'เกาะติด' ประชุมผู้ถือหุ้น 50 บจ.

'เกาะติด' ประชุมผู้ถือหุ้น 50 บจ.

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุน "เพิ่มเกณฑ์" ประเมินรับกฎหมายใหม่ "สมาคมบลจ."พร้อมเข้าร่วมตรวจสอบพฤติกรรม

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จับตาการประชุมผู้ถือหุ้น 50 บจ.มีปัญหาไม่ส่งงบการเงิน - ถูกพักการซื้อขาย รับเพิ่มเกณฑ์การประเมินเข้มข้นรับพรบ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ พร้อมโหวตไม่รับรอง 4 เรื่องหลัก ด้านสมาคมบลจ.เข้าร่วมติดตามประเมินคุณภาพซีจีของบจ.

นางสาวสิริพร สงบธรรม เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เปิดเผยว่า ในการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น(AGM)ประจำปี 2560 นั้น สมาคมจะเกาะติดการประชุมของบริษัทจดทะเบียนที่ต้องจับตาประมาณ 50 บริษัท โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาต่อเนื่องใน 3 ด้าน อาจจะกระทบกับผู้ถือหุ้นโดยรวม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

“บริษัทที่จะต้องติดตามเป็นพิเศษในการประชุมครั้งนี้ มีอยู่ประมาณ 50 แห่ง ซึ่งจะมีปัญหาใน 3 ด้าน คือ 1 บริษัทที่การรายงานผลการดำเนินงานประจำปีไม่ทัน 2 บริษัทที่ถูกห้ามทำการซื้อขายและ 3 บริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง”

ในการประชุมนั้น สมาคมจะส่งอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ไปร่วมการประชุม  มีการประเมินใน 3 ด้าน คือ 1 การรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทมีความครบถ้วนหรือไม่ 2 ที่มาของคณะกรรมการอิสระเป็นอย่างไร และ 3  บริษัทได้เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) หรือไม่ ซึ่งบริษัทจะมีการประเมินผลการประชุม และส่งไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) และคณะกรรมการประเมินซีจี ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึง ธนาคารโลก ในการให้คะแนนธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนไทย 

รายละเอียดแบบฟอร์มในการประเมินครั้งนี้ จะมีการปรับกฎเกณฑ์ให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บหลักทรัพย์ฉบับใหม่ ซึ่งในการเข้ารวมประชุมบริษัทมีอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเข้าร่วมโครงการกว่า 200 คน โดยสมาคมจะเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 600 บริษัท สมาคมมีการถือหุ้นในทุกบริษัทจดทะเบียนอย่างน้อย 1 บริษัท ส่วนหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกบริษัทจะเข้าซื้อหุ้นขั้นต่ำ 1 ล็อต ภายใน 7 วันที่ทำการซื้อขาย 

การประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ทางสมาคมจะมีจุดยืนที่จะลงมติไม่เห็นด้วย ใน 4 เรื่องหลัก คือ 1 จะลงมติ ไม่เห็นด้วย หากมีวาระจร ที่ไม่ปรากฏในหนังสือเชิญประชุมสามัญและวิสามัญ ผู้ถือหุ้น 2 ลงมติ ไม่เห็นด้วย ในวาระกรณีที่ผู้สอบบัญชี ตั้งประเด็น หรือมีข้อสังเกตบางประการ อันอาจเป็นการส่งสัญญาณความไม่โปร่งใส 3 ลงมติไม่เห็นด้วย ในวาระ ที่มีการเพิ่มทุน การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป และ 4 ลงมติ ไม่เห็นด้วย ในวาระการเลือกตั้ง กรรมการอิสระ ที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันเกินกว่า 3 วาระ หรือ 9 ปี 

นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่าการประชุมผู้ถือหุ้นบจ.ในปี2560 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)จะมีตัวแทนเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นหลายแห่ง เพื่อที่จะตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัทที่บลจ.เข้าไปลงทุน ซึ่งสิ่งที่จะให้ความสำคัญจะเป็นเรื่องของหลักธรรมาภิบาล (ซีจี) โดยบลจ.ต้องการจะกำชับและทำให้บจ.ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว

ที่ผ่านมา บลจ.15 แห่ง ได้รวมตัวกันจัดตั้งกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย โดยเตรียมจะจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นทั้งนโยบายที่เป็น active fund และ passive fund หรือ ETF ที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีธรรมาภิบาล ส่งเสริมการทำธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชัน

ที่ประชุมมีข้อสรุปว่าจะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้น โดยใช้รายชื่อที่มีหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่แล้ว และมีเครื่องกรองด่านแรกเป็นการใช้รายชื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านการประเมินด้านธรรมาภิบาลจาก IOD ที่มี CG Rating 3 ดาวขึ้นไป โดยปัจจุบันมี 455 บริษัท มาพิจารณาร่วมกับรายชื่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ได้รับการรับรองจาก CAC (Thai IOD) ซึ่งมีประมาณ 120 บริษัท