ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมร่วงเป็นเดือนที่2

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมร่วงเป็นเดือนที่2

"ส.อ.ท." เผย ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. อยู่ที่ 86.2 จากระดับ 87.2 ในเดือน ม.ค. ชี้ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ 86.2 ปรับตัวลดลงจาก 87.2 ในเดือนม.ค. โดยดัชนีเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อ หลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี 59 ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาค ส่วนผู้ประกอบการ SME กังวลต่อปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ ภาวะการแข่งขันและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เห็นว่าการส่งออกของไทยปี 60 มีทิศทางการขยายตัวดี จากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ เครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 100.4 ในเดือนม.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

ด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในเดือนก.พ. พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ คือ รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน โดยเปิดด่านเพิ่มและปรับแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน รวมถึงสนับสนุนการขยายฐานส่งออกสินค้า SME และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศและเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้า และมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี