วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (22 มี.ค.60)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (22 มี.ค.60)

ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าโอเปคจะปรับลดกำลังการผลิตก็ตาม

- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่อง หลังตลาดกังวลภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 มี.ค. 60 จะปรับเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกว่า 10 สัปดาห์ในรอบ 11 สัปดาห์ที่ผ่านมา
 
- นอกจากนี้ ผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ เพิ่มการขุดเจาะขี้นต่อเนื่องมาสู่ระดับ 631 แท่นซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 58 รวมถึงโครงการที่มีการลงทุนในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงที่จะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดย Goldman Sach ประเมินโดยภาพรวมในปี 60 - 62 จะมีอุปทานใหม่เปิดดำเนินการรวมทั้งสิ้นมากกว่า 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 
+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในกลุ่มโอเปคและนอกโอเปคที่ตลาดคาดว่ามีแนวโน้มจะขยายระยะเวลาของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตไปจากกำหนดการสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 60 อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเปคจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกกลุ่มโอเปคด้วยเช่นกัน

- ภายหลังจากตลาดปิดการซื้อขาย สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 มี.ค. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันเบนซินที่ตึงตัวมากขึ้นในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงกดดันจากการนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนีเซียที่ปรับลดลงในเดือน เม.ย.

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น


ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 


ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- จับตาการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 25–26 มี.ค. ว่ากลุ่มโอเปคจะมีมาตรการในการควบคุมการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ โดยล่าสุด การประชุมของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 17 มี.ค. รายงานว่า กลุ่มโอเปคปรับลดกำลังการผลิตในเดือนก.พ. ได้ร้อยละ 106 ซึ่งมากกว่าเดือน ม.ค. ที่ปรับลดลงได้ร้อยละ 93 เนื่องจากซาอุดิอาระเบียคงกำลังการผลิตในระดับที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันและกำลังคาดผลิตคาดจะปรับลดลงต่อเนื่องในเดือน มี.ค. ภายหลังจากอิรักและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตน้ำมันดิบ

- การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียคาดจะปรับตัวลดลงราว 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ในระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน ภายหลังจากเหตุความไม่สงบภายในประเทศในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบจากท่าเรือ Es Sider และ Ras Lanuf ปรับลดลง แม้ว่าล่าสุดกลุ่ม Libyan National Army สามารถควบคุมพื้นที่ดังกล่าวได้แล้วแต่ความตึงเครียดปรับเพิ่มมากขึ้นหลังข้อตกลงในการรวมบริษัทน้ำมันแห่งชาติสิ้นสุดลง

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาสูงกว่าระดับ 9.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 10 มี.ค. 60 ปรับลดลงเพียง 0.2 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับ 528.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านบาร์เรล

------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

         โทร.02-797-2999