หุ้น 'ตระกูลสิริวัฒนภักดี' ร่วง

หุ้น 'ตระกูลสิริวัฒนภักดี' ร่วง

หุ้นตระกูลสิริวัฒนภักดี "ร่วง" มาร์เก็ตแคป "วูบ4พันล้าน"

การที่ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ประธานกรรมการ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ติดอันดับหนึ่งในเศรษฐีที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดในโลก ปี2560 ซึ่งจัดโดยนิตยสารฟอร์บส์ และจะเห็นว่าช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี ได้เข้ามามีบทบาทในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยการเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และส่วนใหญ่จะเน้นการรับซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้เฉพาะเจาะจง(พีพี) ส่วนสัดส่วนการถือครองหุ้นนั้นมากกว่า 40%

ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์พบว่า การถือครองหุ้นของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี มีทั้งถือทางตรงและถือผ่านบริษัทในเครือ มีจำนวน 10 บริษัท โดยมีการถือครองหุ้นตั้งแต่ 40%ขึ้นไปประกอบด้วยบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) OISHI บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)BJC บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน)UV บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)SSC บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)GOLD บริษัท อาหารสยาม จำกัด(มหาชน) SFP บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) INSURE บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) BIGC บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน)TICON และ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)AMARIN

ทั้ง 10 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)ล่าสุด ณ 20 มี.ค.2560 อยู่ที่ 4.59 แสนล้านบาท หากนำมาเปรียบเทียบกับช่วงสิ้นปี 2559 พบว่า มาร์เก็ตแคปลดลง 4.3 พันล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 4.63แสนล้านบาท

ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.34%มีมาร์เก็ตแคปรวมอยู่ที่ 15.33 ล้านล้านบาท สวนทางกับหุ้นส่วนใหญ่ของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดีนั้น ราคาจะปรับลดลงมากกว่า แต่หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ หุ้นยูนิเวนเจอร์เพิ่มขึ้น12.80%หุ้นโกลด์เพิ่มขึ้น 5.38%

นอกจากนี้หุ้นที่กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดีถือครองส่วนใหญ่จะมีจำนวนหุ้นหมุนเวียน(ฟรีโฟลท)ในตลาดหุ้นไทยต่ำ หรืออยู่ใกล้เกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดระดับ 15% ทำให้นักลงทุนที่ต้องการซื้อหรือขายหุ้นทำได้ลำบาก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดีนั้น ในปีนี้นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะเป็นกลุ่มที่มีอัตราเติบโตของกำไรต่อหุ้นดีสุดในตลาดหุ้นไทย

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า EPS Growth ของกลุ่มค้าปลีกในปีนี้จะเติบโตราว 24% จากปี 2559 ซึ่งนับว่าเติบโตมากสุดในตลาดเทียบกับ EPS Growth ตลาดเพียง 7% โดยมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน (ธ.ค.2559-ก.พ. 2560) โดย CCI ในเดือน ก.พ. 2560 ขยับขึ้นสูงกว่า ก.พ. 2559และหากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง CCI กับ ยอดขายของบริษัทในกลุ่มค้าปลีก พบว่าจะมีช่วงเวลาที่แตกต่างกันราว 3 เดือนกล่าวคือ CCI ขยับขึ้นไป 2-4 เดือน จึงเห็นยอดขายขยับขึ้นตาม

ด้วยเหตุนี้จึงคาดว่ายอดขายจากสาขาเดิม หรือ SSSG จะเห็นผลชัดเจนในช่วงปลายไตรมาส 2ปีนี้ และน่าจะโดดเด่นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แต่การปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำไรของกลุ่มน่าจะมีบทบาทในการสร้างการเจริญเติบโตต่อกำไร

สำหรับเบอร์ลี่ฯ หลังควบรวมกับบิ๊กซี โดยถือหุ้น 98.74% เน้นประสิทธิภาพการทำกำไรมาจากบิ๊กซี ด้วยการเพิ่มสินค้า house brand และยกเลิกสินค้าที่มี margin ต่ำ เช่น สุราและบุหรี่ ในรูปแบบค้าส่ง นอกเหนือจากค่าใช้ดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง หลังนำเงินเพิ่มทุนไปชำระคืนหนี้ในปีที่ผ่านมาทำให้ EPS Growth ปีนี้ 25% แต่เริ่มชะลอตัวลงเหลือ 11% ในปี 2561