คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าปีนี้พีค 30,000 MW

คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าปีนี้พีค 30,000 MW

"โฆษกกระทรวงพลังงาน" คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปีนี้เกิน 30,000 MW พร้อมเตรียมมาตรการรองรับเต็มที่

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนนี้ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 25 มี.ค. – 2 เม.ย. นี้ ที่จะเกิดการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งยาดานา ณ ประเทศเมียนมา ซึ่งถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักในการผลิตไฟฟ้า ที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาสูงถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และถือเป็นช่วง 9 วันอันตราย เนื่องจากมีผลให้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า และภาคขนส่ง หายไปจากระบบมากกว่า 20% ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเต็มที่ โดยเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้าในประเทศให้เพียงพอ เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าตก ดับ และกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในภาพรวม

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานขอให้ความมั่นใจกับประชาชน ในช่วงเวลาดังกล่าว ผนวกกับการใช้ไฟฟ้าหน้าร้อนที่คาดว่าสภาพอากาศจะมีอุณหภูมิร้อนจัด และจะเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีค ที่คาดว่าในปี 2560 นี้ น่าจะเกิดพีคสูงเกิน 30,000 เมกะวัตต์ โดยเบื้องต้น กระทรวงพลังงานได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมความพร้อมในการรองรับการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งยาดานาดังกล่าว โดยให้พิจารณาดำเนินการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ทดแทนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป รวมไปถึงประสานโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศลาว ให้เดินเครื่องเต็มความสามารถ โดยในส่วนความพร้อมของเชื้อเพลิง จะสำรองน้ำมันให้เพียงพอก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซ ซึ่งจะสำรองการใช้น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าราชบุรี การสำรองน้ำมันดีเซล โรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ด้านการเตรียมความพร้อมในส่วนของการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) กระทรวงพลังงานจะรณรงค์ทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันประหยัดไฟฟ้าผ่านมาตรการง่ายๆ เช่น การปิดดวงไฟที่ไม่ใช้ การปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED เป็นต้น รวมทั้งจะมอบหมายให้กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินมาตรการ Demand Response หรือ DR ซึ่งเป็นมาตรการให้ภาคเอกชน ลดการใช้พลังงานลงด้วยความสมัครใจ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชย 3 บาทต่อหน่วย มีเป้าหมายลดใช้ไฟฟ้าพื้นที่กรุงเทพฯ ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสงครามและสมุทรสาคร และมีเป้าหมายลดกำลังผลิตรวม 400 เมกะวัตต์