ทะสึโอะ โดโกะ’ เปิดแผน“โตชิบา”รุกเอเชีย

ทะสึโอะ โดโกะ’ เปิดแผน“โตชิบา”รุกเอเชีย

แม้จุดเริ่มต้นของแบรนด์โตชิบาคือเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่กลุ่มธุรกิจทำรายได้สูงคือ ธุรกิจสาธารณูปโภค พลังงาน และธุรกิจวางระบบจัดเก็บข้อมูล โอกาสรุกเอเชีย โดย “ทะสึโอะ โดโกะ” แม่ทัพขับเคลื่อน

คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับโตชิบา ในฐานะแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ที่อยู่คู่ประเทศไทยมากว่า 45 ปี 

ทว่า ในปัจจุบัน โตชิบา คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ในญี่ปุ่น ได้ขายธุรกิจในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้กับบริษัทมิเดีย กรุ๊ป ในจีน ซึ่งเข้ามาถือหุ้น ในโตชิบา ไลฟ์สไตล์ โปรดักท์ส แอนด์ เซอร์วิส คอมพานี บริษัทลูกของ โตชิบา คอร์ปอเรชั่น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโตชิบาในไทยไม่ได้จำกัดตัวเองเป็นแค่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับกลุ่มผู้บริโภค (BtoC) แต่ยังขยายไปพัฒนาธุรกิจให้กับกลุ่มธุรกิจ (BtoB) ในหลากหลายธุรกิจ 

นั่นทำให้ ทะสึโอะ โดโกะ” ผู้แทนองค์กรประจำภูมิภาคเอเชีย โตชิบา คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการ โตชิบา เอเชีย แปซิฟิค พีทีอี แอลทีดี ต้องเดินทางมาบอกเล่าเรื่องราวธุรกิจ พร้อมไปกับเชื่อมธุรกิจภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย ให้เข้ากับธุรกิจอื่นๆของโตชิบา โดยเฉพาะใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจสาธารณูปโภค และธุรกิจวางระบบจัดเก็บข้อมูล

โดยรวมทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% จากยอดขายปี 2559 มูลค่า 5.6 ล้านล้านเยน หรือ ราว 50,000 ล้านดอลลาร์

ที่สำคัญ เอเชีย” เป็นภูมิภาคหลักที่โตชิบาวางเป้าหมายจะบุกตลาดใน 3 กลุ่มธุรกิจดังกล่าว จากการมองเห็นโอกาส เนื่องจากภูมิภาคเอเชียกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ขยับไปสู่เทคโนโลยีใหม่ กลายเป็นตลาดแห่งโอกาสของโตชิบาในอนาคต

แม้ในปัจจุบันยอดขายโตชิบาในเอเชีย จะมีสัดส่วนยอดขายเป็นอันดับ 1 (27%) เมื่อเทียบกับยอดขายในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ มีสัดส่วนยอดขาย 18% และยุโรปสัดส่วนยอดขาย 10% เป็นต้น แต่มองว่า ตลาดในเอเชียมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในส่วนของตลาดอาเซียน ธุรกิจพลังงาน” ถือเป็นตลาดที่โตชิบาเข้าไปดำเนินธุรกิจมากที่สุด ประเมินจากความต้องการพลังงาน ที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยที่ผ่านมาโตชิบาได้เข้าไปพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานแล้วในหลายประเทศ อาทิ ลาว กับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่โครงการน้ำงึม2 และน้ำอู รวมถึงในไทยกับการวางระบบก่อสร้างโรงไฟฟ้าราว 8 แห่ง 

ส่วนเรื่องการลงทุน"ธุรกิจสาธาณูปโภค" ด้านโครงสร้างพื้นฐานในไทย ได้ร่วมทุนกับบริษัทมารุเบนิ รับสัมปทานออกแบบจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบสัญญาณ การติดต่อสื่อสาร และการจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ รวมถึงระบบประตูกันชนในรถไฟฟ้าสายสีม่วง รวมถึงการร่วมทุนกับ อีสต์ เจแปน เรลเวย์ จำกัด ดูแลระบบซ่อมบำรุง เป็นเวลา 10 ปี

“3 กลุ่มธุรกิจนี้เน้นไปที่การดูแลลูกค้ากลุ่มธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งเป็นการนำเสนอการแก้ไขปัญหาธุรกิจอย่างครบวงจร โดยที่จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการดูแลให้บริการในระยะยาว”

ในส่วนของธุรกิจ "จัดเก็บข้อมูลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันโตชิบามี 2 บริษัทที่ตั้งในไทยคือ โตชิบา แคริเออร์ (ไทยแลนด์) ผลิตเครื่องปรับอากาศส่งออกไปกว่า 52 ประเทศทั่วโลก อาทิ เอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น ยุโรป ตะวันออกกลางและอเมริกา

รวมถึงโรงงานโตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น สมาร์ทโฟน ยานยนต์และประหยัดพลังงาน ที่จะพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีชั้นสูง

....................................

หนุ่มใหญ่แดนปลาดิบ 

หัวใจโกลบอล

ทะสึโอะ โดโกะ” ผู้แทนองค์กรประจำภูมิภาคเอเชีย โตชิบา คอร์ปอเรชั่น หนุ่มแดนปลาดิบที่มีหัวใจโกลบอล เรียนจบจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในสหรัฐ ทำงานกับโตชิบามายาวนานกว่า 35 ปี เริ่มต้นจากสายด้านการพัฒนาธุรกิจด้านสาธารณูปโภค และดีลกับกลุ่มธุรกิจ (BtoB)มาโดยตลอด 

เจ้าตัวระบุว่า หัวใจการทำงาน อยู่ที่การแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยี รักษาความสัมพันธ์กับคู่ค้า และวางแผนเพื่ออนาคตให้กับลูกค้า เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ก็ต้องคอยอัพเกรดตลอดเวลา

ส่วนสาเหตุที่เขาเริ่มต้นทำงานที่โตชิบามายาวนาน ไม่เคยย้ายงาน มาจากอิทธิพลของสองผู้ก่อตั้งโตชิบา คือ ฮิซาชิเกะ ทานากะ และ อิชิสุเกะ ฟูจิโอกะ จากความคิดเริ่มต้นธุรกิจที่ปรารถนาแก้ไขปัญหาความยุ่งยากให้คนด้วยเทคโนโลยี เป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำงานจนเกือบเกษียณในบริษัทแห่งนี้

โตชิบาก่อตั้งในปี 2418  ปัจจุบันผลิตอุปกรณ์ล้ำทันสมัยให้กับชีวิตผู้คนมากมาย สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก คือ “โรงงานผลิตเครื่องโทรเลข” และ เครื่องคัดแยกไปรษณีย์” เครื่องแรกของโลก

โดโกะ เล่าว่ากว่าจะได้มาซึ่งนวัตกรรม และเทคโนโลยีต้องลงทุนกับศูนย์วิจัยและพัฒนา(R&D) ซึ่งเป็นหัวใจของการคิดค้นผลงานสิ่งประดิษฐ์ล้ำๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งปีนี้โตชิบาลงทุนถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อครองความเป็นเจ้าเทคโนโลยีและค้นหาสิ่งใหม่ๆให้กับโลก

สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ต้นทุนของญี่ปุ่นสูงกว่าทั่วโลก ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นวางแผนกระจายกำลังการผลิต และพัฒนาศูนย์R&Dกระจายไปในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม และอินเดีย เพื่อลดต้นทุนทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน