็จะย้อนกลับมาสู่มนุษย์ได้เช่นเดียวกัน เช่น การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกทำให้น้ำท่วม การเกิดขึ้นของเชื้อโรคสายพันธุ์ต่างๆ หรือแม้แต่ ภาวะขาดแคลนอาหาร จึงอยากให้คนไทยรับทราบข้อมูลและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม