22มีนาคม'วันน้ำโลก'

22มีนาคม'วันน้ำโลก'

"ทุกหยดมีค่า ช่วยกันใช้อย่างประหยัด" 22 มีนาคม "วันน้ำโลก"

แม้ว่าพื้นที่ 2 ใน 3 ของโลกจะเป็นน้ำ แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มที่พบได้ในทะเลและมหาสมุทร คิดเป็นร้อยละ 97.5 ส่วนอีกร้อยละ 2.5 เป็นน้ำจืด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ รวมไปถึงน้ำใต้ดินที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ด้วย แหล่งน้ำจืดที่นำมาดื่มกินและนำมาใช้ประโยชน์ จึงได้มาจากทะเลสาป อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ และสำธาร ซึ่งมีจำนวนเพียงร้อยละ 0.26 ของน้ำจืดที่มีอยู่ทั้งหมด และน้ำจืดในปริมาณดังกล่าว ยังมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในสภาพปนเปื้อนและมีสารพิษ ต้องทำการบำบัดก่อนนำมาใช้อีกด้วย ในปัจจุบัน มีประชาชนเกือบ 1,400 ล้านคน ทั่วโลก ที่ขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับบริโภค


จากการที่น้ำจืดของโลกขาดแคลนมากขึ้น ในปี พ.ศ.2535 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำของโลก” หรือ “World Day for Water” โดยเริ่มต้นในปี 2536 เป็นปีแรก และชักชวนให้ประเทศต่างรับเป็นวันสิ่งแวดล้อมของชาติ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ช่วยกันดูแล บำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต ตลอดจนดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสหประชาชาติปี 2535 ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า Agenda 21

องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดนโยบายการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน 5 ประการ ได้แก่
1. การจัดการให้พื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่แตกต่างกันได้มีโอกาสใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน
2. การอนุรักษ์แหล่งน้ำ โดยพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อแหล่งน้ำ
3. การควบคุมดูแลการใช้น้ำจากแหล่งต้นน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำของแหล่งปลายน้ำ
4. การจัดการกับปัจจัยอื่นๆ โดยดูแลปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำ
5. การจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม

ข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร